รีเซต

สื่อระดับโลกตีข่าว ‘ผู้กำกับโจ้’ ทรมานและฆาตกรรมผู้ต้องหา ชี้ความรุนแรงของตำรวจเป็นเรื่องปกติในไทย

สื่อระดับโลกตีข่าว ‘ผู้กำกับโจ้’ ทรมานและฆาตกรรมผู้ต้องหา ชี้ความรุนแรงของตำรวจเป็นเรื่องปกติในไทย
TNN World
26 สิงหาคม 2564 ( 16:07 )
150

Editor’s Pick: สื่อระดับโลกเล่นข่าว ‘ผู้กำกับโจ้’ ทรมานและฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยค้ายาเสพติด โดย Washington Post ชี้ “ความรุนแรงและการคอร์รัปชันของตำรวจเป็นเรื่องปกติในประเทศไทย” 

 

 


สำนักข่าว Washington Post, BBC และ Voice of America รวมถึงอีกหลายสำนักข่าวทั่วโลก รายงานเหตุการณ์ที่ ผู้กำกับโจ้ หรือ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล ผู้กำกับ สภ.เมืองนครสวรรค์ และลูกน้องอีกหลายคน ใช้ถุงคลุมหัวพ่อค้ายาเสพติดที่เซฟเฮาส์บริเวณหลังโรงพัก เพื่อพยายามรีดไถเงิน 2 ล้านบาทจากผู้ต้องสงสัย แต่กลับทำให้ขาดอากาศหายใจเสียชีวิต
นี่คือกรณี จอร์จ ฟลอยด์ เวอร์ชันไทยหรือไม่? กับการทารุณกรรมของตำรวจ

 

 

 

ไม่ใช่ครั้งแรก และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย


ภายหลังคลิปวิดิโอที่แสดงความทารุณของผู้กำกับโจ้และพวก เผยแพร่ออกไป สังคมไทยวิพากษณ์วิจารณ์และโกรธเคืองอย่างมาก แม้ว่าตอนนี้ ตำรวจสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุ 5 คน ซึ่งเป็นตำรวจชั้นผู้น้อยได้แล้วก็ตาม

 


“ข้อกล่าวหาถึงความทารุณของตำรวจและการคอร์รัปชันของตำรวจในประเทศไทย ไม่ถือเป็นเรื่องแปลก ” Washington Post ระบุ
“แต่กรณีการทรมานและฆาตรกรรมครั้งนี้ มันน่าสะเทือนขวัญมาก” สุนัย ผาสุก นักวิจัยอาวุโส ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวกับ Washington Post 

 


“และมันไม่ใช่ครั้งแรก และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย จนกว่าตำรวจจะสืบสวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง แบบหมดจดไร้ข้อกังขา”
*Update: สื่อไทยหลายสำนักรายงานว่า พ.ต.อ.ธิติสรรค์ ได้แจ้งพิกัด ว่าตนเองอยู่ที่ใด ชุดไล่ล่าจึงทำการตรวจสอบและพบตัว พ.ต.อ.ธิติสรรค์ แล้ว โดยเจ้าตัวได้หลบหนีไปที่ เมียวดี ประเทศเมียนมา 

 

 


ประชาชนตั้งคำถาม...ทำไมย้าย ไม่จับทันที


Washington Post ยังรายงานถึงความไม่พอใจของประชาชน ต่อมาตรการรับมือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของตำรวจ ที่ตัดสินใจ ‘ย้าย’ ผู้กำกับโจ้ แทนที่จะดำเนินการทางกฎหมายในทันทีที่เกิดเหตุ เพราะมองว่า "เป็นการปกป้องพวกเดียวกัน"
นี่คือคำสั่งดังกล่าว 

 


-----
คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง ให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อนระบุว่า พ.ต.อ. ธิติสรรค์ ผกก. สภ.เมืองนครสวรรค์ อัตราเงินเดือน 43,330 บาท ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งกรรมการสอบสวนเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ในเรื่องที่ถูกร้องเรียนว่าได้ทำร้ายร่างกายโดยการทรมานนายจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ ผู้ต้องหาคดียาเสพติดเพื่อเรียกเงินจำนวน 2 ล้านบาท จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต และถูก สภ. เมืองนครสวรรค์ ดำเนินคดีอาญาโดยกล่าวหาว่าร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
"...จึงให้ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป" ผบ.ตร. ระบุในคำสั่งลงวันที่ 24 สิงหาคม 

 

 


ต่อมาในวันที่ 15 สิงหาคม ได้มีคำสั่งตามมาอีกหนึ่งฉบับให้ข้าราชการตำรวจอีกหกนายได้แก่ 1-6 ออกจากราชการไว้ก่อน
*ขอบคุณ BBC Thai สำหรับข้อมูล


-----

 

 


“การคอร์รัปชันขนาดเล็ก การเก็บสินบนจากผู้ขับขี่ เพื่อไม่ต้องโดนใบสั่ง เป็นการกระทำปกติของตำรวจชั้นผู้น้อยที่เงินเดือนไม่มาก” Washington Post รายงานต่อ “ตำรวจไทยยังเลื่องลือในเรื่องการซ้อมผู้ต้องหา เพื่อให้สารภาพผิดด้วย”
แต่กรณีการคอร์รัปชันและการใช้อำนาจในทางมิชอบของตำรวจระดับสูง เกิดขึ้นไม่บ่อยหนัก โดยสุนัย ผาสุก จาก ฮิวแมนไรท์วอช ชี้ว่า การกระทำผิดของตำรวจไทยมักถูกละเลย และได้รับการปกป้องจากตำรวจด้วยกันเอง

 


เทียบจอร์จ ฟลอยด์ เสียชีวิตใต้เข่าตำรวจ


เกิดการเปรียบเทียบในโลกออนไลน์ถึงการฆาตรกรรมโดยตำรวจไทย กับกรณี จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำที่ถูกตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดคอระหว่างการจับกุมในสหรัฐฯ จนเขาขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต และการใช้กำลังของตำรวจ ได้รับการบันทึกและเผยแพร่ โดยประชาชนที่เห็นเหตุการณ์ จุดกระแสความโกรธเกรี้ยวของสังคม คล้ายกรณี ผู้กำกับโจ้

 


กรณีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ นำมาสู่การตั้งคำถาม และปลุกกระแส Black Lives Matter ให้กลับมา จนนำไปสู่การดำเนินคดีและลงโทษตำรวจผู้กระทำผิด ซึ่งไม่เกิดขึ้นบ่อยนักในสหรัฐฯ 

 


ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย ถึงกับเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ของตนเองในสังคมออนไลน์ เป็นภาพถุงดำคลุมศีรษะ เพื่อต่อต้านการทารุณของตำรวจและวิจารณ์ถึงการใช้อำนาจที่ไร้การตรวจสอบของตำรวจไทย

 

 


แอปเปิลเน่า?


“วัฒนธรรมความรุนแรงและการทารุณภายในวงการตำรวจไทย หยั่งรากลึกมานาน” ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับ Voice of America

 


“กรณีที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่แค่เรื่อง แอปเปิลเน่า ที่โยนทิ้งไปก็แก้ปัญหาได้ แต่มันคือการได้มาซึ่งอำนาจ และวัฒนธรรมการพ้นผิดของตำรวจ มันเป็นเรื่องที่มากกว่าการที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์เสียอีก“

 

 


ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เป็นครั้งแรกที่บันทึกภาพได้?


Voice of America รายงานอ้างอิงบทสัมภาษณ์กับตำรวจในกรุงเทพฯ คนหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนามว่า เขาเองก็อยากให้สังคมตั้งคำถามในเรื่องนี้ แต่ก็เตือนว่า “นี่ไม่ใช่การเสียชีวิตระหว่างการจับกุมรายแรก แต่มันเป็นเพียงแค่การเสียชีวิตแรกที่บันทึกวิดีโอได้เท่านั้น”

 


การจะปฏิรูปตำรวจอย่างแท้จริง ยังต้องมาจากเบื้องบน ตามลำดับชั้นยศ เพราะตำรวจชั้นผู้น้อยเอง แม้จะอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก และพวกเขาก็ต้องหาเลี้ยงครอบครัว
ท้ายสุด เขาระบุว่า “ตำรวจบางคนเมื่อได้มาซึ่งอำนาจ และอำนาจมันช่างหอมหวาน แต่ข่าวอื้อฉาวนี้ อาจเปลี่ยนแปลงองค์กรตำรวจไทยได้”

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง