ป่าชายเลน เกราะป้องกันธรรมชาติ ที่กำลังหายไป

แม้ป่าชายเลนจะมีบทบาทสำคัญทั้งในด้านระบบนิเวศและต่อมนุษย์ แต่ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โลกได้สูญเสียป่าชายเลนไปแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่ง อันเนื่องมาจากการทำเกษตรกรรม การพัฒนาเมืองชายฝั่ง และการใช้ประโยชน์อย่างเกินขอบเขต การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนจึงเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพทั้งในแง่ต้นทุนและผลลัพธ์ สำหรับการเสริมสร้างความยืดหยุ่นด้านภูมิอากาศและการกักเก็บคาร์บอนในระดับโลก
ป่าชายเลน: ผู้พิทักษ์แนวหน้าของธรรมชาติ
ป่าชายเลนกระจายตัวอยู่ใน 128 ประเทศ คิดเป็นราว 15% ของแนวชายฝั่งทั่วโลก โดยมากกว่า 30% ของป่าชายเลนทั้งหมดอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ป่าชายเลนจัดอยู่ในกลุ่ม “บลูคาร์บอน” ร่วมกับพื้นที่พรุเค็ม (salt marsh) และทุ่งหญ้าทะเล (seagrass) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูดซับและเก็บกักคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศไว้ในตะกอนดินทะเล ป่าชายเลนยังทำหน้าที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์หลายพันชนิด และช่วยลดความแรงของคลื่นพายุ ทำหน้าที่เสมือนเกราะป้องกันธรรมชาติสำหรับชุมชนชายฝั่ง
ป่าชายเลนกำลังหายไป
ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ป่าชายเลนถูกจัดว่าเป็นหนึ่งในถิ่นอาศัยที่ถูกคุกคามมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะจากกิจกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การตัดไม้ การพัฒนาเมือง และการเปลี่ยนพื้นที่ไปทำเกษตรกรรม การเพาะเลี้ยงกุ้ง โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งที่ทำให้ป่าชายเลนลดลงระหว่างปี 2000–2020 คิดเป็น 26% ของการสูญเสียทั้งหมด กิจกรรมนี้ต้องใช้พื้นที่จำนวนมากสร้างบ่อกุ้ง ซึ่งโดยเฉลี่ยจะใช้เวลาเพียง 2–5 ปีก็เลิกกิจการ ทิ้งไว้เพียงพื้นที่เสื่อมโทรมที่ไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้อีก
ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเจ้าของป่าชายเลนมากถึง 20% ของโลก มีการตัดไม้ชายเลนไปถึง 1,739 กิโลเมตร ระหว่างปี 1996–2020 เพื่อขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันและพัฒนาโครงสร้างชายฝั่ง นอกจากนี้ การเปลี่ยนพื้นที่ป่าชายเลนไปทำนาข้าวก็ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลัก โดยคิดเป็น 13% ของการสูญเสียทั้งหมดในปี 2024
ในปัจจุบัน พื้นที่ป่าชายเลนที่ยังหลงเหลืออยู่กว่า 50% ทั่วโลกยังคงถูกคุกคามจากกิจกรรมของมนุษย์ และต้องเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น พายุที่รุนแรงขึ้นและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ ป่าชายเลนยังเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถกักเก็บคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงมาก เนื่องจากพืชเติบโตเร็วและมีการดูดซับคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง กระบวนการสังเคราะห์แสงของต้นไม้ในป่าชายเลนช่วยดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศไปกักเก็บไว้ในรากและดินที่มีน้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นพื้นที่ขาดออกซิเจน ทำให้การย่อยสลายของอินทรียวัตถุเป็นไปอย่างช้า ส่งผลให้คาร์บอนถูกกักเก็บไว้ได้นานนับร้อยถึงพันปี คาดว่ามีคาร์บอนมากกว่า 6.4 พันล้านตันถูกเก็บไว้ในป่าชายเลนทั่วโลก เทียบเท่ากับการปล่อยคาร์บอนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งประเทศถึง 4.5 ปี
แนวป้องกันตามธรรมชาติจากพายุและน้ำท่วม
ป่าชายเลนมีระบบรากที่หนาแน่นซึ่งสามารถลดความเร็วและความสูงของคลื่น จึงช่วยลดผลกระทบจากพายุและน้ำท่วมชายฝั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
งานวิจัยในปี 2014 จาก The Nature Conservancy และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ระบุว่า เพียงแค่แนวป่าชายเลนกว้าง 100 เมตร ก็สามารถลดความสูงของคลื่นได้ถึง 13–66% และถ้าเป็นสึนามิ ต้องมีแนวกว้างหลายร้อยถึงหลายพันเมตร จึงจะช่วยลดความลึกของน้ำและผลกระทบจากคลื่นได้
ประโยชน์นี้มีมูลค่ามหาศาลสำหรับประชากรชายฝั่งทั่วโลก งานวิจัยในปี 2020 ประเมินว่า ป่าชายเลนช่วยลดความเสียหายจากน้ำท่วมทั่วโลกได้มากกว่า 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และหากป่าชายเลนหายไป จะมีประชากรเพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านคนที่ต้องประสบกับน้ำท่วมทุกปี
ตัวอย่างจากรัฐฟลอริดาในสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าบ้านเรือนที่อยู่หลังป่าชายเลนมีความเสียหายจากน้ำท่วมน้อยกว่าบ้านเรือนที่ไม่มีแนวป้องกันธรรมชาติถึง 25.5% โดยเฉพาะช่วงพายุเฮอริเคนเออร์มาในปี 2017 ซึ่งช่วยประหยัดความเสียหายได้ถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์
แหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตนับพัน
ป่าชายเลนเป็นบ้านของพืชและสัตว์มากกว่า 1,500 ชนิด โดยในนั้นมีมากกว่า 200 ชนิดที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ เช่น ลิงจมูกยาว และนกฟินช์แห่งป่าชายเลน ซึ่งเหลืออยู่เพียงราว 100 ตัว และอาศัยอยู่เฉพาะบนเกาะกาลาปากอสเท่านั้น
ความพยายามในการอนุรักษ์ทั่วโลก
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความตระหนักถึงความสำคัญของป่าชายเลนเริ่มเพิ่มขึ้น องค์กรระดับโลกได้ผลักดันเป้าหมายการฟื้นฟูพื้นที่ชายฝั่ง เช่น กรอบความหลากหลายทางชีวภาพโลก “คุนหมิง-มอนทรีออล” ที่ 196 ประเทศร่วมกันตั้งเป้าให้พื้นที่ชายฝั่งที่เสื่อมโทรมอย่างน้อย 30% ได้รับการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพภายในปี 2030
รายงานของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ยังเน้นว่าการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศบลูคาร์บอน เช่น ป่าชายเลน เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
โครงการ “Mangroves for Community and Climate” โดยกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) มีเป้าหมายฟื้นฟูป่าชายเลน 6,293,428 ไร่ในเม็กซิโก มาดากัสการ์ ฟิจิ และโคลอมเบีย เพื่อกักเก็บคาร์บอน 2 พันล้านตัน และปกป้องประชาชนกว่า 300,000 คนจากคลื่นลมและการกัดเซาะชายฝั่งในรัฐฟลอริดา หน่วยงานท้องถิ่นร่วมกันดำเนินโครงการฟื้นฟูป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ระหว่างปี 2021–2023 โดยสามารถฟื้นฟูพื้นที่ได้ถึง 506 ไร่และเปิดพื้นที่ชุ่มน้ำให้กลับมาเป็นที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์ป่าอีกครั้ง