รีเซต

เวียดนามแซงไทยไปแล้ว! แบงก์ชาติเปิดแผลเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด ทั้งส่งออก-ลงทุนแพ้ราบคาบ

เวียดนามแซงไทยไปแล้ว! แบงก์ชาติเปิดแผลเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด ทั้งส่งออก-ลงทุนแพ้ราบคาบ
ข่าวสด
18 พฤศจิกายน 2564 ( 15:41 )
45
เวียดนามแซงไทยไปแล้ว! แบงก์ชาติเปิดแผลเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด ทั้งส่งออก-ลงทุนแพ้ราบคาบ

 

เวียดนามแซงไทยไปแล้ว! แบงก์ชาติเปิดแผลเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด ทั้งส่งออก-ลงทุนแพ้ราบคาบ เร่งยกระดับแรงงาน ประคองจีดีพีหนี 3%

 

เวียดนามแซงไทยไปแล้ว - นายเศรษฐพุฒิ สุทธินาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Looking Beyond Covid-19 : โจทย์ที่ท้าทายของเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด-19” ว่า 40 ปีผ่านมา โครงสร้างเศรษฐกิจไทยก็ยังคล้ายๆ เดิม ยังพึ่งพาการส่งออกในภาคเศรษฐกิจเดิมๆ คือ ยานยนต์ ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และการท่องเที่ยว ขณะที่บริบทของโลกกลับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยอาจจะไม่แข็งแรงเหมือนเดิม

 

โดยเห็นได้จากการส่งออก ปัจจุบันเวียดนามแซงไทยไปแล้ว โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวสูงกว่าไทย 6 เท่า และปีที่ผ่านมา ส่งออกได้มากกว่าไทยถึง 5 หมื่นล้านเหรียญ นอกจากนี้ การส่งออกของภาคอุตสาหกรรมไทย 60% ยังอยู่ในอุตสาหกรรมโลกเก่า ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ หรือ market capitalization ในปัจจุบัน ก็สะท้อนว่าธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมเกือบ 30% ยังอยู่ในหมวดพลังงาน เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร

 

ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เวียดนามแซงหน้าไทยไปแล้วเช่นกันตั้งแต่ปี 2557 และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา FDI ของเวียดนามสูงกว่าไทยเกือบ 2 เท่า โดย FDI ของไทยที่ลดลงนี้เป็นผลจากความน่าสนใจของไทยที่น้อยกว่าคู่แข่งในภูมิภาค ทั้งด้านต้นทุนและคุณภาพแรงงาน โครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางการค้า

 

ส่วนภาคการท่องเที่ยว มีโอกาสต้องใช้เวลานาน ที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับไปเท่ากับช่วงก่อนโควิดที่ 40 ล้านคน เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวหลังโควิด-19 จะเน้นเรื่องสุขภาพและสุขอนามัย ทำให้นิยมเที่ยวกลุ่มเล็ก รวมทั้งจะใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น

 

ดังนั้น การจะหวังพึ่งรายได้การท่องเที่ยวที่มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูงย่อมเป็นไปได้ยาก อีกทั้งยังจะก่อให้เกิดปัญหาเรื่อง over-tourism ซึ่งล่าสุด จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันในภาคการท่องเที่ยวของ World Economic Forum ด้านสิ่งแวดล้อม ไทยอยู่ในอันดับที่ 130 จาก 140 ซึ่งสะท้อนผลกระทบที่ชัดเจนจากรูปแบบการท่องเที่ยวเดิมๆ ในช่วงที่ผ่านมา

 

“หากไม่เร่งยกระดับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ เราอาจเห็นเศรษฐกิจไทยโตในอัตราที่ชะลอลงเรื่อยๆ และถ้ามองไปใน 10-20 ปีข้างหน้า จำนวนแรงงานของไทยจะลดลงมาเป็นปีละ -1% หากเราไม่ปรับในเรื่องของประสิทธิภาพแรงงานให้เพิ่มขึ้น ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะเหลือเพียงปีละ 3% ก็คือ -1% บวก 4% และแนวโน้มมองไปข้างหน้า ถ้าไม่มีการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานต่างๆ ขณะที่สังคมยิ่งเข้าสู่สังคมสูงวัยไปเรื่อยๆ ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย จะยิ่งชะลอตัวลงจากจำนวนแรงงานจะหดตัวมากขึ้นเรื่อยๆ”

 

 

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ไทยไม่สามารถเศรษฐกิจโตแบบเวียดนาม หรือ เกาหลีใต้ ได้ แต่ต้องโตแบบไทย เน้นด้านที่ไทยมีศักยภาพในการต่อยอด โดยเอาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์มาเป็นจุดแข็ง ไทยมีความพร้อมทางด้านทุนวัฒนธรรมที่สะสมอยู่มากและมีความหลากหลายสูง ทั้งอาหาร แหล่งท่องเที่ยว และศิลปหัตถกรรม ซึ่งสามารถนำมาต่อยอด เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ บางเรื่องอาจดูจากประสบการณ์ต่างประเทศ และในภาพรวม ต้องปรับให้สอดคล้องกับกระแสใหม่อย่างทันการณ์

 

ซึ่งในระยะข้างหน้า จะมีอย่างน้อย 2 กระแสคือ 1. กระแสดิจิตอลที่จะเข้ามาเปลี่ยนการใช้ชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจอย่างสิ้นเชิง และ 2. sustainability โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลเร็วและแรงกว่าคาด ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้ภัยธรรมชาติเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น รวมถึงผลกระทบจากนโยบายต่างๆ ของประเทศพัฒนาแล้วในการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน

 

ในส่วนของภาครัฐ จะต้องปรับสู่โหมด facilitator ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเองมากขึ้น เพื่อสร้างระบบนิเวศหรือ ecosystem ที่สนับสนุนและผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับตัว และเศรษฐกิจโตอย่างเข้มแข็ง ซึ่งเป็นบทบาทที่ภาคส่วนอื่นๆ ทำไม่ได้ โดยมีสองส่วน ส่วนแรก คือ การตั้งธง หรือวางทิศทางนโยบายให้ชัดเจน เพื่อให้ภาคธุรกิจเห็นภาพเดียวกันและวางแผนปรับตัวได้ และมีกลไกสนับสนุน โดยเฉพาะการปรับตัวเข้าสู่กระแสดิจิตอลและความยั่งยืนที่อาจต้องเพิ่มแรงจูงใจให้เร่งทำ

 

ส่วนที่สอง คือการเร่งวางรากฐานเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและประชาชน เช่น การปรับกฎระเบียบต่างๆ (Regulatory guillotine) การเร่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาทิ ระบบคมนาคม digital infrastructure และระบบการศึกษา ให้สอดรับกับการปรับตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงเร่งขยายนโยบายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น FTA เพื่อเพิ่มความน่าสนใจของไทยให้กับบริษัท?ข้ามชาติ (MNCs) และสามารถขยายตลาดส่งออกของเราได้

 

ในส่วนของ ธปท. เองในฐานะผู้กำกับดูแลระบบการเงินก็ต้องปรับตัวเช่นกัน โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทในการเป็น facilitator และลดความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงช่วยเอื้อให้ทุกภาคส่วน ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงภายใต้กระแสดิจิทัลและความยั่งยืนที่กำลังจะมาถึง

 

ปัจจุบัน ธปท. กำลังเร่งวาง future financial landscape เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ผ่านการเพิ่มการแข่งขัน ในขณะเดียวกัน ก็ต้องช่วยผู้ให้บริการทางการเงินในการปรับตัว รวมทั้งสร้างความยืดหยุ่นให้ระบบการเงินสามารถรองรับ shock ได้ดีขึ้น

 

ซึ่งคาดว่าจะเห็นภาพชัดขึ้นในต้นปีหน้า ภายใต้ landscape นี้ ธปท. จะปรับแนวทางการดูแลระบบการเงินจากการเน้นเรื่อง stability มาให้น้ำหนักกับ resiliency โดยเน้นการรักษาสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมทางการเงินและการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์สำคัญ คือ การเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนและ SMEs ให้ดีขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง