'กระเช้าภูกระดึง' ยานพาหนะยกระดับธุรกิจท่องเที่ยว หรือ หายนะการอนุรักษ์มนต์เสน่ห์ของธรรมชาติ
กระเช้าภูกระดึง หรือ กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ณ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้งหลังจากที่ นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเตรียมนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อของบประมาณ 28 ล้านบาท สำหรับการสำรวจและออกแบบการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้า
ซึ่งขั้นตอนก่อนการสร้างจะต้องมีการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)ก่อน และการนำเข้าครม.ครั้งนี้ยังเป็นการสานต่อมมติครม. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2555 ยุคนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ที่เห็นชอบให้องค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พัฒนาหลายพื้นที่ในประเทศให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องพิชิตภูกระดึง
อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตั้งอยู่ที่อำเภอภูกระดึงในจังหวัดเลย เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศไทย ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมาแวะเวียนมาเที่ยวปีละหลายหมื่นคน
เฉพาะในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวทั้งปี 85,139 คน ในเดือนธันวาคมเพียงเดือนเดียวมีนักท่องเที่ยวรวม 27,773 คน
ภูกระดึง ได้รับการจัดตั้งเป็นป่าสงวนแห่งชาติในปี 2486 และเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 โดยเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่สองถัดจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
เสน่ห์ของภูกระดึงที่เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวสายอนุรักษ์ธรรมชาติ และชื่นชอบการผจญภัย คือเส้นทางการพิชิตยอดภู ที่ตลอดระยะทาง 5.5 กิโลเมตรเป็นเส้นทางเดินเขาประเภท Trekking trail หรือการเดินป่าระยะไกลที่ใช้ระยะเวลานาน นักท่องเที่ยวจะได้ชื่นชมธรรมชาติไปพร้อมการเดินขึ้นเขาสูงสลับชัน
เท่านั้นไม่พอพวกเขาจะต้องเดินต่อในแนวราบอีกกว่า 3.5 กิโลเมตรเพื่อไปศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง รวมแล้วตลอดระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร
แต่ถึงเส้นทางจะไกลและลำบากแต่ภูกระดึงได้ชื่อว่าเป็นTrekking trailที่ดีที่สุดของประเทศ เพราะถือว่าไม่ค่อยมีอุปสรรคกับผู้ใช้เส้นทางอุทยานฯมีการจัดการที่ลงตัว มีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวไม่แพง
พัฒนาการของโครงการที่ยังไม่หลุดพ้นขั้นตอนพิจารณามา 41 ปี
ทีมข่าว TNN Online ไล่เรียงเหตุการณ์สำคัญทั้งในส่วนการขับเคลื่อน และการยับยั้งการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้า ดังนี้
ปี 2525 อุทยานแห่งชาติภูกระดึงเสนอโครงการกระเช้าลอยฟ้า
ปี 2526 วงประชุมร่วมระหว่างผู้นำในพื้นที่ กับคณะกรรมการอุทยานฯ เห็นชอบหลักการ แต่กรมอุทยานฯมีหนังสือด่วน ค้านสร้างกระเช้า
ปี 2527 ศึกษาอีไอเอครั้งแรก
ปี 2529 คณะกรรมการอุทยานฯเห็นชอบ เอกชนเสนอโครงการ
ปี 2532 กรมป่าไม้ระงับโครงการ
ปี 2547 ยุคนายกฯทักษิณ ชินวัตร สั่งให้ศึกษาการสร้างกระเช้า
ปี 2555 ยุคนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตรขอใช้เวลาศึกษาปัจจัยหลายด้านเพื่อความรอบคอบ
ปี 2565 ประชุมทบทวนความเหมาะสมด้านวิศวกรรม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์และดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนโครงการฯ ระหว่างหน่วยงานท้องถิ่น และ คนท้องที่
ปี 2566 ยุคนายกฯเศรษฐา ทวีสิน เห็นควรให้มีการพัฒนาก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้า ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ปี 2565-2570
หากพิจารณาให้ดีโครงการกระเช้าภูกระดึง ถูกหยิบยกมาพูดถึงไม่น้อยกว่า 41 ปีแล้ว ซึ่งถ้าย้อนเวลากลับไปในปีแรกที่มีการหารือและสุดท้ายเกิดการสร้างจริง ปัจจุบันนี้คงจะเสร็จสมบูรณ์จนให้บริการนักท่องเที่ยวได้หลายล้านคน
เสียงใดบ้างสนับสนุนกระเช้าภูกระดึง
การสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง สิ่งที่จะเกิดประโยชน์และเป็นเป้าหมายหลักของโครงการก็เพื่อ ยกระดับการท่องเที่ยว เพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยว เพิ่มเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการรายเล็กถึงรายใหญ่ กิจการมากมายจะได้ประโยชน์ไปเป็นปราการแรกๆ
ประโยชน์ส่วนที่สอง คือการเพิ่มโอกาสให้ผู้ที่อยากสัมผัสความสวยงามบนภูกระดึงแต่มีเงื่อนไขในการเดินทาง อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ ให้สามารถไปชมความสวยงามนั้นได้อย่างไร้ขีดจำกัด
ยังรวมไปถึงการขนส่งของเจ้าหน้าที่ ผู้ค้า หน่วยรักษาความสะอาดที่ต้องคอยดูแลบริการนักท่องเที่ยวด้านบนให้ได้รับความสะดวกสบายในการทำงานมากขึ้น
ทีมข่าว TNN Online หยิบยกตัวอย่างผู้ที่เห็นด้วยในการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้านี้ มาให้พิจารณาในปี 2565 ที่ผ่านมา นายณัฐพล เหลืองวงศ์ไพศาล ประธานหอการค้าจังหวัดเลย ได้ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า
“หากมีการสร้างกระเช้าขึ้นภูระดึงให้คนทุกเพศทุกวัยไม่ว่าคนแก่คนพิการสามารถขึ้นไปสัมผัสท่องเที่ยวบนภูกระดึง สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่เฉพาะจังหวัดเลย แต่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคอีสาน เม็ดเงินจะสะพัดไม่น้อยกว่า 1,000 พันล้านต่อปี อย่างแน่นอน หากมองเรื่องการจัดการอนุรักษ์ธรรมชาติ ในยุคนี้สามารถบริหาร การจัดการเรื่องเหล่านี้ได้ไม่ยาก การก่อสร้างด้านวิศวกรรมสมัยใหม่ ให้มีผลการกับธรรมชาติน้อยที่สุด ถ้าเรามีกระเช้าขึ้นภูกระดึงสามารถบริหารจัดการขึ้นลงภายในวันเดียวได้ และจำกัดคนเข้าพักบนภูกระดึงได้ เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบริเวณรอบๆ ภูกระดึง”
เสียงคัดค้านการสร้างกระเช้าภูกระดึง
แน่นอนว่า หากวันหนึ่งมีเครื่องอำนวยความสะดวกเข้ามาย่นระยะทางและเวลาในการเดินทางแล้ว วันนั้นนักท่องเที่ยวทั้งหลายที่ไปภูกระดึงก็อาจเรียกไม่ได้ว่าเป็นผู้พิชิต
เพราะมนต์เสน่ห์อย่างหนึ่งของการขึ้นภูกระดึงคือการผจญภัยในเส้นทางขึ้นเขาต่อเนื่องเป็นทางไกล และการค่อยๆซึมซับกับธรรมชาติตลอด 2 ข้างทาง
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในฐานะหน่วยงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย ได้ให้ความเห็นเรื่องนี้ไว้ว่า นอกจากการศึกษาผลของการมีกระเช้าว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพียงใดแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องทำร่วมด้วยคือศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ตามมา
เช่น เมื่อคนจำนวนมากขึ้นไปข้างบนแล้วจะต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้นเท่าใด เช่น อาคารกลางแหล่งธรรมชาติ รวมถึงการจำกัดคนค้างแรม การจัดการขยะ ต่างๆ ภายใต้สถานภาพความเป็นอุทยานแห่งชาติ ที่มีข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย กำลังคน งบประมาณในการดูแลให้คงสภาพธรรมชาติ
อีกทั้งเมื่อถ้ามีคนขึ้นไปจำนวนมาก “เราพร้อมแล้วหรือไม่ที่จะเปลี่ยนพื้นที่อนุรักษ์ ไปรองรับการบริการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว”
นอกจากนี้ยังมีหนึ่งอาชีพที่เป็นที่คุ้นเคยและเป็นสัญลักษณ์ของภูกระดึง อย่างอาชีพลูกหาบ อนาคตต่อไปพวกเขาจะเป็นอย่างไรหากมีสิ่งอำนวยความสะดวกนี้ขึ้นมา หน้าที่นี้ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ และจะมีหน่วยงานไหนดูแลพวกเขาและครอบครัวได้ในระยะยาว
เรียบเรียงโดย : ยศไกร รัตนบรรเทิง บรรณาธิการ TNNOnline
ภาพ : TNNOnline / ผู้สื่อข่าว จ.เลย