สุดทน 'ชาวประมงสมุทรสาคร' แถลง 7 จุดยืน 'หมดความเชื่อถือ' ถูกรัฐไทยหลอก ซ้ำแล้วซ้ำอีก
เมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่ จ.สมุทรสาคร นายมงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร พร้อมด้วย คณะกรรมการบริหารสมาคมการประมงสมุทรสาคร และสมาชิกกว่า 200 คน รวมตัวกันที่บริเวณริมเขื่อน หน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เวลาประมาณ 16.30 น. เพื่อประกาศเจตนารมณ์ แถลงจุดยืนความเคลื่อนไหวในการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเร่งด่วนตามที่ชาวประมงได้ยื่นหนังสือให้กับรัฐบาล หลังจากนั้นได้เปิดเวทีปราศรัยจากใจชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU)
ซึ่งในเวทีปราศรัยนั้น นอกจากจะมีการติดป้ายว่า “ชาวประมง ขอขายเรือประมงคืนให้รัฐบาล พวกเราทำไปไม่ไหวแล้ว” ยังมีการเชิญตัวแทนของกลุ่มชาวประมง และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องภาคประมงต่อเนื่อง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิด้านประมง มาพูดคุยกันถึงสภาพปัญหาด้านต่างๆ ด้วย
ทั้งนี้ เหตุที่ชาวประมงสมุทรสาครมารวมตัวกันตั้งเวทีปราศรัย เพราะขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาลชุคปัจจุบันกับการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาวประมงแล้ว ทั้ง เรื่องที่รับปากว่าจะดำเนินการให้เพื่อผ่อนคลายมาตรการทางกฎหมายแก่ชาวประมง เรื่องของการรับซื้อเรือคืน หรือเรื่องของการช่วยเหลือพี่น้องชาวประมง เป็นต้น ซึ่งทุกเรื่องนั้นชาวประมงมองว่ากำลังถูกหลอกให้หลงเชื่อซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่รัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาอย่างบริสุทธิ์ใจ
นายมงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร กล่าวว่า เวทีปราศรัยที่จัดขึ้นนี้ ก็เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนของพี่น้องชาวประมงต่อข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ที่ต้องการให้รัฐบาลมาดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ประกอบด้วย
1.แก้ไขประกาศการแจ้งเรือเข้า-ออก และค่าธรรมเนียมระบบติดตามเรือ (VMS)
2.ขอให้รัฐบาลรับซื้อเรือประมงที่ประสงค์ขายคืนรัฐ เรือที่ได้แจ้งความประสงค์ไว้ จำนวน 2,505 ลำ เพื่อนำเรือออกนอกระบบโดยเร็ว
3. ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการช่วยเหลือชาวประมงในโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับชาวประมงโดยเร่งด่วน ผ่านมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2563
4.ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการประมงทั้งหมดหยุดออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวประมงมาเพิ่มเติมขึ้นอีก (ยกเว้นการออก กฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งที่ผ่อนคลายปัญหาให้กับชาวประมง)
5. ขอให้มีการเสนอแก้ไขกฎหมายพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยเร่งด่วน ในช่วงที่มีการประชุมสภานิติบัญญัตินี้, 6.ขอให้ยกเลิก แก้ไข กฎ ระเบียบต่างๆ ที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่ส่งผลกระทบกับชาวประมงที่เป็นอยู่โดยเร็ว
และ 7.ขอให้รัฐยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าที่อนุญาตเลี้ยงหอยแมลงภู่ในทะเล
นายมงคลกล่าวอีกว่า ทางชาวประมงสมุทรสาครและชาวประมง 22 จังหวัดทั่วประเทศ จะรอจนถึงวันที่ 18 กันยายนนี้เท่านั้น หากรัฐบาลไทยยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องทั้ง 7 ข้อ ชาวประมงจากสมาคมต่างๆ จะรวมตัวกันยกระดับการชุมนุมที่รุนแรงขึ้น แต่จะเป็นรูปแบบใดนั้นต้องมีการประชุมหารือกันอีกครั้ง ทั้งนี้ กลุ่มชาวประมงจะไม่เข้าไปสมทบกับการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายนที่จะมีขึ้น แต่หากใครเข้าไปร่วมในการชุมนุมวันที่ 19 กันยายนนั้น ก็ถือเป็นการไปด้วยความสมัครใจและสิทธิส่วนบุคคลของแต่ละคน ยังไม่ใช่การชุมนุมของกลุ่มพี่น้องชาวประมงทั่วประเทศ
ขณะที่ ดร.วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประมงของสมาคมการประมงสมุทรสาคร เผยว่า ทุกวันนี้เห็นเรือประมงที่จอดอยู่แล้วรู้สึกสลดใจเป็นอย่างมาก เพราะเรือประมงแต่ละลำนอกจากจะมีมูลค่าการลงทุนที่มหาศาลแล้ว ยังถือเป็นการบ่งบอกถึงอาชีพหลักของพี่น้องชาวสมุทรสาครที่ทำกันมาอย่างยาวนาน แต่ต้องมาสิ้นสุดในรัฐบาลยุคปัจจุบัน เพราะความไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมงนั่นเอง ซึ่งตอนนี้ตนเองและชาวประมงสมุทรสาคร ยังมองไม่เห็นทางออก หรือทางรอดเลย นอกจากการขายเรือให้รัฐบาลมารับซื้อคืนไปเท่านั้น แต่หากในอนาคตถ้ามีรัฐบาลชุดใหม่ที่เปิดใจรับฟังปัญหาของพี่น้องชาวประมงอย่างจริงใจและพร้อมจะแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของพี่น้องชาวประมงนั้น อาชีพการทำประมงไทยก็อาจจะฟื้นตัวกลับคืนมาได้อีกครั้ง