รีเซต

เปรียบเทียบและจำลองการระเบิดนิวเคลียร์ซาร์บอมบาและลิตเติลบอย

เปรียบเทียบและจำลองการระเบิดนิวเคลียร์ซาร์บอมบาและลิตเติลบอย
TNN ช่อง16
20 มีนาคม 2565 ( 18:10 )
264
เปรียบเทียบและจำลองการระเบิดนิวเคลียร์ซาร์บอมบาและลิตเติลบอย

เทคโนโลยีอาวุธนิวเคลียร์หนึ่งในอาวุธที่มีพลังทำลายล้างสูงที่สุดของมนุษยชาติ ปัจจุบันมีประเทศต่าง ๆ 9 ประเทศ ที่ครอบครองอาวุธชนิดนี้ยังไม่รวมประเทศที่มีเทคโนโลยีชั้นนำอีกหลายประเทศที่พร้อมพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาในเวลาประมาณ 5-6 เดือนหากมีความจำเป็นเริ่งด่วนต้องการอาวุธชนิดนี้


ซาร์บอมบา (Tsar Bomba) ระเบิดนิวเคลียร์ที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดในโลกพัฒนาโดยอดีตสหภาพโซเวียตหรือประเทศรัสเซียในปัจจุบัน ซาร์บอมบาเป็นอาวุธนิวเคลียร์ไฮโดรเจนทำงานแบบ 3 ขั้นตอน ขั้นแรกเป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันจากนั้นเกิดปฏิกิริยาเทอร์โมนิวเคลียร์ให้ความร้อนและใช้พลังงานจากการระเบิดนำพาความร้อนไปทำลายล้างบริเวณพื้นที่ของการระเบิด


การทดสอบซาร์บอมบามีขึ้นในวันที่ 30 ตุลาคม 1961 บริเวณเกาะโนวายาเซมลยา พื้นที่ห่างไกลทางตอนเหนือของประเทศรัสเซีย ซาร์บอมบาน้ำหนักประมาณ 27 ตัน ความยาว 8 เมตร ถูกทิ้งลงมาจากเครื่องบินจากระดับความสูง 10.5 กิโลเมตร แรงระเบิดของซาร์บอมบามีขนาดประมาณ 50 ถึง 58 เมกะตันของระเบิดทีเอ็นที ทำลายล้างพื้นที่รัศมี 40 กิโลเมตร ก้อนเมฆรูปเห็ดหลังการระเบิดสูง 64 กิโลเมตร รัสมีความร้อนกระจายและสัมผัสได้แม้จะอยู่ห่างออกไป 1,000 กิโลเมตร


ลิตเติลบอย (Little Boy) ระเบิดนิวเคลียร์ฟิชชันพลังระเบิดจากการแตกตัวของนิวเคลียร์ของยูเรเนียม-235 ลิตเติลบอยเป็นระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกที่ถูกทิ้งลงสู่พื้นที่เมืองฮิโรชิมะ ในวันที่ 6 สิงหาคม 1945 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเครื่องบิน B-29 Superfortress จากระดับความสูง 9.6 กิโลเมตร ระเบิดทำงานที่ระดับความสูง 580 เมตร ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 70,000 คน และมีผู้บาดเจ็บ 69,000 คน ระเบิดนิวเคลียร์ลิตเติลบอยมีความประมาณ 3 เมตร น้ำหนัก 4.4 ตัน แต่สามารถสร้างแรงระเบิดขนาดประมาณ 15 ถึง 16 กิโลตันของระเบิดทีเอ็นที ทำลายล้างพื้นที่รัศมี 3.2 กิโลเมตร โดยพื้นที่ใกล้จุดระเบิด 370 เมตร มีอุณหภูมิใกล้เคียงพื้นผิวดวงอาทิตย์ ก้อนเมฆรูปเห็ดหลังการระเบิดสูง 18 กิโลเมตร


ปัจจุบันมีเว็บไซต์จำลองการระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์แบบต่าง ๆ ผู้ที่สนใจสามารถคลิกทดสอบได้จากลิงค์ด้านล่างนี้

nuclearsecrecy.com/nukemap


ที่มาของข้อมูล britannica.com 

ที่มาของภาพ wikipedia.org

ข่าวที่เกี่ยวข้อง