นายกฯ ยกเลิกเยือนแม่สอด มอบหมาย "ปานปรีย์-อนุทิน" ลงพื้นที่แทน
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ยกเลิกกำหนดการที่จะเดินทางลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ในวันพรุ่งนี้ (23 เม.ย.) โดยได้มอบหมายให้นายปานปรีย์ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ร่วมเดินทางลงพื้นที่แทน
จากสถานการณ์สู้รบระหว่างรัฐบาลเมียนมากับกลุ่มต่อต้าน ใกล้บริเวณแนวชายแดนไทย-เมียนมา ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก นั้น ประเทศไทยมีจุดยืนที่ชัดเจน 3 ข้อ คือ
1.การสู้รบจะต้องไม่ล้ำเข้ามาในเขตแดนไทย
2. ไทยยังให้การสนับสนุนด้านมนุษยธรรมตามหลักประชาชาติ
และ 3. นายกรัฐมนตรีได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ บริหารสถานการณ์ความไม่สงบเนื่องจากสถานการณ์ในเมียนมา
โดยมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ เป็นประธาน ซึ่งผู้บริหารระดับสูงโดยเฉพาะด้านความมั่นคงร่วมเป็นคณะกรรมการ
สำหรับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนั้น นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้อพยพชาวเมียนมาเดินทางเข้ามายังศูนย์อพยพในประเทศไทยประมาณ 3,000 คน และเดินทางออกไปแล้ว 1,000 กว่าคน ซึ่งทางการไทยยังคงต้องดูแลผู้ที่อพยพเข้า-ออก รายวัน ซึ่งจะเป็นไปตามมาตรฐานของกฎกติกาต่างๆ ที่ใช้สำหรับการดูแลผู้ลี้ภัย ขณะเดียวกันก็มีเจ้าหน้าที่ของ UNHCR ร่วมทำงานด้วยอยู่
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ไทยไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล ขณะที่การดูแลกลุ่มชาติติพันธ์ต่างๆ ก็ยังดูแลตามปกติ โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และต้องให้เป็นไปตามหลักความมั่นคงในประเทศ และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามหลักของสหประชาชาติ พร้อมย้ำว่าในเรื่องของการดูแลเขตแดน จะไม่ให้กองกำลังติดอาวุธเข้ามายังเขตแดนไทย
“จุดยืนสำคัญของประเทศไทย คือ Active promoter of peace and common prosperity โดยหน้าที่ของไทย คือ จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้ยุติข้อขัดแย้ง ในฐานะที่เรามีชายแดนติดกันกว่า 2,500 กิโลเมตร เป็นธรรมดาที่ต่างประเทศคาดหวัง และเชื่อว่าไทยจะสามารถมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ได้ เพื่อให้ความไม่สงบ และความขัดแย้งต่างๆ คลี่คลายอย่างสันติวิธี” เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าว
ส่วนรัฐบาลเมียนมาและกลุ่มต่างๆ มีการส่งสัญญาณว่าต้องการพูดคุยกับทางการไทยหรือไม่นั้น นพ.พรหมมินทร์ กล่าวว่า ไทยยังดำเนินการตามปกติ แต่ไม่มีข้อเรียกร้องในเรื่องนี้ โดยรายละเอียดต่างๆ กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้ดูแล ขณะที่ปัญหาการค้าตามแนวชายแดนทางกระทรวงพาณิชย์ก็จะเข้าไปดูแล และให้คำยืนยันว่ารัฐบาลจะดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดี