นักวิทย์เตรียมส่งหัวใจเทียม ขึ้นสู่สถานีอวกาศในปี 2027
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากโครงการพัลส์ (Pulse) ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสภานวัตกรรมแห่งยุโรป (European Innovation Council) กำลังพัฒนาหัวใจมนุษย์ที่เป็นอวัยวะเทียมชีวภาพจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สำหรับเตรียมส่งขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เพื่อดูว่าหัวใจมนุษย์จะเป็นอย่างไร เมื่อสัมผัสกับรังสีในอวกาศ
หัวใจมนุษย์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ
โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จะทำการพิมพ์หัวใจมนุษย์ขึ้นมาด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และเทคโนโลยีพัลส์ (Pluse Technology) ซึ่งเป็นการใช้คุณสมบัติของคลื่น 2 แบบ คือคลื่นแม่เหล็กและคลื่นอะคูสติก โดยเทคโนโลยีพัลส์จะช่วยให้ชิ้นส่วนหัวใจที่ถูกพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สามารถลอยตัวอยู่กลางอากาศได้ ขณะที่เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ค่อย ๆ พิมพ์ต่อเติมชิ้นส่วนหัวใจส่วนอื่น ๆ จนได้หัวใจมนุษย์แบบสมบูรณ์
การทดลองเกี่ยวกับหัวใจมนุษย์ในอวกาศ
อย่างไรก็ตาม โครงการพัลส์ไม่ใช่โครงการแรกที่ตั้งเป้าจะศึกษาผลกระทบของอวกาศที่มีต่อหัวใจมนุษย์ โดยก่อนหน้านี้มีหลายโครงการที่พยายามจะศึกษาในหัวข้อเดียวกัน เช่น การศึกษาของมหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University) และมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ (John Hopkins University) ที่ทดลองส่งเนื้อเยื่อหัวใจขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ
นอกจากนี้ นักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติยังถูกติดตามสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อศึกษาการตอบสนองของหัวใจขณะอยู่ในอวกาศ
แต่โครงการพัลส์จะเป็นโครงการแรกที่ส่งหัวใจมนุษย์แบบเต็มรูปแบบขึ้นสู่สถานีอวกาศ ซึ่งจะทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์สามารถดูการทำงานที่ซับซ้อนของหัวใจมนุษย์ในอวกาศได้
นอกจากการศึกษาผลกระทบของรังสีในอวกาศที่มีต่อหัวใจแล้ว การทดลองดังกล่าว ยังเอื้อประโยชน์ต่อวงการยาบนโลกด้วย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ที่ทดลองเกี่ยวกับยาสำหรับโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ สามารถนำหัวใจเทียมไปใช้ ลดการพึ่งพาสัตว์ทดลองได้
ข้อมูลจาก space.com
ภาพจาก EarthSky