รีเซต

เจาะ! หลักการสอบปากคำของตำรวจ มีอะไรบ้าง ที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง

เจาะ! หลักการสอบปากคำของตำรวจ มีอะไรบ้าง ที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง
Ingonn
25 สิงหาคม 2564 ( 17:36 )
1.6K
เจาะ! หลักการสอบปากคำของตำรวจ มีอะไรบ้าง ที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง

จากกระแสการทำร้ายร่างกายระหว่างตำรวจและผู้ต้องหา ที่เราพบเห็นในข่าวอยู่บ่อยครั้ง ทำให้สังคมเกิดคำถามว่า เราต้องใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาเสมอรึเปล่า มันมีหลักการหรือวิธีการสอบปากคำอย่างไรบ้าง ที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรงเป็นทางออก วันนี้ TrueID ได้ไปสืบค้นมาฝากแล้ว

 

 


การสืบสวนกับสอบสวนแตกต่างกัน


การสืบสวน หมายถึง การแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน ซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ปฏิบัติไปตามอำนาจ และหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด(ป.วิ.อาญา มาตรา 2(10) )

 

 

การสอบสวน หมายถึง การรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวมา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ ( ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (11) )

 

 


อาจารย์วัลลี ธรรมโกสิทธิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านจิตวิทยา ในคณะกรรมการราชทัณฑ์ ระบุไว้ว่า การซักถาม พยาน หรือ ผู้ต้องหา สิ่งที่เราต้องการที่ได้จากกการซักถาม คือ ข้อเท็จจริงแห่งคดีที่เกิดขึ้น ซึ่งการซักถามพยานบุคคลมุ่งเน้นเพื่อจะทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ความคิด ของผู้ต้องหา หรือพยาน รวมถึงแรงจูงใจ หรือ วัตถุประสงค์ การซักถามนั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ คือ ตัวเรา และ ตัวเขา ( พยาน หรือ ผู้ต้องหา ) โดยเราจะต้องเข้าใจสภาพของตัวเข้าก่อน แล้วจึงปรับสภาพตัวเราให้เข้ากันได้ 

 

 

 

ดังนั้นผู้ซักถาม หรือผู้ที่สอบปากคำ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การสอบสวนมีประสิทธิภาพ โดยผู้สอบสวนต้องมีหลักจิตวิทยาในการถาม สามารถสังเกตพฤติกรรมผู้ต้องหาได้ สามารถเชื่อมโยง แสดงความเป็นกันเองแก่ผู้ถูกสอบปากคำ มีความรู้ทั่วไป ไหวพริบ บุคลิกภาพดี อีกอย่างที่ขาดไม่ได้คือ มีความซื่อสัตย์ ไม่สัญญากับผู้ถูกซักถามในสิ่งที่ตนเองทำไม่ได้ เพราะหากยอมให้สัญญาในสิ่งที่ทำไม่ได้ ผู้ถูกซักถามอาจเกิดความสงสัยและไม่ไว้ใจในตัวเจ้าหน้าที่

 

 


ก่อนเริ่มซักถาม ต้องทราบข้อมูลประวัติของผู้ถูกซักถามก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าเป็นคนประเภทใด เพื่อเตรียมตัวก่อนซักถามได้ถูกต้องกับบุคลิกภาพของแต่ละคน เนื่องจากการคนร้ายแต่ละประเภทไม่เหมือนกันแต่มีหลักเทคนิคเรื่องนี้ได้เหมือนกัน นอกจากนั้นควรมีห้องส่วนตัว ไม่มีรูปภาพ มีประตูเข้าออกทางเดียว ไม่ควรมีสิ่งของใดอยู่บนโต๊ะ ซึ่งจะช่วยไม่ให้เกิดการเบี่ยงเบนความสนใจเวลาถูกซักถามได้

 

 


เทคนิคในการสอบปากคำ


1.เริ่มต้นการซักถามโดยวิธีการ small talk โดยการถามชื่อ ที่อยู่ การงาน แนะนำตัวหรืออะไรก็ได้ที่ไม่เจาะจงในเรื่องคดี เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างกัน 

 


2.เทคนิคการทวนความ คือ การจับประโยคสุดท้ายของคำพูด แล้วถามกลับไป เป็นการบอกให้รู้ว่าเราฟังอยู่ และเพื่อเปิดประเด็นไปสู่การเล่าเรื่องอื่นๆ ต่อไป

 


3.เทคนิคสะท้อนความรู้สึก วิธีสะท้อนความรู้สึก ก็คือ การถามว่า รู้สึกอย่างนั้นใช่ไหม จับความรู้สึกของคนให้ได้ โดยการสังเกตจากสีหน้า ท่าทาง คำพูด เมื่อคนเรากระจ่างในอารมณ์ของตัวเอง ก็จะกระจ่างในความคิดต่อมา มีสติ เข้าใจปัญหาของตนเองยิ่งขึ้น ดังนั้น เมื่อเราสะท้อนความรู้สึกไป คนนั้นจะเริ่มมีสติ รู้สึกตัว และจะเริ่มรับฟังคนอื่น แต่ควรใช้เทคนิคนี้ในตอนเริ่มแรกของการสนทนา เพื่อลดความผ่อนคลาย

 


4.ให้กำลังใจ ในหลักเชิงจิตวิทยา เป็นการทำให้เขาเข้าใจเรา โดยการหาจุดดีของเขาออกมาให้ได้แล้วชมเชย เป็นการให้กำลังใจเขาเพื่อให้เขาเกิดความรู้สึกร่วมมือ เพื่อให้เขายอมพูดแต่โดยดี อันเนื่องมาจากความเชื่อใจ ไว้ใจ

 


5.เสนอทางเลือก คนที่ไม่กล้ารับสารภาพ เพราะกลัวติดคุก เขาไม่มีทางเลือกอื่นใดเลย เราต้องหาทางเลือกให้เขา ให้มีหลายทางเลือก เช่น สารภาพ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร หรือไม่สารภาพ มีข้อเสียอย่างไร

 


6.เทคนิคการเงียบ เพื่อให้เขาสำรวจความคิดตนเอง ถ้าเขาเงียบไปนาน ๆ เราก็เงียบสักครู่ ถามต่อไปว่าที่คุณเงียบไป คุณคิดอะไรอยู่ ถ้าเขายังเงียบอยู่ อย่าเร่งรัดให้รีบพูดทันที

 


7. ถ้าเจอพยานที่พูดมาก พูดไม่หยุด เล่าเพ้อเจ้อ เราต้องพูดหยุดเขา อาจใช้การสรุปความ หรือการสะท้อนความรู้สึก

 


8.เทคนิคการสรุปความ หากผู้ถูกซักถามยังพูดไม่หยุดให้สรุปความตั้งแต่ต้น แล้วถามด้วยการพูดสะท้อนความรู้สึกเขา เพื่อตรวจสอบว่าเรากับเขาพูดเข้าใจตรงกันหรือไม่ และควรสรุปประเด็นความเป็นช่วง ๆ เพื่อไม่ให้เขาพูดจ้อ ไร้สาระตั้งแต่ต้นจนจบ

 

 


นี่เป็นเพียงเทคนิคเบื้องต้นในการสอบถามผู้ต้องหา พยานในคดีต่างๆ โดยใช้หลักการสืบสวนสอบสวน โดยการสอบถามอาจใช้เวลานาน เมื่อบันทึกคำให้การเสร็จเรียบร้อยแล้วต้องอ่านให้ผู้ให้ถ้อยคำฟังอีกครั้งหนึ่งและบันทึกว่า "อ่านให้ฟังแล้วรับว่าถูกต้อง จึงลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน"การสอบสวนเพิ่มเติมทุกครั้งต้องอ่านคำให้การเดิมให้ผู้ให้ถ้อยคำฟังก่อนทุกครั้ง

 

 

ข้อมูลจาก ประสบการณ์การ สืบสวนสอบสวน โดย พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผู้ตรวจการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , suebsuankhunthep

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง