รีเซต

เลือกตั้ง 2566 "ไอติม พริษฐ์" ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง ส.ว. ยก 6 เหตุผลหนุนนายกฯ-รัฐบาล

เลือกตั้ง 2566  "ไอติม พริษฐ์" ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง ส.ว. ยก 6 เหตุผลหนุนนายกฯ-รัฐบาล
TNN ช่อง16
17 พฤษภาคม 2566 ( 09:56 )
249
เลือกตั้ง 2566  "ไอติม พริษฐ์" ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง ส.ว. ยก 6 เหตุผลหนุนนายกฯ-รัฐบาล

เลือกตั้ง 2566 "ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ" พรรคก้าวไกล ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง "สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)" ยก 6 เหตุขอให้ สนับสนุนนายกฯและรัฐบาล ที่รวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

 

เลือกตั้ง 2566

 

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย และว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กถึง สมาชิกวุฒิสภา โดยระบุว่า

"ถึงสมาชิกวุฒิสภาทุกท่าน

 

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาในการรณรงค์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมยืนยันมาตลอดว่าในบรรดาเนื้อหาทั้งหมดของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นมาตราที่เป็นปฏิปักษ์ที่สุดต่อระบอบประชาธิปไตย

 

ผมเชื่อว่าท่านเข้าใจดี ว่าการวิจารณ์ในลักษณะนี้ ไม่ได้มาจากอคติส่วนบุคคล แต่มาจากการยึดหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ในการมี 1 สิทธิ 1 เสียง เพื่อกำหนดอนาคตของประเทศผ่านคูหาเลือกตั้ง

 

ไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ที่เป็นประชาธิปไตย ที่ให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง มีอำนาจในการมาร่วมเลือกนายกฯ และเปิดช่องให้ขัดเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกผ่านคูหาเลือกตั้ง

 

หากท่านจะอ้างว่าบางประเทศที่เป็นประชาธิปไตย มี ส.ว. แต่งตั้ง (เช่น สหราชอาณาจักร) ก็พึงตระหนักไว้ ว่า ส.ว. ในประเทศเหล่านั้น มีอำนาจน้อยมาก (เช่น ชะลอร่างกฎหมาย) เพื่อให้อำนาจและที่มาสอดคล้องกัน

 

หากท่านจะอ้างว่าบางประเทศที่เป็นประชาธิปไตย มี ส.ว. ที่มีอำนาจเยอะ (เช่น สหรัฐอเมริกา) ก็พึงตระหนักไว้ ว่า ส.ว. ในประเทศเหล่านั้น มาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้อำนาจและที่มาสอดคล้องกัน

 

และหากท่านจะอ้างว่าการมี ส.ว. แต่งตั้งที่มีอำนาจเลือกนายกฯ มาจากการลงประชามติเมื่อปี 2559 ก็พึงตระหนักไว้ว่า ประชามติครั้งนั้นไม่ได้เป็นประชามติที่เสรีและเป็นธรรมตามมาตรฐานสากล - หลายคนที่รณรงค์คัดค้านถูกจับกุมดำเนินคดี ในขณะที่คำถามพ่วงก็ถูกเขียนในลักษณะที่กำกวมและชี้นำโดยเจตนา

 

ดังนั้น ในเมื่อมาตรานี้ยังไม่ถูกยกเลิกไป วิธีการเดียวที่ท่านจะทำได้เพื่อเคารพหลักการขั้นพื้นฐานของประชาธิปไตย คือการสนับสนุน “นายกฯและรัฐบาล ที่รวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร” (งดออกเสียงไม่พอ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนว่านายกฯต้องได้รับการ “เห็นชอบ” เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา “ที่มีอยู่” (ไม่ใช่ “ที่ลงมติ”)) โดยไม่แสดงท่าทีหรือความเห็นเป็นอื่นใด ที่ไปกระทบต่อกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลและการตัดสินใจของพรรคการเมืองหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

 

แต่ลึกๆ ผมก็เข้าใจว่าการอ้างอิงหลักประชาธิปไตยอย่างเดียว คงไม่สามารถโน้มน้าวทุกท่านได้ เพราะหากทุกท่านยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย ทุกท่านคนคงเห็นด้วยกับการยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ ไปแล้วตอนที่ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในช่วง 2563-65 (รวมกันถึง 3 ครั้ง)

 

ดังนั้น ผมเลยขอยกอีก 6 เหตุผล ที่เพียงแต่ขอให้ท่านเพียงยึดคำพูดของตัวในอดีต

 

1. บางท่านเคยโหวตสนับสนุนการยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ ในรัฐสภา

 

เรามี ส.ว. ทั้งหมด 64 คนที่เคยสนับสนุนการยกเลิก มาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ (อย่างน้อย 1 ครั้ง จาก 3 ครั้งที่ถูกเสนอในรัฐสภาในช่วง 2563-65 - รายชื่อด้านล่าง) - แม้แต่ละท่านอาจมีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป แต่การลงมติของท่านแสดงให้เห็นว่าท่านเห็นตรงกันว่ามาตรา 272 มีปัญหาและไม่มีความจำเป็นต้องคงไว้อยู่

 

ดังนั้น ผมขอเรียกร้องไม่ให้ท่านเอามาตราที่ท่านเองก็เห็นว่าเป็นปัญหา มาขัดเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้ง

 

2. หลายท่านเคยบอกว่าไม่จำเป็นต้องยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ เพราะอำนาจนี้ตามมาตรา 272 “ไม่มีความหมาย” “ไม่มีน้ำยา” และ “ไม่มีราคา”

 

ส.ว. บางท่านเคยบอกว่า การมีอยู่หรือไม่ของอำนาจเลือกนายกฯ ของ ส.ว. ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะใครก็ตามที่ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้ารัฐบาลก็ต้องได้รับเสียงข้างมากจาก ส.ส. เสียก่อน โดยหาก ส.ว. เลือกคนที่ไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ ก็ย่อมทำให้เกิดทางตันทางเมืองเพราะรัฐบาลเสียงข้างน้อยจะไม่สามารถผ่านกฎหมายใด ๆ ได้

 

ดังนั้น หากท่านยืนยันคำเดิมว่ามาตรานี้ไม่ได้มี “ราคา” อะไร ก็อย่านำอำนาจที่ท่านมีจากมาตรานี้ มาโก่งราคาเพื่อบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้ง

 

3. หลายท่านเคยอ้างว่าสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เป็น นายกฯ รอบที่แล้ว เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมากของ ส.ส.

 

แม้ผมต้องยืนยันจุดยืนเดิม ว่าการมีอยู่ของอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ส่งผลต่อการตัดสินใจของพรรคการเมืองและกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนั้น แต่ ส.ว. หลายท่าน (รวมถึง ส.ส. ซีกรัฐบาลเดิม) มักอ้างหลายครั้งว่าที่ ส.ว. โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในการโหวตนายกฯเมื่อปี 2562 เป็นเพราะ พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส. เกินกึ่งหนึ่ง (250+) ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

 

ดังนั้น หากท่านใช้ตรรกะเดิมที่ท่านเคยอ้างว่าท่านใช้ในการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อปี 2562 ท่านก็ควรต้องสนับสนุน นายกฯ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส. เกินกึ่งหนึ่ง (250+) ในการเลือกนายกฯในปี 2566 เช่นกัน

 

4. หลายท่านพูดเสมอถึงความสำคัญของการให้ประเทศได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เจอทางตัน

 

หากท่านต้องการให้ประเทศได้ “ไปต่อ” โดยไม่เจอทางตัน ผมไม่เห็นเหตุผลใดที่ท่านจะไม่สนับสนุนนายกฯและรัฐบาลที่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เพราะไม่ว่าท่านจะมีความคิดเห็นส่วนตัวอย่างไรกับนายกฯคนนั้น หรือพรรคที่อยู่ในรัฐบาลชุดนั้น แต่หากท่านไปสนับสนุน นายกฯ หรือ พรรคที่ไม่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร นายกฯหรือรัฐบาลเสียงข้างน้อยชุดนั้น จะไม่สามารถบริหารประเทศให้ไปต่อได้ - กฎหมายจะไม่ผ่านสักฉบับ งบประมาณจะไม่ผ่านสักบาท และรัฐบาลก็จะล้มทันทีที่มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

 

ดังนั้น ในเมื่อท่านเองก็น่าจะเห็นเหมือนผมว่าการสนับสนุนนายกฯที่ได้รับการสนนับสนุนจากแค่เสียงข้างน้อยของ ส.ส. จะนำไปสู่ทางตัน ผมก็หวังว่าท่านจะไม่เลือกนำพาประเทศไปเจอทางตันนั้น

 

5. หลายท่านพูดเสมอถึงความสำคัญของ “การตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล”

 

หากท่านไม่ประกาศสนับสนุนหลักการว่าท่านจะโหวตให้นายกและรัฐบาลที่รวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส. (เกิน 250 คน) แต่บีบให้เขาต้องรวบรวมเสียงให้ได้เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา (เกิน 375 คน) ท่านกำลังกระทำสิ่งที่เสี่ยงจะบีบให้ฝ่ายค้าน (ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล มีความอ่อนแอลงหรือมีเสียงน้อยลง

 

แม้พรรคก้าวไกลเรายืนยันว่าเราจะไม่หลงกลนี้ และเราจะไม่ตัดสินใจดึงพรรคที่อุดมการณ์ไม่ตรงกับเราเข้ามาร่วมเป็นรัฐบาล (โดยยังคงหวังว่าพรรคที่แม้ไม่ได้ร่วมรัฐบาลกับเรา จะมาร่วมโหวตให้เราเป็นกรณีพิเศษ) แต่ผมเพียงอยากชี้ให้เห็นถึงความย้อนแย้งของท่านระหว่างการโยนให้พรรครัฐบาลต้องรวบรวมเสียงได้เกิน 375 เสียง กับคำพูดของท่านว่าต้องการจะสร้างระบบรัฐสภาที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลอย่างเข้มข้นโดยฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง

 

6. หลายท่านพูดเสมอถึงความสำคัญของการไม่อยากเห็น “บ้านเมืองขัดแย้ง”

 

ผมขอยืนยันว่าแม้การมีความเห็นที่แตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติของสังคมที่หลีกเลียงไม่ได้และไม่ควรต้องหลีกเลี่ยง แต่การบริหารจัดการความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ให้ทวีคูณไปเป็นความขัดแย้งที่ดีที่สุด คือการมีกระบวนการตัดสินใจที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

 

ดังนั้น ในเมื่อการเลือกตั้ง คือกระบวนการตัดสินใจที่เป็นธรรมกับประชาชนทุกกลุ่มความคิด เพราะเป็นการให้ประชาชนทุกคนทุกความคิด มี 1 สิทธิ 1 เสียง เท่าเทียมกัน หากท่านใช้อำนาจของท่านในทางใดที่เสี่ยงจะฝืนเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้ง ท่านเองจะเป็นคนที่นำบ้านเมืองไปสู่ความขัดแย้ง

 

ดังนั้น ผมขอเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาทุกท่าน สนับสนุน “นายกฯและรัฐบาล ที่รวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร” มันเป็นสิทธิของท่านในระบอบประชาธิปไตย ที่จะไม่เชื่อว่า นายกและรัฐบาลนี้ เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ที่สุดของประเทศ แต่มันไม่ควรเป็นสิทธิของท่านในระบอบประชาธิปไตย ที่จะขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชน ที่แสดงออกมาชัดเจนผ่านคูหาเลือกตั้งถึงความต้องการอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง

 

สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง พัดโชยมาถึงแล้ว และหากจะต่อยอดจากคำพูดของคุณ @หนุ่มเมืองจันท์ - ถึงเวลาที่ท่านต้องเลือก ว่าท่านจะเลือกเป็นอะไร ระหว่าง “กังหันลม” ที่โอบรับและก้าวไปด้วยกันกับความเปลี่ยนแปลงที่สังคมปราถนา กับ “กำแพง” ที่ฉุดรั้งการเปลี่ยนแปลงที่สังคมต้องการไว้แค่เพียงชั่วคราว แต่ทิ้งรอยร้าวและซากปรักหักพังไว้ทั่วแผ่นดิน เมื่อวันที่สายลมมันแรงเกินกว่ากำแพงใดๆจะต้านทานไว้ได้


ภาพจาก พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก TNN: https://www.tnnthailand.com/home

 

 

เกาะติด เลือกตั้ง 

 

 

บทความเกี่ยวกับการ เลือกตั้ง 2566

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง