รีเซต

"วอร์รูมน้ำท่วม" จาก 2554 ถึง 2567 ไทยพร้อมรับมืออุทกภัยมากขึ้นแค่ไหน

"วอร์รูมน้ำท่วม"  จาก 2554 ถึง 2567 ไทยพร้อมรับมืออุทกภัยมากขึ้นแค่ไหน
TNN ช่อง16
27 สิงหาคม 2567 ( 07:58 )
35

บทเรียนจากน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 ที่สร้างบาดแผลและความเสียหายต่อชีวิตรวมไปถึงทรัพย์สินของประชาชน ผ่านไป 13 ปี เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายฝนกลางเดือนสิงหาคม 2567 เริ่มปรากฏภาพน้ำหลากเข้าท่วมประเทศไทยตอนบนทั้งเชียงราย แพร่ น่าน จนกระทั่งมวลน้ำเริ่มเข้าสู่ จ.สุโขทัย ทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่าน้ำจะท่วมใหญ่เทียบเท่าปี 2554 หรือไม่ 


ขณะที่การรับมือของรัฐบาลยังทำไม่ได้เต็มที่ 100% เพราะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเข้าสู่รัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอชื่อ ครม.ชุดใหม่ การทำหน้าที่ในขณะนี้  จึงเป็นการทำหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีรักษาการ  ซึ่งหากย้อนไปเมื่อช่วงเวลาใกล้เคียงกันเมื่อ 13 ปีก่อน ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ต้องรับมือกับมวลน้ำจากพายุ 5 ลูก ขณะเพิ่งเข้ารับหน้าที่นายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ก่อนที่  2 เดือนต่อมาในวันที่ 8 ตุลาคม 2554 ได้ประกาศจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) หรือ ‘วอร์รูมน้ำ’ บัญชาการแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ ที่สนามบินดอนเมือง 

 

โดย “วอร์รูมน้ำ” ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถือเป็นหน่วยบัญชาการที่ร่วมงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) ทั้งการวางแผนรับมือ ระดมความช่วยเหลือทั้งรับบริจาค และ กระจายของ รวมไปถึงการเยียวยา แต่ วอร์รูมน้ำ ในยุคนั้นทำได้เพียงการตั้งรับมวลน้ำมหาศาลที่สะสมมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนหน้า จึงกลายเป็นความสูญเสียมูลค่ามหาศาลสูงสุดในประวัติศาสตร์  


ส่วนปี 2567 แม้จะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่บทเรียนจาก ปี 2554 ทำให้การรับมือกับปัญหาน้ำท่วมรอไม่ได้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีเรียกประชุมฉุกเฉินของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อทบทวนแผนงานที่เคยได้มีการกำหนดไว้ในช่วงที่ผ่าน  ขอให้กระทรวงมหาดไทยตั้งศูนย์เฉพาะแต่ละจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนกลางมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการดูแลและประสานหน่วยราชการต่าง ๆ 


“ยืนยันรัฐบาลทั้งหมดร่วมกันทำงาน ไม่มีช่องว่างแม้เป็นรัฐบาลรักษาการ รัฐบาลทำหน้าที่ระหว่างรอรัฐบาลใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่  ในส่วนงบประมาณ ขณะนี้ได้ประกาศให้ใช้งบประมาณภัยพิบัติได้ หากมีปัญหาก็สามารถอนุมัติงบกลางให้ไปดำเนินการได้” 


ขณะที่ การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว.จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วม อว.” เพื่อรองรับสถานการณ์ใน 3 ระยะ ประกอบด้วย

 

ระยะที่ 1 “การเฝ้าระวังน้ำท่วม”  เป็นการติดตามสถานการณ์น้ำ เฝ้าระวัง แจ้งเตือน และวางแผนอพยพได้อย่างทันท่วงที

ผ่านข้อมูลจากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศน้ำรวบรวม เชื่อมโยง บูรณาการและวิเคราะห์ข้อมูลน้ำและภูมิอากาศที่มีผลกระทบต่อน้ำ 435 รายการ  พร้อมส่งรถโมบายเคลื่อนที่เพื่อติดตามสถานกาณ์น้ำในพื้นที่แบบเรียลไทม์ พร้อมเปิดข้อมูลน้ำท่วมแบบแยกรายจังหวัดผ่านแอปพลิเคชั่น ThaiWater สำหรับประชาชนทั่วไป 

 

ระยะที่ 2 “การให้ความช่วยเหลือระหว่างเกิดภัยน้ำท่วมโดยสั่งการเปิดพื้นที่ของมหาวิทยาลัยให้เป็นศูนย์บรรเทาและพักพิงให้ผู้ได้รับผลกระทบแล้ว พร้อมระดมกองทัพโดรนกว่า 30 ลำ เพื่อบินสำรวจและลำเลียงสิ่งของไปมอบให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก 

นอกจากนี้ยังส่งเรือไวไฟ (WiFi) ที่จะเข้าไปให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ รวมถึงบ้านสำเร็จรูป และถุงยังชีพที่มีอาหารนวัตกรรมพร้อมทานโดยไม่ต้องอุ่น

 

ระยะที่ 3 “ฟื้นฟูหลังน้ำลด” จัดตั้งหน่วยบริการเคลื่อนที่ซ่อมและบริการเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องมือเกษตร พร้อมนำนักศึกษาจิตอาสาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้าไปช่วยซ่อมแซมบ้านเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของกระทรวง อว. ลงไปรักษา บำบัด ฟื้นฟู ทั้งร่างกายและจิตใจผู้ได้รับผลกระทบด้วย

 

ด้านสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า จะสนับสนุนข้อมูลมายัง “วอร์รูมน้ำ” แห่งนี้ใน 2 ชุดข้อมูลที่สำคัญ ประกอบด้วย การติดตามสถานการณ์ด้วยดาวเทียม พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นประจำทุกวัน สถานการณ์ความเสี่ยงน้ำท่วม จากสถิติพื้นที่น้ำท่วมย้อนหลัง 10 ปี ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะมีการแจ้งผ่านเพจของกระทรวง อว. ทุกวัน ในเวลา 13.00 น

.

แม้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำจะยืนยันว่าภาพรวมอุทกภัยในปี 2567 จะไม่หนักเทียบเท่าในปี 2554 แต่สถานการณ์น้ำไทยตอนบนที่สร้างผลกระทบไปแล้วอย่างน้อย 5 จังหวัด ถือเป็นความท้าทายของ “วอร์รูมน้ำ” ว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าเมื่อ 13 ปีก่อนมาปรับใช้แก้ปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน  

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง