เห็ดพิษระบาดหน้าฝน เผลอกินเข้าไปแล้วต้องทำอย่างไร!
วันนี้ ( 31 ส.ค. 63 )นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้มีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้มีเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยมีทั้งเห็ดที่รับประทานได้และเห็ดที่มีพิษ ซึ่งเห็ดพิษที่พบส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเห็ดระโงกพิษ
ทั้งนี้เห็ดระโงกพิษ ที่พบมาก คือ เห็ดระโงกหิน หรือเห็ดรา หมวกมักมีสีออกเขียว โดยมีลายและครีบเห็ดสีขาว
เห็ดจำพวกนี้จะมีพิษร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต เห็ดบางชนิดคล้ายคลึงกับเห็ดที่รับประทานได้ เช่น เห็ดระโงกขาว หรือไข่ห่าน แต่จะแตกต่างกันคือ เห็ดระโงกพิษจะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนเล็กน้อย มีกลิ่นค่อนข้างแรง
นอกจากนี้ยังมีเห็ดป่าชนิดที่มีพิษรุนแรงคือ เห็ดเมือกไครเหลือง โดยประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิด ที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า ซึ่งยากแก่การสังเกตด้วยตาเปล่า หากประชาชนไม่ทราบหรือไม่แน่ใจว่าเป็นเห็ดพิษหรือไม่ ก็ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดร่วมกับดื่มสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย
สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–24 สิงหาคม 2563 พบผู้ป่วย 1,686 ราย เสียชีวิต 7 ราย (ผู้ป่วยเฉพาะช่วงหน้าฝน เดือนมิ.ย.–24 ส.ค. 63 รวมจำนวน 1,538 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 91.2 ของผู้ป่วยทั้งหมด) ส่วนในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (มิ.ย.–ส.ค. 62) พบผู้ป่วย 989 ราย จากสถานการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าในปี 2563 พบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเกือบเท่าตัว ดังนั้น กรมควบคุมโรค จึงขอย้ำเตือนประชาชนว่า ในช่วงหน้าฝนนี้หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับอาการหลังรับประทานเห็ดพิษ จะคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือถ่ายอุจจาระเหลว ไม่ควรซื้อยากินเองหรือไปรักษากับหมอพื้นบ้าน การช่วยเหลือในเบื้องต้น คือ ลดการดูดซึม และเร่งขับสารพิษจากร่างกาย โดยการใช้ผงถ่านคาร์บอน
จากนั้นรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการรับประทานเห็ดโดยละเอียด พร้อมกับนำตัวอย่างเห็ดพิษไปด้วย และควรให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือนัดติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ
เนื่องจากเห็ดพิษชนิดร้ายแรงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนในช่วงวันแรก แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงตามมาคือ การทำงานของตับและไตล้มเหลว อาจเสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้
สำหรับภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด การนำไปต้มกับข้าวสาร หรือใช้ปูนกินหมากป้ายที่ดอกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษจะกลายเป็นสีดำ เป็นต้น วิธีเหล่านี้ ไม่สามารถเชื่อถือได้ เนื่องจากมีการทดสอบแล้วว่าไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกแล้ว เช่น ต้ม แกง ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline