รีเซต

ร้านอาหาร เปลี่ยนเมนูอัพราคาเพิ่ม 5-10 บาทสู้ต้นทุนแพง

ร้านอาหาร เปลี่ยนเมนูอัพราคาเพิ่ม 5-10 บาทสู้ต้นทุนแพง
มติชน
18 มีนาคม 2565 ( 11:37 )
48

ข่าววันนี้ นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า การที่กรุงเทพมหานคร(กทม.)คลายล็อกให้ดื่มแอลกอฮอล์ ในห้าง งานสัมมนา โรงแรม งานจัดเลี้ยงได้ถึง 23.00 น.จะมีผลทางจิตวิทยาอยากให้คนอยากจัดกิจกรรมและช่วยให้บรรยากาศร้านอาหารคึกคักมากขึ้น จากเดิมให้ดื่มในร้านอาหารได้อยู่แล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งการจัดเลี้ยงในร้านอาหารหลังเลิกงานหรือการประชุมในช่วงเย็น ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้มากกว่าช่วงกลางวัน เพราะลูกค้ามาทานอาหารส่วนใหญ่เป็นองค์กรหรือบริษัทมีกำลังซื้อมากกกว่า

 

รัฐคลายล็อกบรรยากาศเริ่มคึก

“หลังรัฐคลายล็อกธุรกิจร้านอาหารเริ่มฟื้นตัว มีผู้ประกอบการกลับมาเปิด 60-70% จากเดิมเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาผลกระทบจากโควิดทำให้ธุรกิจร้านอาหารซบเซายอดขายหายไปกว่า 50% “

 

นางฐนิวรรณกล่าวว่า สมาคมมีข้อเสนอต่อภาครัฐกรณีคลายล็อกเปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ เพื่อให้เศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศเดินหน้าต่อไปได้ท่ามกลางการระบาดโควิด อยากให้รัฐมีการตรวจสอบมาตรฐานด้านสุขอนามัยและทำมาตรการสำหรับร้านอาหารภายในสถานที่ดังกล่าว เหมือนที่สมาคมทำมาตรฐานSHAและSHA Plus เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยคลัสเตอร์ทองหล่อ เพราะสถานบันเทิงส่วนใหญ่จะเป็นสถานที่อับ การแพร่ระบาดจะง่าย จึงมีโอกาสที่จะติดเชื้อสูง ขณะเดียวกันไม่เห็นด้วยจะให้เลิกขายแอลกอฮอล์ในบางช่วงเวลา เพราะเป็นเรื่องมีการผลักดันกันมานานกว่าจะมีกฎหมายออกมาบังคับใช้ และปัจจุบันช่องทางการซื้อขายง่ายกว่าสมัยก่อนมาก

 

ราคาขยับ5-10 บาท/เมนู

นางฐนิวรรณกล่าวว่า จากต้นทุนการผลิตอาหารเพิ่มขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมัน อาหารสัตว์เลี้ยง ค่าขนส่ง ค่าก๊าซที่รัฐจะเลิกตรึ่งราคา กระทบต่อวัตถุดิบอารหารปรับตัวสูงขึ้นตามนั้น ล่าสุดจากการสำรวจผู้ประกอบการร้านอาหารพบว่าไม่ได้ปรับราคาขึ้นโดยตรง แต่มีการออกเมนูใหม่เป็นเมนูพิเศษและปรับราคาขายเพิ่มขึ้นเมนูละ 5-10% เพื่อบาลานซ์ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ เดิมขายชามละ 50 บาท จะเพิ่มเมนูพิเศษเป็นเย็นตาโฟทะเลหรือเย็นตาโฟพิโรธ ขายราคาชามละ 60-70 บาท

 

ขอรัฐตรึงค่าก๊าซ-ต่อคนละครึ่ง

นอกจากนี้สมาคมจะยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร ในเรื่องบรรเทาภาระต้นทุน ซึ่งปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นทุกอย่าง ทั้งของสด ผัก หมู ไก่ น้ำมันพืช โดยเฉพาะก๊าซหุงต้ม จะขอให้รัฐตรึ่งราคา 318 บาทต่อถังต่อ จากเดิมจะปรับขึ้น 15 บาทต่อถังวันที่ 1 เมษายนนี้ หรือหากตรึ่งไม่ได้ก็ขอให้ทยอยปรับ ไม่ใช่ขึ้นพรวดเดียว รวมถึงจะขอให้มีโครงการคนละครึ่งเฟส 5 วงเงิน 1,500 บาท เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยเพราะที่ผ่านมาได้ผลจริงๆ

 

กระเบื้องปูพื้น-มุงหลังคาปรับยกแผง

นายสุทิน ยุทธนาวราภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหโมเสคอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน)หรือUMI ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกระเบื้องดูราเกรสและเซอเกรส เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีทยอยแจ้งผู้ค้าและตัวแทนจำหน่าย จะปรับราคาขายกระเบื้องให้สอดรับกับต้นทุนที่สูงขึ้น 5% จากปัจจัยภายนอกเหนือการควบคุมทั้งค่าพลังงาน ค่าขนส่ง วัตถุดิบนำเข้า และอัตราแลกเปลี่ยน โดยกระเบื้องผลิตในประเทศปรับขึ้นเฉลี่ย 3-5% กระเบื้องนำเข้าปรับขึ้นเฉลี่ย 10-15% หลังไม่ได้ปรับราคามา 5 ปี


“กระเบื้องนำเข้าปรับราคาสูง เพราะได้รับผลกระทบจากต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติหรือLNG ที่ใช้ผลิต ปรับสูงขึ้น 30-50% ตามราคาน้ำมันโลก ซึ่งต้นทุนมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ใน 6 เดือนนี้ต้องกลับมาพิจารณาราคาขายกันอีกครั้ง ที่ผ่านมาเราพยายามลดต้นทุนโดยลดความซ้ำซ้อนด้านการผลิตและลดการใช้ก๊าซ และผลิตกระเบื้องไซซ์ใหญ่ออกสู่ตลาดมากขึ้นแทนการปรับราคา ”

 

นายสุทินกล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางตลาดในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตจากปีก่อน 6-7% มียอดขายอยู่ที่ 17-18 ล้านตารางเมตรหรือประมาณ 2,500 ล้านบาท แต่เป็นการคาดการณ์ก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่หลังเกิดสงครามคงต้องรอดูปัจจัยบวกจะมาหนุน

 

นายอุฬาร เกรียวสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กระเบื้องโอฬาร จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องมุงหลังคาตราลูกโลก เปิดเผยว่า จากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น 10-20% เมื่อกุมภาพันธ์ได้แจ้งผู้ค้าปรับราคาขายกระเบื้องมุงหลังคาลอนคู่ชนิดสี 5-10% จาก 40 บาทต่อแผ่น เป็น 45 บาทต่อแผ่น เพราะเคมีสีนำเข้าปรับขึ้นทุกรายการ บางรายการขึ้น 300% ก่อนหน้านี้บริษัทมีสต๊อกวัตถุดิบเก่าทำให้ราคายังไม่ปรับราคา ซึ่งขณะนี้สต๊อกเริ่มหมดและขาด ต้องซื้อเพิ่มจึงต้องปรับราคาขึ้นตามต้นทุนใหม่ ขณะที่กระเบื้องมุงหลังคาซีเมนต์ลอนคู่ชนิดขาว ยังตรึงราคาอยู่ที่ 28-29 บาทต่อแผ่น เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคในภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวและกำลังซิ้อซบเซา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง