รีเซต

ไขข้อข้องใจ ภูมิคุ้มกันหมู่ ช่วยสกัดโควิด-19

ไขข้อข้องใจ ภูมิคุ้มกันหมู่ ช่วยสกัดโควิด-19
มติชน
25 พฤษภาคม 2564 ( 07:11 )
47
ไขข้อข้องใจ ภูมิคุ้มกันหมู่ ช่วยสกัดโควิด-19

 

วินาทีนี้ ถามกันมากมายเหลือเกินว่า ที่รัฐบาลกำลังรณรงค์ให้ประชาชนไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เพื่อสร้าง ภูมิคุ้มกันหมู่ นั้น แท้จริงแล้วเป็นไปได้หรือไม่ เพราะจนถึงขณะนี้ยังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะไปรับวัคซีน

 

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายให้ฟังว่า ธรรมชาติของไวรัส หากล่องลอยอยู่ในอากาศ จะไม่สามารถขยายเซลล์แบ่งตัวเองได้ และ ความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศต่ำ เช่น โควิด-19 ในอุณหภูมิมากกว่า 25 องศาเซลเซียส ไวรัสในอากาศจะสลายตัวไปใน 1 นาที โดยวิธีเพิ่มตัวเองของไวรัสคือ อาศัยเซลล์ของสิ่งมีชีวิต เช่น การเข้ามาในตัวของคนจะทำให้ไวรัสแบ่งตัวเองออกไปได้ ก่อให้เป็นโรคต่างๆ ได้ สิ่งสำคัญคือ เมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันโดยเม็ดเลือดขาว จะตรวจพบและพยายามจัดการไวรัสทันที และมีคุณสมบัติจดจำศัตรูได้ ฉะนั้น ถ้าเม็ดเลือดขาวไปเจอกับไวรัสตัวหนึ่ง จะจำหน้าตาของมันไว้ ภายหลังถ้ามีไวรัสตัวเดิมกลับเข้าไปใหม่ เม็ดเลือดขาวที่จำไวรัสสายพันธุ์นี้ได้ก็จะเพิ่มจำนวนตัวเองอย่างรวดเร็ว จัดการกับมันทันที นี่เรียกว่า ระบบภูมิคุ้มกันตามปกติตามธรรมชาติ อันเกิดขึ้นเนื่องจากการติดเชื้อไวรัส หรือ เราเรียกว่า เนเจอรัล อิมมูนิตี้ (Natural Immunity)

 

 

มีอีกวิธีหนึ่งในการสร้างภูมิคุ้มกัน คือ การผลิตมันขึ้นเองโดยใช้เทคโนโลยี เรียกว่า วัคซีนป้องกัน ซึ่งที่เรารู้จักกันดี เป็นเทคโนโลยีเชื้อตาย ด้วยการเอาเชื้อที่ไม่ก่อให้เกิดโรค หรือบางทีเรียกว่า ซากเชื้อ แต่หน้าตาจะเหมือนกับเชื้อโรคปกติ โดยนำเข้าไปในร่างกายคน เพื่อให้เม็ดเลือดขาวเกิดการจดจำ และสามารถออกมาจัดการกับมันทันที อย่างเช่นวัคซีนซิโนแวค ต่อมา มีเทคโนโลยีใหม่ โดยการนำ บางส่วนของไวรัส เข้าสู่ร่างกายคน และร่างกายจะจำในส่วนนั้นว่าเป็น ส่วนหนึ่งของศัตรู หลังจากนั้นจะสร้างเม็ดเลือดขาวออกมาจัดการ เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ก็ใช้หลักการเดียวกันนี้เช่นกัน เมื่อไวรัสเข้าไปอาละวาดในประเทศใด เริ่มต้นจากประเทศนั้นไม่มีภูมิคุ้มกัน เพราะไม่เคยเจอไวรัสตัวนี้มาก่อน

 

 

ฉะนั้น จะมีคนจํานวนหนึ่งติดเชื้อไวรัส ที่นี้จะขึ้นอยู่กับว่าธรรมชาติของไวรัสดุหรือไม่ ถ้ามันดุมาก ใครเป็นปุ๊บตาย เป็น 2 ตาย 1 ราย เหมือนครั้งที่เป็นโรคเมอร์ส (MERS) เชื้อแรงมาก เมื่อคนตายเชื้อไวรัสในตัวคนก็ตายไปด้วยเหมือนกัน สุดท้ายไวรัสจะจบเร็ว มันไม่เหลือจะแพร่พันธุ์ แต่ที่น่ากลัวคือไวรัสที่เข้าไปในคน ส่วนหนึ่งไม่รุนแรงและส่วนหนึ่งรุนแรง ดังนั้น คนที่ทนได้จะเกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ แต่คนที่อาจจะสร้างภูมิคุ้มกันไม่ทัน ก็จะตาย

 

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่โลกรู้ตอนนี้ เรามีทางเดียวคือ รีบกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันจำนวนเยอะๆ ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกัน เมื่อรวมกับตัวเลขผู้ที่เกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ เมื่อถึงจุดหนึ่งไวรัสที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ เข้าตัวคนก็ไม่ได้ เพราะคนมีภูมิคุ้มกัน มันลอยอยู่ในอากาศเฉยๆ ก็สลายไป ดังนั้น สักพักหนึ่งมันก็จะหายไปจาก ประเทศนั้นๆ การสร้างภูมิคุ้มกันระดับหมู่ (Herd Immunity) ราว 70% ของจำนวนประชากร จะทำให้โรคหายจากประเทศไทยได้จริงหรือ ศ.นพ.ประสิทธิ์ อธิบายว่า การระบาดในประเทศไทยตอนต้น อัตราการแพร่กระจายของเชื้ออยู่ที่ 2.2 เมื่อคำนวณย้อนกลับมาก็จะพบว่า หากคนไทยมีภูมิคุ้มกันประมาณ 70% ของประชากรทั้งประเทศ มีแนวโน้มว่า ไวรัสจะอยู่ไม่ได้แล้ว เป็นที่มาของการพยายามทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้น จึงต้องนำวัคซีนเข้ามาเร่งฉีด เพื่อหวังว่าเราจะชนะมัน ตัวแปรสำคัญของระบบทั้งหมดที่กล่าวมา คือ ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลง หากมันมีความสามารถในการกลายพันธุ์สูง และถ้าจุดการ กลายพันธุ์ของมันมีผลกระทบกับวัคซีน จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที ฉะนั้น หลายคนแนะนำว่าประเทศที่ยังติดเชื้อไม่เยอะ ให้เร่งฉีดวัคซีนให้เยอะๆ และป้องกันไม่ให้ไวรัสสายพันธุ์อื่นเข้ามา

 

 

ขณะเดียวกันก็เชื่อว่า หากเราฉีดวัคซีน แม้จะไม่ป้องกันการกลายพันธุ์ได้เต็มที่ แต่ก็ยังมีประสิทธิภาพบางส่วนเหลืออยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันจะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้บ้าง ก็ถือเป็นประโยชน์ที่ดี อย่างเช่นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่มีประสิทธิภาพป้องกันโรคเพียง 60% แต่ลดอัตราเสียชีวิต กรณีนี้ก็ยังคุ้ม ในประเทศสิงคโปร์ ภูมิประเทศเป็นเกาะ มีประชากรน้อย สามารถใช้ยุทธศาสตร์ปูพรมฉีดวัคซีนทั้งประเทศได้ ล่าสุดรายงานข่าวเมื่อ 10 วันที่แล้ว สิงคโปร์ เจอคนติดโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย รวดเดียว 40 คน ประกาศล็อกดาวน์ประเทศทันที เพื่อเร่งควบคุมสถานการณ์

 

 

แม้ว่าจะฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อสายพันธุ์เดิมแล้ว แต่หากคุมไม่ได้ จนเกิดการระบาดสายพันธุ์นี้อีกครั้ง ก็เท่ากับว่าเขาต้องเริ่มใหม่ โดยวัคซีนปีหน้าก็จะครอบคลุมสายกลายพันธุ์ในปีนี้ วัคซีนไหนที่ผลิตออกมาก่อนก็อาจจะครอบคลุมมันไม่ได้ แต่ถ้าลดอันตรายรุนแรง ลดการเสียชีวิตได้ อย่างน้อยก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง ดังนั้น ตอนนี้เราคาดการณ์อนาคตไม่ได้ สายพันธุ์ไหนเป็นยังไง เพราะในประเทศหนึ่งไม่ได้มีแค่สายพันธุ์เดียว เราอย่าไปคิดว่ามีแค่สายพันธุ์เดียว ฉะนั้นดีที่สุดคือ ฉีดวัคซีน แนวคิดเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่สำหรับประเทศไทย เริ่มต้นที่เมืองท่องเที่ยว โดยเฉพาะเกาะภูเก็ต ซึ่งเมื่อประเทศไทยได้รับวัคซีนและมีแผนเปิดเกาะก็เริ่มระดมฉีด

 

 

พญ.เหมือนแพร บุญล้อม รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยความคืบหน้าว่า ในปัจจุบันนี้เจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาลและผู้เกี่ยวข้องต้องบริหารจัดการหรือคำนวณอัตราฉีดวัคซีนต่อวันเพื่อให้ทันกับวัคซีนโควต้าที่เราไปขอมา ตามที่นัดหมายกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ว่าในเดือนพฤษภาคมนี้ จะเป็นวัคซีน Sinovac จำนวน 400,000 โดส เรารับการฉีดให้ประชาชน 200,000 คน เดือนมิถุนายน น่าจะได้วัคซีน AstraZeneca อีก 150,000 โดสนำไปฉีดประชาชน 150,000 คน เพราะวัคซีนนี้ต้องฉีดให้ห่างกันประมาณ 3-4 เดือน ถึงจะฉีดเข็มที่สองได้ ภูเก็ตขอวัคซีนไปและรัฐบาลสัญญาและรับปากว่าจะจัดส่งวัคซีนให้ทันตามกำหนด ที่โครงการ Phuket Tourism Sandbox เพราะหากวัคซีนส่งมาได้ ไม่ครบ การดำเนินการใดๆ ในวันที่ 1 กรกฎาคมไม่ได้

 

 

ส่วนกรุงเทพมหานครเพิ่งมีการระบาดต่อเนื่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจึงสั่งให้ปูพรมฉีดให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรภายใน 2 เดือน เพื่อทำให้เมืองกรุงเกิดภูมิคุ้มกันหมู่เช่นกัน ซึ่งถ้าได้ผล แนวทางนี้จะขยายไปยังหัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศตามลำดับ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง