เปิดข้อมูล รถยนต์ส่วนบุคคล ขับรับ-ส่งผู้โดยสาร ให้บริการผ่านแอปฯ
การบริการรับส่งผู้โดยสารผ่านแอปฯก่อนหน้านี้เป็นปัญหา ไม่ว่าจะเรื่องของกฏหมาย และความขัดแย้งระหว่างผู้ขับรถส่วนตัวรับส่งผู้โดยสารผ่านแอปฯ กับ ผู้ขับแท็กซี่จนเป็นเรื่องเป็นราวกันอยู่บ่อยๆ การนำรถยนต์ส่วนตัวมาให้บริการดังกล่าวกำลังจะกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายแล้ว หลังจาก ครม. ได้อนุมัติร่างกฎกระทรวงรถยนต์นั่งส่วนบุคคล จะสามารถให้บริการผ่านแอปได้อย่างถูกกฎหมาย วันนี้ TrueID ขอนำข้อมูลว่าด้วยการขับรถส่วนส่วนตัวเพื่อรับส่งผู้โดยสารผ่านแอปฯต่างๆ มาให้ทุกท่านแล้ว
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ทางกระทรวงคมนาคมได้เผยว่าร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่อภาครัฐจะได้เข้ามาควบคุม ตรวจสอบการให้บริการ และสร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารได้ โดยมีกฎดังนี้
รายละเอียดสำหรับรถที่นำมาใช้รับส่ง
สำหรับรายละเอียดในการดำเนินการของรถยนต์ส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทเป็นรถยนต์รับจ้างนั้น จะใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคลเดิม โดยให้นายทะเบียนเปลี่ยนประเภทการจดทะเบียน เป็นรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในใบคู่มือจดทะเบียนรถ ขณะที่ ตัวรถ จะต้องมีอายุใช้งานได้ไม่เกิน 9 ปี แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1.ขนาดเล็ก (เครื่องยนต์ 50-90 kW) เช่น March, Vios, City, Mirrage เป็นต้น
2.ขนาดกลาง (เครื่องยนต์ 90-120 kW) เช่น Altis, Civicเป็นต้น
3.ขนาดใหญ่ (เครื่องยนต์มากกว่า 120 kW) เช่น Accord, Fortuner เป็นต้น ทั้งนี้ จะมีลักษณะเป็นรถเก๋ง, แวน สองตอน หรือสามตอนก็ได้
โดยจะต้องมีการทำประกันภัยเพิ่มเติมคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้โดยสาร และติดเครื่องหมายแสดงการใช้แอปพลิเคชันด้วย
กำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารและค่าบริการอื่นสำหรับรถยนต์รับจ้าง ดังนี้
– รถยนต์รับจ้างขนาดเล็กและขนาดกลาง คิดค่าบริการตามระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก ไม่เกิน 50 บาท กิโลเมตรต่อไป กิโลเมตรละไม่เกิน 3 บาท รถติดหรือรถไม่เคลื่อนที่ นาทีละไม่เกิน 3 บาท (ไม่เกินอัตราค่าบริการของแท็กซี่ในปัจจุบัน) หากเรียกผ่านศูนย์บริการหรือะบบทางอิเล็กทรอนิกส์ คิดค่าบริการไม่เกิน 50 บาท
– รถยนต์รับจ้างขนาดใหญ่ คิดค่าบริการตามระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก ไม่เกิน 200 บาท กิโลเมตรต่อไป กิโลเมตรละไม่เกิน 50 บาท รถติดหรือรถไม่เคลื่อนที่ นาทีละไม่เกิน 10 บาท หากเรียกผ่านศูนย์บริการหรือระบบทางอิเล็กทรอนิกส์ คิดค่าบริการไม่เกิน 100 บาท (ไม่เกินอัตราค่าบริการของแท็กซี่ VIP ในปัจจุบัน)
- กำหนดให้แผ่นป้ายทะเบียนรถของรถยนต์รับจ้าง ให้ใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คนเดิม โดยให้นายทะเบียนเปลี่ยนประเภทการจดทะเบียนเป็นรถยนต์รับจ้างในใบคู่มือจดทะเบียนรถ
- กำหนดให้รถยนต์รับจ้าง ต้องมีการตรวจสภาพตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ต้องรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยทั้งภายนอกและภายในตัวรถเป็นอย่างดี รวมทั้งกำหนดให้ผู้ขับรถยนต์รับจ้างต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยและรัดกุม
ในส่วนของคนขับรถ
- จะต้องมีใบขับขี่สาธารณะ
- ผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)
- ใช้แอปพลิเคชันของผู้ให้บริการแอปพลิเคชันที่ผ่านการรับรองจาก ขบ.
- จะต้องมีระบบยืนยันตัวตน เช่น Pin Code, Fingerprint, Face Scan เป็นต้น อีกทั้ง
- มีระบบคํานวณเส้นทาง ระยะเวลา และค่าโดยสารโดยประมาณ
- มีระบบรับส่งข้อความ/โทรศัพท์กับผู้โดยสาร
ในส่วนของผู้โดยสาร (Passenger Application)
- มีระบบลงทะเบียนผู้โดยสาร
- ระบบเรียกใช้งานรถยนต์รับจ้างแบบทันทีและแบบจองล่วงหน้า
- รวมถึงมีระบบคํานวณเส้นทาง ระยะเวลา และค่าโดยสารโดยประมาณ
- ระบบประเมินความพึงพอใจต่อผู้ขับรถ
- ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน
สำหรับคุณสมบัติของผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน
- จะต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย
- มีทุนจดทะเบียนตามที่กำหนดในประกาศ (ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท)
- ต้องมีสถานที่ประกอบการในประเทศไทย รวมถึงมีความพร้อมในการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
- ต้องไม่เคยถูกเพิกถอนในการได้รับอนุญาตเป็นผู้ให้บริการระบบ GPS ตามกฎหมายของ ขบ.
ทุนจดทะเบียนของบริษัทผู้ให้บริการแอปพลิเคชันในประเทศไทย
จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า
- บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด (Grab) มีทุนจดทะเบียน 2.87 พันล้านบาท
- บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Robinhood) มีทุนจดทะเบียน 900 ล้านบาท
- บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด (Food Panda) มีทุนจดทะเบียน 204 ล้านบาท
- บริษัท เวล็อคซ์ จำกัด (Gojek) มีทุนจดทะเบียน 104 ล้านบาท
- บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด มีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท
ภาพโดย Jan Macarol จาก Pixabay
ข้อมูล : กรมขนส่งทางบก , กระทรวงพาณิชย์