เห็ดมือผี คืออะไร ถ้าเจอที่บ้านแปลว่าโชคดีหรือโชคร้าย?
เห็ดมือผี ... แค่ชื่อก็น่ากลัวแล้วใช่ไหมล่ะ เพราะรูปร่าง ลักษณะของเห็ดมือผี ก็แตกต่างจากเห็ดทั่วไปบ้านๆ ที่เราเคยพบเห็น แถมยังส่งกลิ่นเหม็นเน่า เหมือนซากศพอีกด้วย และช่วงนี้คนไทยหลายพื้นที่มักพบเห็ดชนิดนี้ขึ้นเองตามธรรมชาติ จนทำให้เกิดกระแสการขอพร ขอโชคลาภ จากเห็ดมือผีกันยกใหญ่ วันนี้ TrueID จะพามารู้จัก “เห็ดมือผี” กัน
เห็ดมือผี คืออะไร?
เห็ดมือผี หรือชื่อจริงๆของมันก็คือ เห็ดเขาเหม็น (Stinkhorns) เป็นชื่อเรียกกลุ่มเห็ดหนึ่งที่มีลักษณะสำคัญคือ เมื่อดอกอ่อนดอกเห็ดจะมีผิวเป็นเยื่อห่อหุ้มทำให้มีลักษณะกลมคล้ายกับลูกชิ้นหรือลูกปิงปอง แต่เมื่อแก่ผนังหุ้มดังกล่าวจะฉีกขาดออกทำให้โครงสร้างดอกเห็ดภายในเจริญออกมาและมีรูปร่างได้หลากหลายตามแต่ละสกุล แต่ที่สำคัญคือบริเวณด้านบนของดอกเห็ดจะมีเมือกสีน้ำตาลหรือเขียวขี้ม้าหรือดำที่มีกลิ่นเหม็นมากหรือคล้ายกับกลิ่นซากสัตว์ อันเป็นที่มาของคำว่า “เหม็น” หรือ “stink” ส่วนคำว่า “เขา” หรือ “horn” นั้นมาจากลักษณะของเห็ดสกุลหนึ่งในกลุ่มนี้ที่มีลักษณะเป็นแท่งคล้ายเขาสัตว์ เมื่อเอาลักษณะเด่น 2 ประการนี้มารวมกันจึงเกิดเป็นชื่อเรียกใหม่ที่ว่า “เห็ดเขาเหม็น” หรือ “stinkhorns” นั่นเอง
เห็ดเขาเหม็น มีเนื้อผิวสีขาว หรือเรียกได้ว่าเห็ดมือขาว (Anthurus brownii J.M. Mend.) หรือบางแหล่งข่าวอาจให้ชื่อว่าเห็ดนิ้วมือคนตาย เห็ดชนิดนี้มีลักษณะดอกอ่อนรูปไข่ กว้าง 3 – 4 ซม. สูง 2 – 3 ซม. สีขาวหรือครีม โคนดอกมีเส้นใยสีขาวคล้ายเชือก 1 เส้นชอนไชไปในเศษซากอินทรียวัตถุที่เห็ดขึ้น
เมื่อแก่เยื่อหุ้มดอกจะฉีกขาดตัวดอกเห็ดสีขาวมีรูพรุนคล้ายฟองน้ำโผล่ขึ้นมา มีลักษณะคล้ายมือที่ปลายนิ้วเชื่อมติดกันและจะแยกออกจากกันเป็น 6 แฉกหรือ 6
“เห็ดมือผี” มักขึ้นที่ไหน
เห็ดเขาเหม็นเป็นเห็ดที่มีบทบาทเป็นผู้ย่อยสลายอินทรียวัตถุ (saprophytic mushrooms) ที่สามารถพบได้ตามพื้นดินที่มีฮิวมัส (humus) ทับถมและมีความชื้นสูง มีรายงานการพบได้บ่อยครั้งตามโคนต้นไม้ที่มีการให้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมัก ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมตามบ้านคนที่มีการดูแลต้นไม้ใส่ดินและปุ๋ยอินทรีย์อยู่เป็นประจำจึงสามารถพบเห็ดกลุ่มนี้ได้
นอกจากนั้นการกระจายของเห็ดเขาเหม็นพบได้ทั่วไปในเขตร้อนชื้น (tropical zones) อาจพบบ้างในป่าเขตอบอุ่น (temperate zones)
ในประเทศไทยมีรายงานเห็ดกลุ่มนี้อยู่หลายสกุล เช่น Anthurus Aseroe Clathrus Colus Dictyophora Mutinus Phallus และ Pseudocolus และ Simblum ( = Lysurus [current name]) (อุทัยวรรณและคณะ, 2556)
สำหรับชนิดที่พบบ่อยในประเทศไทย อาทิเช่น เห็ดเยื่อไผ่ (Phallus indusiatus Vent.) เห็ดมือขาว (Anthurus brownii J.M. Mend.) เห็ดปลาหมึก (Aseroe arachnoidae E. Fisch.) เห็ดหน่อไม้แดง/เขาเหม็นแดง (Mutinus bambusinus (Zoll.) E. Fisch.) เป็นต้น
เห็ดเยื่อไผ่ (Phallus indusiatus Vent.) พบได้ทั่วประเทศตามพื้นดินที่มีอินทรียวัตถุทับถมหนาแน่นและมีความชื้นสูง
เห็ดปลาหมึก (Aseroe arachnoidae E. Fisch.)
เห็ดมือผี กินได้ไหม?
เห็ดกลุ่มนี้ส่วนมากไม่มีข้อมูลว่ารับประทานได้หรือไม่ ยกเว้น เห็ดเยื่อไผ่ (Phallus indusiatus Vent.) ที่มีการนำมารับประทานกันอย่างแพร่หลายในเมนู “ซุบเยื่อไผ่” ที่เราคุ้นเคย โดยนำเอาดอกเห็ดแก่ที่แทงดอกออกมาจากเยื่อหุ้มแล้วมาตัดหมวกและโคนก้านที่มีเมือกกลิ่นเหม็นออกให้หมด จากนั้นทำความสะอาดให้สีและกลิ่นหลุดออกไปให้หมดจึงจะนำมาปรุงอาหารได้
ความเชื่อเรื่อง “เห็ดมือผี”
เรามักจะเห็นคนไทยมักกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีรูปร่าง หรือลักษณะที่แตกต่างจากธรรมชาติ ตามความเชื่อส่วนบุคคล แต่จากการค้นพบของสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สามารถบอกได้ว่า เห็ดมือผีนั้นแท้จริงเป็นเพียงแค่เห็ดรูปร่างประหลาดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ซึ่งในธรรมชาติสามารถพบเห็ดที่มีรูปร่างแปลกประหลาดได้ตลอดเวลา