“ดีอีเอส”อนุมัติ 41 โครงการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ
(27 ตุลาคม 65) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม เป็นประธานแถลงข่าวประกาศผลการพิจารณาโครงการหรือกิจกรรม ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 41 โครงการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล ในประเทศไทย
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นกองทุนที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก เพราะช่วยส่งเสริม ผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โดยกองทุนฯ ให้ทุนอุดหนุนหลายด้านเพื่อพัฒนาศักยภาพคนไทย โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างนวัตกรรมและริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดประโยชน์หลายด้าน เช่น ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการลงทุน ด้านเกษตรกรรม ด้านการให้บริการของภาครัฐ และด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากรดิจิทัล เป็นต้น ปัจจุบันกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นกองทุนชั้นนำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และเปิดกว้างให้กับผู้เสนอโครงการทั้งหน่วยงานของรัฐ เอกชน หรือบุคคลทั่วไปที่สนใจสามารถขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ได้”
และจากการให้ทุนสนับสนุนฯ ของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในครั้งนี้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญของกองทุนฯ ในการส่งเสริม สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ และการให้ทุนอุดหนุนการวิจัย เพื่อสร้างนวัตกรรมและความเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลต่อไปในอนาคต
โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติในปีนี้เป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ต่อสาธารณะ และต่อการพัฒนาดิจิทัลของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศมีการพัฒนาด้านดิจิทัลทัดเทียมระดับเวทีโลกต่อไป โดยมีตัวอย่างโครงการตามกรอบนโยบายการให้ทุนทั้ง 4 ด้าน อาทิ กรอบนโยบาย Digital Agriculture ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริม การบริหารจัดการเกษตรแบบเชิงรุก จำนวน 4 โครงการ ตัวอย่างเช่น โครงการการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ด้วยการวิเคราะห์ภาพเนื้อเยื่อเพื่อการวินิจฉัยและประเมินการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อสำคัญในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งเศรษฐกิจของไทย ของ มหาวิทยาลัยมหิดล
กรอบนโยบาย Digital Government & Infrastructure ส่งเสริมและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการออกแบบบริการภาครัฐ จำนวน 21 โครงการ ตัวอย่างเช่น 1) โครงการจัดหาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) และระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Face verification System) ของ กรมการปกครอง 2) โครงการ e-Service เพื่อการบริการประชาชนและการบริหารจัดการสัตว์ป่าตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ของ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
กรอบนโยบาย Digital Manpower ส่งเสริมและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการวางแผน การจัดการศึกษาตลอดช่วงชีวิต จำนวน 9 โครงการ ตัวอย่างเช่น 1) โครงการการพัฒนาห้องปฏิบัติการการทดลองทางเคมีในชุมชนโลกเสมือนจริง (Development of Chemistry Lab in Metaverse) ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 2) โครงการศูนย์ฝึกอบรมกำลังคนด้านโลจิสติกส์อัจฉริยะโดยใช้ Mixed Reality Simulation เพื่อรองรับศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของเพื่อเชื่อมโยง GMS ของ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
กรอบนโยบาย Digital Technology ส่งเสริมและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล มาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการปรับเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัล จำนวน 7 โครงการ ตัวอย่างเช่น โครงการการพัฒนาระบบอัจฉริยะสำหรับแลกเปลี่ยน และประยุกต์ใช้ข้อมูลทางด้านสุขภาพเพื่อยกระดับบริการทางสาธารณสุขสำหรับสถานพยาบาลขนาดต่าง ๆ ในจังหวัดสงขลา ของ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์