รีเซต

จริงหรือไม่? กัญชาช่วยบรรเทาอาการลมชักเฉียบพลันได้

จริงหรือไม่? กัญชาช่วยบรรเทาอาการลมชักเฉียบพลันได้
TNN ช่อง16
22 มิถุนายน 2565 ( 15:27 )
109
จริงหรือไม่? กัญชาช่วยบรรเทาอาการลมชักเฉียบพลันได้

วันนี้ ( 22 มิ.ย. 65 )ตามที่มีข้อมูลในสังคมออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องกัญชาช่วยบรรเทาอาการลมชักเฉียบพลันได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีที่มีคำแนะนำด้านสุขภาพว่ากัญชาช่วยบรรเทาอาการลมชักเฉียบพลันได้ ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า พืชกัญชามีสารสำคัญ CBD และ THC ซึ่งมีฤทธิ์การลดชัก แต่ THC มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ในขณะที่ CBD ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในปัจจุบันสามารถนำสาร CBD มารักษาโรคลมชักรักษายากในเด็ก อย่างมีประสิทธิผลแต่ก็มีผลข้างเคียงในประเทศไทยมีการศึกษาการใช้สารสกัดกัญชา CBD สูง ในการรักษาโรคลมชักรักษายากในเด็กพบว่ามีประสิทธิผลและมีผลข้างเคียงเช่นกัน

โดยทั่วไปในผู้ป่วยที่มีอาการชักจะหยุดชักเองภายใน 2 – 3 นาที แต่ถ้าชักนานเกิน 5 นาที จะมีโอกาสชักต่อเนื่องรุนแรงมากขึ้น ในผู้ป่วยที่ชักต่อเนื่องต้องให้ยาเพื่อให้หยุดชัก ได้แก่ diazepam หรือ benzodiazepine ทางเส้นเลือด หรือการสวนทวาร จะทำให้ชักหยุดเร็วขึ้น โดยในวิดีโอแสดงถึงอาการชักของผู้ป่วยเด็กชนิดเกร็งกระตุกทั้งตัว ซึ่งไม่ได้แจ้งว่ามีระยะเวลาชักกี่นาที แต่หลังจากหยดน้ำมันกัญชาแล้วผู้ป่วยหยุดชัก

ข้อสันนิษฐานคือ

  1. 1.ผู้ป่วยอาจหยุดชักเองพอดีเวลากับการหยดยา
  2. 2.การหยดน้ำมันกัญชาทางปากทำให้หยุดชักได้

จากการศึกษาสารสกัดกัญชาจะใช้รักษาโรคลมชักในผู้ป่วยที่รักษาต่อเนื่องเป็นการรักษาระยะยาวโดยค่อยๆ ปรับขนาดยาทีละน้อยเพื่อป้องกันชักซ้ำ ไม่ได้ใช้เพื่อหยุดชักในผู้ป่วยขณะชักระยะเฉียบพลัน (acute seizure) ผู้ป่วยหยุดชักในวิดีโอจึงเป็นข้อสันนิษฐานข้อที่ 1

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02 2026800

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : สารสกัดกัญชาสามารถลดชักได้แต่ใช้ในการรักษาต่อเนื่องระยะยาว ไม่ได้ใช้ในการหยุดชักเฉียบพลัน และขณะผู้ป่วยชักแบบรุนแรง ไม่ควรให้ยาหรือสิ่งใดๆ ทางปากกับผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยไม่รู้ตัวและไม่สามารถกลืนได้ปกติ อาจเกิดการสำลักเข้าปอดทำให้เกิดอันตรายได้ 

ข้อมูลจาก  : ศูนย์ข้อมูลต่อต้านข่าวปลอม 

ภาพจาก :  ศูนย์ข้อมูลต่อต้านข่าวปลอม

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง