รีเซต

บิ๊กอุ้มลุยบุรีรัมย์กับ กสศ. แก้ปัญหาเด็กหลุดนอกระบบการศึกษา มอบ สกร. ตามเด็กถึงบ้าน

บิ๊กอุ้มลุยบุรีรัมย์กับ กสศ. แก้ปัญหาเด็กหลุดนอกระบบการศึกษา มอบ สกร. ตามเด็กถึงบ้าน
TNN ช่อง16
28 กรกฎาคม 2567 ( 14:55 )
บิ๊กอุ้มลุยบุรีรัมย์กับ กสศ. แก้ปัญหาเด็กหลุดนอกระบบการศึกษา มอบ สกร. ตามเด็กถึงบ้าน

สถานการณ์เด็กดร็อปเอาต์ หรือ เด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาของไทย ที่มีมากถึง 1.02 ล้านคน ตามการเปิดเผยโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ถึงตัวเลขเด็กเยาวชนอายุ 3-18 ในปี 2566 ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศวาระแห่งชาติเรื่องการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout มอบให้ 11 หน่วยงานเซ็นต์ MOU ช่วยแก้ปัญหานี้ให้สำเร็จในรัฐบาลนี้ไปแล้วนั้น

เมื่อเร็ว ๆ นี้ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พาคณะผู้บริหารทั้งฝั่งการเมืองและข้าราชการ ลุยลงพื้นที่บุรีรัมย์ เพื่อเช็กตัวเลขเด็กหลุดนอกระบบร่วมกับ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุน กสศ. ณ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ รัฐมนตรีเพิ่มพูนเชื่อว่าบุรีรัมย์จบปัญหานี้ได้แน่ เพราะมีความเข้มแข็งและประสานได้หมด

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. เผยตัวเลขเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาในจังหวัดบุรีรัมย์ว่ามีทั้งสิ้น 17,586 คน เฉพาะอำเภอกระสังมี 1,353 คน ตำบลกระสัง 229 คน มีข่าวดีว่าในภาคเรียนที่ 1/2567 ตำบลกระสังมีกลับเข้าระบบแล้ว 39 คน อีก 190 คนที่เหลือ ต้องบูรณาการหลายหน่วยงานลงไปสำรวจข้อมูลให้พบตัวเด็กเพื่อพาเข้าเรียน หรือพัฒนาทักษะตามความสนใจแบบยืดหยุ่น


“ก่อนรัฐมนตรีมาลงพื้นที่ กสศ. ได้รับแรงสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอกระสัง (สกร.) และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) จังหวัดบุรีรัมย์ สำรวจข้อมูลจนนำไปสู่การค้นพบตัวเด็กได้แล้วกลุ่มหนึ่ง สามารถช่วยเหลือให้เข้าสู่การเรียนรู้ได้ทันทีสำหรับคนที่อยากเรียนแต่มีปัญหา

 

“กสศ. พบว่าความยากจน ปัญหาสุขภาพ ความบกพร่องทางการเรียนรู้ และครอบครัวแหว่งกลาง คือสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กเยาวชนที่นี่อยู่นอกระบบการศึกษา ซึ่งกลุ่มหนึ่งได้เข้าสู่การเรียนรู้กับ สกร.อำเภอกระสัง อีกกลุ่มอยู่ระหว่างวางแผนช่วยเหลือดูแลเป็นรายกรณี จากนี้ต้องติดตามต่อเนื่อง พาเข้าโปรแกรม OBEC CARE หรือระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในทุกมิติสำหรับเด็กในระบบ เมื่อเราพบเด็กคนหนึ่งไม่ว่าจะติดขัดด้วยข้อแม้อะไรก็ตามที่ทำให้เข้าไม่ถึงการเรียนรู้ ทรัพยากรและความช่วยเหลือต้องหลั่งไหลมาตามโจทย์ปัญหา” ดร.ไกรยสกล่าว

 

ภายหลังรับทราบสถานการณ์ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ชวนหารือโดยเน้นย้ำว่า การสำรวจเด็กเยาวชนที่ไม่พบรายชื่อในระบบการศึกษา เป็นนโยบายที่ตนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในช่วงวัยการศึกษาภาคบังคับอายุระหว่าง 6-15 ปี มอบหมายให้ศึกษาธิการจังหวัดเป็นฝ่ายบริการจัดการทำให้นโยบาย Thailand Zero Dropout ขับเคลื่อนให้ได้ และให้ สกร. เป็นแกนหลักไปสแกนหาเด็กจากข้อมูลของ กสศ. ทุกคน ทำงานกับ อพม. ตามเด็กถึงบ้าน ขอให้ทำงานแบบคิดนอกกรอบ เมื่อพบเด็กให้ถามความประสงค์ หากอยากเรียนต่อในโรงเรียนเดิมหรือโรงเรียนในพื้นที่ใกล้บ้าน ให้ประสานกับโรงเรียนหรือเขตพื้นที่รับช่วงต่อในการรับเด็กเข้าเรียน ดูแลไม่ให้หลุดซ้ำ จัดการศึกษายืดหยุ่นในลักษณะ 1 โรงเรียน 3 ระบบ เหมาะกับเด็กรายคน เชื่อว่าวิธีนี้ จะทำให้บุรีรัมย์ไม่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งตั้งเป้าเด็กดร็อปเอาต์เป็นศูนย์ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 นี้

“วันนี้ที่บุรีรัมย์เดินหน้าไปแล้ว เราได้เห็นว่า สกร. คือหน่วยงานระดับท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ดังนั้นความท้าทายต่อไปคือจะทำอย่างไรให้หน่วยงานอื่น ๆ สามารถเป็นฝ่ายเติมเต็มสนับสนุนและบูรณาการรับช่วงต่อได้ และทำให้เกิดเป็นโมเดลที่จะขยายไปยังทุกพื้นที่ ดังนั้นการพูดคุยกันระหว่างหน่วยงานจะทำให้เกิดการหาแนวทางแก้ปัญหา และช่วยลดขั้นตอนต่าง ๆ ที่จะพาเด็กกลับสู่การเรียนรู้ ปัญหาที่หน่วยงานหนึ่งแก้ไม่ได้เมื่อส่งต่อไปถึงมือผู้มีความชำนาญก็จะมองเห็นวิธีการแก้ไข


“นอกจากนี้การทำงานร่วมกันยังทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้น ที่จะส่งต่อเด็กไปสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้นตามศักยภาพ เชื่อว่าวันนี้ทุกฝ่ายแสดงให้เห็นว่าพร้อมที่จะขับเคลื่อนงานไปด้วยกันแล้ว ดังนั้นถ้าเริ่มสำรวจค้นหาติดตามเด็กทุกคนตั้งแต่เทอมแรกนี้ จะทำให้มีข้อมูลชัดเจนในการทำงาน แล้วในช่วงเปิดภาคการศึกษาที่สอง เราจะไม่มีเด็กหลุดออกไปจากระบบการศึกษาอีก”

ในที่ประชุมครั้งนี้ รมว.ศธ. มอบหมายให้นายณรงค์ชัย เจริญรุจิทรัพย์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงไปดูเด็กที่ปรากฏชื่อในฐานข้อมูลเด็กนอกระบบร่วมกับทีมงาน กสศ. นำโดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา กลุ่มแรกไปพบเป็นเด็กที่มีชื่อกลับเข้าระบบการศึกษาในภาคเรียนนี้ที่โรงเรียนวัดบ้านหนองแขม อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ พบว่าเป็นกรณีเข้าเรียนช้า จึงได้หารือกับ ผอ. และครูช่วยกันดูแลและส่งเสริมการเรียนรู้ต่อเนื่อง  ส่วนเด็กที่ยังไม่พบชื่อกลับเข้าเรียน คณะได้ลงไปที่บ้านของเด็กหญิงวัย 15 ปี ที่หลุดจากระบบการศึกษาได้ราว 2 ปีขณะอยู่ชั้น ม.2 จากการสอบถามพบว่าเด็กรายนี้่ต้องออกจากโรงเรียน เพราะครอบครัวขาดแคลนทุนทรัพย์ พ่อแม่แยกทาง เด็กอาศัยอยู่กับพ่อพิการและปู่ย่าที่มีรายได้หลักจากอาชีพเลี้ยงวัวและเก็บของเก่าขาย ความประสงค์ของเด็กคือต้องการกลับไปเรียนในโรงเรียนเดิมหากมีทุนการศึกษา คณะทำงานได้ประสานงานกันทำให้เด็กคนนี้ได้กลับเข้าเรียนตามความตั้งใจ ทำให้เป็นเด็กบุรีรัมย์คนแรกที่ได้กลับเข้าสู่การศึกษาตามนโยบาย Thailand Zero Dropout ที่จะทำงานกับเด็กทั้งจังหวัดในภาคเรียนนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง