รีเซต

รู้จัก “แก่งกระจาน” มรดกโลก ที่มีรอยช้ำผ่านหัวใจชาวกะเหรี่ยงบางกลอย

รู้จัก “แก่งกระจาน” มรดกโลก ที่มีรอยช้ำผ่านหัวใจชาวกะเหรี่ยงบางกลอย
Ingonn
27 กรกฎาคม 2564 ( 15:58 )
225
รู้จัก “แก่งกระจาน” มรดกโลก ที่มีรอยช้ำผ่านหัวใจชาวกะเหรี่ยงบางกลอย

 

วันนี้ถือเป็นเรื่องราวดีๆ อีกเรื่องหนึ่งของไทย นั่นก็คือ “ยูเนสโก” ประกาศให้ “ป่าแก่งกระจาน” เป็นมรดกโลก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 44 หลังไทยผลักดันมานานกว่า 6 ปี นับเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 6 และมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของไทย

 

 

 

แต่ในความยินดี ยังคงมีคราบน้ำตาของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน หรือที่เรารู้จักกันว่า กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ที่อาศัยอยู่มายาวนานตั้งแต่ พ.ศ. 2455 และอาจอยู่มานานกว่านี้ด้วยซ้ำ และมีข่าวคราวเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติกับชาวกะเหรี่ยงและภาครัฐ จนเป็นที่มาของ #SAVEบางกลอย

 

 

 

ก่อนจะขึ้นทะเบียนมรดกโลก ทางภาคีเซฟบางกลอย ได้ออกแถลงการณ์ภาคี #SAVEบางกลอยเรื่อง มรดกโลก (ต้อง) ไม่ใช่มรดกเลือด รัฐไทยต้องแก้ปัญหา “สิทธิมนุษยชน” ก่อนขึ้นทะเบียนมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน

 

 

เนื่องจากก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยพยายามนำเสนอข้อมูลผ่านช่องทางการสื่อสาร ย้ำว่าได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี อย่างดีแล้ว จนชาวบ้านสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ รวมถึงมีท่าทีจาก วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างต่อเนื่อง ที่ย้ำว่าการขอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาตินั้น ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็น “สิทธิมนุษยชน” ที่ชาวบ้านและภาคประชาชนกำลังเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา

 

 

 

ทางภาคีเครือข่ายยืนยันว่า ข้อมูลที่รัฐบาลไทยนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกนั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยเราได้รับรายงานว่า ขณะนี้ชาวบ้านประสบปัญหาด้านสุขภาวะและปัญหาปากท้องอย่างหนัก ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมาย และการประกาศพื้นที่ป่าทับซ้อนพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม เจ้าหน้าที่รัฐอาศัยการบังคับใช้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 อย่างเข้มข้น เพื่อกีดกันไม่ให้ชาวบ้านเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ดั้งเดิมของ บรรพบุรุษ ทำให้ชาวบ้าน 34 คน มีอาการป่วยหนัก ตั้งแต่มีอาการแขนขาอ่อนแรง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหัว ความดัน จนถึงไมเกรน กระทบต่อการทำงานหาเลี้ยงชีพ

 

 

 

 

 

 

“จนถึงขณะนี้ปัญหาเหล่านี้ยังไม่ทุเลาลง มีแต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น และสะท้อนให้เห็นชัดเจนขึ้นอีกในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่บ้านบางกลอยนั้นถูกทางการไทยทิ้งไว้ข้างหลังเสมอ”

 

 

จากนั้นได้จัด “กิจกรรมมรดกโลก มรดกเลือด” ขว้างถุงสีแดงใส่ป้ายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ยืนยันว่ามรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน คือ “มรดกเลือด” หลังมีอย่างน้อย 3 ชีวิตต้องสูญเสียจากการต่อสู้เพื่อสิทธิและศักดิ์ของกลุ่มชาติพันธุ์บนผืนป่าแก่งกระจาน

 

 

 

รู้จักอีกมุมของ “แก่งกระจาน”


เมื่อปี 2504 ประเทศไทยได้มี พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติเป็นครั้งแรก ใจความส่วนหนึ่งของหมวดที่ 3 ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองและดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติ ระบุว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดยึดถือหรือครอบครองที่ดิน รวมตลอดถึงการก่นสร้าง แผ้วถาง ถางป่า"

 

 

ปี พ.ศ. 2524 แก่งกระจานถูกประกาศให้เป็น "อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน" ซึ่งจากการประกาศครั้งนี้ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บนป่าแก่งกระจานเป็น ‘ผู้บุกรุก’ ตามกฎหมาย 

 

 

ปี 2539 ทางการจึงเจรจาให้ชาวบ้านในใจแผ่นดินใหญ่และบางกลอย (บน) อพยพย้ายถิ่นลงมายังพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ คือบริเวณหมู่บ้านโป่งลึกและบางกลอย (ล่าง) 

 

 

แต่ชาวบ้านได้อพยพลงมาตามคำเจรจาของเจ้าหน้าที่ แต่ผ่านไปไม่กี่เดือนต้องกลับขึ้นไป เนื่องจากมีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นลานหิน ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก  ชาวบ้านจึงต้องดิ้นรนบนเส้นทางชีวิตใหม่ จากเดิมที่เคยมีวิถีชีวิตเกื้อกูลกันกับผืนป่า

 

 


"ยุทธการตะนาวศรี" เผาป่าไล่กะเหรี่ยงบางกลอย

 

จนในปี 2554  เฮลิคอปเตอร์ฮิวอี้ของทหารตกที่ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ก่อนเฮลิคอปเตอร์อีกสองลำจะตกบริเวณใกล้เคียงกันกับจุดเดิม ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นถึง 17 คน

 

 

เหตุที่เฮลิคอปเตอร์ฮิวอี้ของทหารบินขึ้นฟ้า มาจากเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ขอกำลังเสริมจากทหารให้ไปช่วยรับเจ้าหน้าที่ที่ทำภารกิจบางอย่าง โดยที่ทหารบนเฮลิคอปเตอร์ไม่ได้ไปร่วมภารกิจนี้โดยตรง เพียงแต่ไปตามคำขอความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ 

 

 

เหตุการณ์กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “ยุทธการตะนาวศรี” ของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเพื่อขับไล่ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ใจแผ่นดินและบางกลอย (บน) ด้วยการเผาที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินของชาวบ้าน

 

 

และจากเหตุการณ์นี้ ทำให้เราได้รู้จัก “ปู่คออี้” ซึ่งได้ออกมาปรากฏตัวและเรียกร้องสิทธิของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยว่า บ้านและชุมชนดั้งเดิมถูกเผาทำลาย

 

 


ทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อ้างว่า ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยเป็นชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ ที่เข้ามายึดพื้นที่อุทยาน แต่ความเป็นจริงคือ กลุ่มชาวกะเหรี่ยงบางกลอยเป็นคนไทยดั้งเดิมเชื้อสายกะเหรี่ยง มีบัตรประจำตัวประชาชน เกิดและอาศัยในพื้นที่ “ใจแผ่นดิน” ซึ่งเป็นพื้นที่ดั้งเดิมของบรรพบุรุษ และอาวุธที่พบมีเพียงเครื่องมือทำเกษตรกรรม และปืนแก๊ปยิงสัตว์ขนาดเล็กตามวิถีชาวบ้านในป่าเท่านั้น

 

 


บิลลี่หายสาบสูญ จนสุดท้ายเสียชีวิต


ในปี 2557 จากเหตุยุทธการตะนาวศรี อาจทำให้เรื่องนี้กลายเป็นคดีใหญ่ เพราะถ้าเจ้าหน้าที่อุทยานฯ มีความผิดจริง จะต้องชดใช้ค่าเสียหายและติดคุก ซึ่งทางชาวบ้านกะเหรี่ยงมีความหวังว่าอาจจะชนะคดี เนื่องจากมีพยานปากเอก นั่นคือ “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวกะเหรี่ยง ซึ่งมีอาชีพเป็นสมาชิก อบต.ห้วยแม่เพรียง เป็นคนที่สื่อสารภาษาไทยได้ชัดเจน และเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเองด้วย ดังนั้นย่อมได้รับความน่าเชื่อถือมากเป็นพิเศษ

 

 


แต่ก่อนที่บิลลี่จะไปขึ้นให้การกับศาลแค่ 1 เดือน ก็ได้ถูกนายชัยวัฒน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จับตัวไว้ และหายสาบสูญ จนเป็นเรื่องราวใหญ่โตให้ต้องทำการสืบสวนคดีอย่างยาวนาน โดยภรรยาของนายบิลลี่ ได้แจ้งความโดยชี้ว่านายชัยวัฒน์เป็นลักพาตัวไป และอาจทำการฆาตกรรมไปแล้ว แต่สุดท้ายศาลเพชรบุรียกฟ้องนายชัยวัฒน์เนื่องจากมีหลักฐานไม่เพียงพอ

 

 

 

จนกระทั่งมีค้นพบเจอ กระดูกที่มี DNA ตรงกับแม่ของบิลลี่อยู่ในเขตป่าแก่งกระจาน ดังนั้นจึงเชื่อกันว่า บิลลี่อาจโดนอุ้มฆ่า แต่ก็ไม่มีหลักฐานมากพอที่จะสาวถึงใครได้ และ DSI ก็ไม่เคยสรุปว่ากระดูกดังกล่าวเป็นตัวบิลลี่จริงๆ จึงทำให้บิลลี่หายตัวไปอย่างปริศนา และหาคนร้ายไม่เจอจนถึงวันนี้

 

 

 

นอกจากบิลลี่-พอละจีแล้ว ยังมีอีกหนึ่งความสูญเสียปริศนาคือ ทัศน์กมล โอบอ้อม หรือ อาจารย์ป๊อด ผู้ให้ความช่วยเหลือการฟ้องร้องของชาวกะเหรี่ยง โดยทัศน์กมลถูกยิงเสียชีวิตระหว่างขับรถ แต่ไม่สามารถหาตัวคนผิดได้เช่นกัน

 

 

 

คดียืดเยื้อกันมายาวนานถึง 7 ปี ในที่สุด 12 มิถุนายน 2561 ศาลปกครองสูงสุด ตัดสินคดีว่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ โดยการเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สิน เป็นเหตุทำให้ชาวบ้านต้องสูญเสียปัจจัยในการดำรงชีวิต ต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งสิ้น 300,987 บาท แม้จะได้เงินก้อน แต่ศาลยืนยันว่า ไม่อนุญาตให้ชาวกะเหรี่ยงกลับไปอยู่ในป่า เพราะเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแล้ว ทำให้ชาวกะเหรี่ยงทั้งหมด ต้องมาใช้ชีวิตที่บ้านโป่งลึก และบางกลอยล่าง อย่างไม่มีทางเลือก และไม่ได้จัดสรรที่ดินให้ชาวกะเหรี่ยงสำหรับทำการเกษตร ส่งผลให้ชาวบ้านต้องดิ้นรนทำมาหากิน รับจ้างในเมืองแทนการใช้วิถีชีวิตกับผืนป่า และเมื่อโควิด-19 เริ่มระบาดทำให้ชาวกะเหรี่ยงได้รับความเดือดร้อนและถูกเลิกจ้าง

 

 

 

ทั้งหมดจึงเป็นที่มา #SAVEบางกลอย 


เป็นการต่อสู้ไม่ใช่เฉพาะชาวกะเหรี่ยงบางกลอย แต่เป็นการต่อสู้เพื่อคืนสิทธิและความเป็นธรรมให้ประชาชนที่ถูกกระทำจากรัฐอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ กลุ่มคนชายขอบไร้อำนาจในสังคม ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องแก้ไขปัญหาระดับนโยบาย ตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 และบูรณาการกฎหมายมาใช้ในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

 

 

โดยชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ต้องการให้รัฐบาลคืนสิทธิให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่ต้องการกลับคืนไปยังบ้านเกิดที่ใจแผ่นดิน มีสิทธิในการทำไร่นาตามวิถีชีวิตดั้งเดิม

 

 

สุดท้ายปัญหาเหล่านี้เกิดมาตลอด 25 ปี ตั้งแต่ปี 2539 นับตั้งแต่อุทยานแห่งชาติพยายามร้องขอให้ชาวบ้านลงมาจากพื้นที่ทำกิน แต่ยังเป็นพื้นที่ที่มีกฎหมายทับซ้อนกันมากมาย ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจัดการกับชาวบ้านได้ และแม้จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขปัญหาก็ไม่มีการประชุมหรือมีมติให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมสักที

 

 

 

 

ข้อมูลจาก thecitizen , ภาคีSaveบางกลอย , workpointtoday , thepeople , the mob

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง