รีเซต

คนไทยใช้กัญชา ปีที่แล้วแตะ 11 ล้านคน

คนไทยใช้กัญชา ปีที่แล้วแตะ 11 ล้านคน
TNN ช่อง16
31 พฤษภาคม 2566 ( 16:47 )
96
คนไทยใช้กัญชา ปีที่แล้วแตะ 11 ล้านคน

ไทยมีการปลดล็อก ‘กัญชาเสรี’ มุ่งผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ รวมถึงมีการ “นำกัญชา กัญชงออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ มีผลเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565”

ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชยาเสพติด ระบุว่า ทุกส่วนของกัญชา ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด และสารสกัดกัญชาที่มีสาร THC หรือ CBD ไม่เกินร้อยละ 0.2  ไม่ถือเป็นยาเสพติดเช่นกัน ตรงนี้ทำให้ผู้ที่ครอบครอง ผู้ปลูก ผู้ใช้กัญชาจะไม่ถูกตำรวจจับอีกต่อไป พรรคก้าวไกล ไม่เห็นด้วยกับการถอดกัญชาจากบัญชียาเสพติด ตั้งแต่สมัยเป็นฝ่ายค้าน  มีการคัดค้านเรื่องนี้มาตลอด เมื่อชนะการเลือกตั้งและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกล เดินหน้านำ “เรื่องกัญชา” บรรจุในข้อในบันทึกลงนามข้อตกลงหรือ “MOU ในการจัดตั้งรัฐบาล ข้อ16”  ระบุว่า นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ ผ่านการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยมีกฎหมายควบคุม และรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา


ในเรื่องกัญชาเสรี มีเสียงคัดค้าน และเสียงสนับสนุนหลากหลาย 

หนึ่งในเสียงคัดค้านที่น่าสนใจ คือจาก ดร.สุริยัน บุญแท้ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ ระบุผลกระทบและแนวโน้มจากการปลดล็อคกัญชาออกจากยาเสพติดของประเทศไทยว่า ได้มีการวิจัยถึงกรณีคนไทยใช้กัญชาหลังจากเปิดเสรี โดยเปรียบเทียบในช่วง 3 ปีย้อนหลัง ระหว่างปี 2563-2565 พบว่าหลังเปิดเสรีคนไทยใช้กัญชาเพิ่มขึ้นมากถึง 9 เท่า

ในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากมีกฎหมายออกมาให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ แต่การใช้เพื่อสันทนาการยังผิดกฎหมาย มีคนใช้กัญชาประมาณ “1.15 ล้านคน” หรือมีสัดส่วนร้อยละ 2.5 ของประชากรในกลุ่มอายุ15-65 ปี  โดยเป็นการใช้ทางการแพทย์ประมาณ 4.3 แสนคน คือเกือบร้อยละ 1 ของประชากรในกลุ่มอายุ15-65 ปี

ส่วนในปี 2564 การใช้เพื่อสันทนาการที่ยังผิดกฎหมาย โดยมีคนไทยใช้กัญชา “1.89 ล้านคน” คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.3  ของประชากรในกลุ่มอายุ15-65 ปี   โดยใช้ทางการแพทย์ 2.6 แสนคน สัดส่วนร้อยละ 0.6  ของประชากรในกลุ่มอายุ15-65 ปี  

ในปี 2565  มีการปลดล็อกกัญชาไม่ใช่สารเสพติด พบว่ามีคนไทยใช้เพื่อสันทนาการ  “11 ล้านคน” สัดส่วนเกือบร้อยละ 25  ของประชากรในกลุ่มอายุ15-65 ปี    


แปลว่าคนไทยใน 4 คน จะมี 1คน ที่ใช้กัญชาในรอบปีที่ผ่านมา จำนวนประชากรที่ใช้กัญชาเพิ่มขึ้นมากกว่า 9 เท่าตัว หรือ  900%   แต่ตรงนี้ไม่ใช่ผู้ที่นำช่อดอกกัญชาไปสูบทั้งหมด แต่หมายถึงการทดลองทาน ทดลงชิมกัญชาที่ผสมในอาหาร/เครื่องดื่ม หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งมีจำนวนถึง  8.3  ล้านคน พบความชุกของการใช้ประมาณร้อยละ 18.6 

ส่วนใช้ทางการแพทย์มีจำนวน 5.4 แสนคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.2  ขยับขึ้นมาเล็กน้อย แต่ถ้าดูความชุกเพิ่มแค่ร้อยละ 0.3 น้อยกว่ากลุ่มสันนาการค่อนข้างมาก



ในปีผ่านมาคนไทยเข้าถึงกัญชาได้ง่ายมาก ในห้างสรรพสินค้า ในร้านสะดวกซื้อ ในร้านอาหาร มีจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชา และสามารถโฆษณษาสินค้าได้ด้วย แต่ก็ไม่ได้เหมาะกับทุกคนที่จะไปกิน ไปใช้กัญชา ซึ่งบางร้านบอกว่ามีกัญชาเป็นส่วนผสม ขณะที่บางร้านไม่ได้บอก ถือถือเป็นอันตรายต่อคนที่แพ้ เมื่อทานเข้าไปต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลายคนก็มี แม้ว่าจะไม่ได้เสพส่วนที่เป็นการเสพติด แต่องค์ประกอบกัญชาหลายส่วนก็เป็นอันตราย โดยเฉพาะในเด็ก 


ที่ผ่านมาได้ยินข่าวว่า มีร้านขายอาหารและขนมที่มีส่วนผสมกัญชาบางแห่งตั้งอยู่ใกล้สถานศึกษา บางร้านเปิดโดยไม่ขออนุญาต หรือแอบใส่เข้าไปในอาหาร เพื่อให้คนทานติดใจ ซึ่งในการตรวจสอบเป็นหน้าที่ของกรมการแพทย์แผนไทย ก็ต้องยอมรับว่ากำลังเจ้าหน้าที่อาจไม่เพียงพอ ไม่เหมือนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่มีความพร้อมในการตรวจจับมากกว่า


ดร.สุริยัน ผู้วิจัยเรื่องคนไทยกับกัญชา ระบุว่า เจตนาตั้งต้นของกัญชาเสรี คือ สนับสนุนการใช้ทางการแพทย์ แต่ถ้าดูจากข้อมูลพบว่าผู้ใช้ทางการแพทย์ยังมีน้อย สวนทางกับการใช้เพื่อสันทนาการเพิ่มสูงขึ้นมาก 


ตรงนี้ทำให้เห็นว่า เมื่อมีการเปิดใช้กัญชาเสรี คนต้องการใช้เชิงสันทนาการมากกว่าการแพทย์  สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ มีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ราว 3 แสนคน ที่เข้าถึงและเป็นผู้ใช้กัญชาในรอบปีที่ผ่านมา มีทั้งสูบและบริโภคผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตรงนี้จึงเป็นประเด็นที่ทุกคนห่วงใยว่าเสรีกัญชาทำให้เด็กเยาวชนเข้าถึงง่าย และอาจเกิดผลกระทบตามมามากน้อย เพราะกฎหมายดูแลมีเพียง พ.ร.บ.การสาธารณสุข ที่กำหนดควบคุมการใช้ในที่สาธารณะเท่านั้น แต่ตัวอื่น ๆ ยังไม่มี 


มีเปรียบเทียบมาตรการควบคุมกัญชา ในต่างประเทศ โดย นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิทยาศาสตร์ไทยที่ทำงานใน Canada โดยกล่าวในเสวนาวิชาการ เรื่อง “ผลกระทบจากนโยบายกัญชา บทเรียนจากต่างประเทศและข้อห่วงใยจากประชาชน” จัดสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และ Addiction talk by TSAP เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ว่า หากเปรียบเทียบมาตรการควบคุมกัญชาระหว่างแคนาดา กับประเทศไทย สามารถแยกเป็นข้อว่า 

ในการปลูกในครัวเรือน แคนาดากำหนดให้ปลูก 4 ต้น 


ส่วน ไทย ไม่จำกัด การปลูกเชิงพาณิชย์ แคนาดาขออนุญาตมีรายละเอียดการควบคุม ไทยไม่จำกัด ไม่ต้องขออนุญาต การครอบครอง แคนาดา ไม่เกิน 30 กรัมของกัญชาแห้ง ไม่เกิน 4 ต้นกัญชา ไม่เกิน 1 ต้นกัญชาที่มีดอก ส่วนไทย ไม่ห้ามการขายผลิตภัณฑ์กัญชา แคนาดา ต้องขออนุญาต ห้ามให้เยาวชนเห็นผลิตภัณฑ์กัญชาจึงต้องขายเฉพาะในร้านกัญชาแบบปิดและห้ามเด็กเข้าไปในร้าน 


ส่วนไทย ขออนุญาตเฉพาะการขายดอกกัญชาและยังไม่มีรายละเอียดการควบคุมการขายในร้านและการขายส่วนอื่นของกัญชาทำได้เสรี  100% ไม่ต้องขออนุญาต ไม่มีการควบคุม ขายเครื่องอัตโนมัติได้ การควบคุมอายุผู้ซื้อ แคนาดาควบคุมตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป มีการตรวจบัตรก่อนเข้าร้านจริงจัง ส่วน ไทย ควบคุมตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป การโฆษณา แคนาดาห้ามโฆษณา แม้แต่ในร้านขายยา  ส่วน ไทย ห้ามโฆษณาดอกกัญชาแต่ไม่ห้ามการโฆษณาส่วนอื่นของกัญชา


สำหรับฉลากบนผลิตภัณฑ์ แคนาดา ระบุระดับสาร THC CBD ให้มีฉลากคำเตือน  ส่วน ไทย  ไม่กำหนดการใช้กัญชาในที่สาธารณะ แคนาดา จำกัดการใช้ในที่สาธารณะ ส่วน ไทยห้ามใช้แล้วสร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น เก็บภาษีกัญชา แคนาดา เก็บภาษาผลิตภัณฑ์กัญชา ส่วน ไทยไม่เก็บภาษีใดๆ ตรงนี้ทำให้กัญชาในไทยแพร่เร็วมาก มีประชาเข้าถึงในจำนวนที่เพิ่มขึ้นทันทีที่เปิดเสรี


ด้าน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยอภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ต้องการให้ตัดมาตรา 3 ในร่างกฎหมาย ที่กำหนดให้กัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมาย


หลังจากนั้น “พิธา” ให้สัมภาษณ์ว่า จุดยืนต่อเรื่องกัญชาพรรคก้าวไกลไม่เคยเปลี่ยนแปลง ยังเชื่อว่ากัญชามีทั้งประโยชน์และโทษ ยังเชื่อในศักยภาพของประเทศไทยที่จะเป็นฮับกัญชาทางการแพทย์ของเอเชีย และยังเชื่อในเรื่องกัญชาทางการท่องเที่ยว ภายใต้เงื่อนไขว่าไทยจะสามารถบริหารควบคุมให้เพิ่มประโยชน์และจำกัดโทษของกัญชาแบบค่อยเป็นค่อยไป


แต่ที่ไม่เห็นด้วยคือการปลดล็อกกัญชาอย่างไร้การควบคุม เช่นที่เกิดขึ้นหลังจากกระทรวงสาธารณสุขปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด โดยไม่มีกฎหมายที่กำกับควบคุมได้จริงมารองรับ เพราะการปลดล็อกกัญชาอย่างไร้การควบคุม จะให้โทษมากกว่าประโยชน์ และคนที่ได้ประโยชน์คือผู้ค้าขนาดใหญ่และกลุ่มการเมือง


ข้อเสนอของพรรคก้าวไกล คือให้กัญชายังถือเป็นยาเสพติด สอดคล้องกับอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษของสหประชาชาติ โดยยังสามารถนำกัญชามาใช้ประโยชน์ได้ มีมาตรการกำกับดูแลตามกฎหมายที่บังคับได้จริง เมื่อเป็นเช่นนี้ สังคมโดยรวมจะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากโทษของกัญชา


ขณะเดียวกัน คนที่ต้องการใช้ประโยชน์จากกัญชาก็มีกฎหมายรองรับให้ทำได้ตามสมควร



พิธา มองว่า การปลดกัญชาออกจากยาเสพติดอย่างสิ้นเชิง เจ้าหน้าที่ที่จะบังคับใช้กฎหมายกัญชา ก็จะเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย กับ พ.ร.บ. กัญชา กัญชง  ซึ่ง ไม่ได้มีทรัพยากรมากเพียงพอที่จะบังคับใช้กฎหมายที่กระทบคนวงกว้าง 


แต่หากให้กัญชามีสถานะเป็นยาเสพติด ตำรวจและหน่วยงานอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่มีทรัพยากร มีประสบการณ์ในการบังคับใช้กฎหมาย จะสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายยาเสพติด ไปจัดการกับผู้ที่ใช้กัญชานอกเหนือจากที่กฎหมายฉบับนี้อนุญาตได้


การเอากัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน ทั้งอนุสัญญาปี 1961 ปี 1971 ไปจนถึงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (United Nations Convention on the Rights of the Child: CRC) ซึ่งตามมาตรา 33 ของ CRC ต้องคุ้มครองไม่ให้เด็กเข้าถึงกัญชา


แม้แต่ประเทศแคนาดาที่มีกฎหมายควบคุมแล้ว ก็ยังมีช่องโหว่ และมีความเสี่ยงว่าทาง UN ที่มีการประเมิน CRC ทุก 5 ปี จะประณามแคนาดาในเรื่องนี้


พิธา ระบุว่า หาก กัญชาเป็นยาเสพติด กฎหมายจะไม่มีผลย้อนหลัง สำหรับ “ผู้ที่ปลูกแล้ว มีหน้าร้านแล้ว เก็บสต็อกกัญชาไว้พร้อมขายแล้ว” ถ้าขออนุญาตถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย 


แต่หากการยกเลิกภาวะสุญญากาศของกฎหมาย จะกระทบกับคนที่ทำธุรกิจกัญชาไปแล้วบ้าง “รัฐบาลต้องมีทางออกให้คนเหล่านี้ เช่น การเข้าไปเยียวยาหรือเข้าไปรับซื้อในฐานะกัญชาทางการแพทย์” เพราะถือว่าเป็นผลกระทบจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล


ส่วน "ศิริกัญญา ตันสกุล" รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวกระบวนการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้กัญชากลับไปอยู่ในบัญชีรายชื่อยาเสพติด เป็นการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่พรรคก้าวไกลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า  การนำกัญชากลับมาเป็นยาเสพติดผ่านประกาศกระทรวงสาธารณสุขนั้น ทำให้เจ้าพนักงานยาเสพติด ตำรวจ ป.ป.ส.ทำงานได้อย่างเต็มที่  พรรคก้าวไกลเข้าใจถึงความกังวล และไม่ได้คุ้มครองเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แต่รวมถึงผู้ประกอบการ ผู้ปลูกที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้วางใจและจะพูดคุยกันต่อไป


เรื่องกัญชา เป็นแนวทางของพรรคก้าวไกล ตั้งเป้าต้องดำเนินการหลังเป็นรัฐบาล สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากออกประกาศของสาธารณสุขที่จะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด จำเป็นต้องออกประกาศเพื่อคุ้มครองผู้ประกอบหรือผู้ปลูก ผู้จำหน่ายที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างไม่มีปัญหา


ในระหว่างการคุ้มครองนั้น จะเร่งจัดทำกฎหมายเพื่อควบคุม และออกกฎระเบียบในการใช้กัญชา คือ พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ และยังต้องมีบทเฉพาะกาลเพื่อคุ้มครองความเสียหายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น กรณีมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการควบคุมความเสียหายที่เป็นผลพวงจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ซึ่งสร้างช่องโหว่ทำให้เกิดสถานการณ์แบบนี้ขึ้น จำเป็นต้องเยียวยาทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรมเช่นเดียวกัน


ตรงนี้เท่ากับยืนยันได้ว่า พรรคก้าวไกลเดินหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจัง ส่วนธุรกิจที่มีการขออนุญาตอย่างถูกต้อง จากคำยืนยันทั้งหัวหน้าพรรค และรองหัวหน้าพรรคดูแลงานด้านเศรษฐกิจ ระบุว่าจะดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบในช่วงเปลี่ยนผ่านกฎหมาย หลังจากนั้นต้องติดตามรายละเอียดของการนำออกจากบัญชียาเสพติดว่าจะมีผลต่อร้านที่ขายกัญชาและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกัญชาหรือไม่ และต้องมีการปรับเปลี่ยอย่างไรบ้าง








ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง