รีเซต

บล.กสิกรฯคาด กนง.เริ่มปรับนโยบาย Q1/68 ลดดอกเบี้ย 0.50% ในปี 68 เผชิญแรงกดดันจากภูมิภาค-เงินเริ่มตึงตัว

บล.กสิกรฯคาด กนง.เริ่มปรับนโยบาย Q1/68 ลดดอกเบี้ย 0.50% ในปี 68 เผชิญแรงกดดันจากภูมิภาค-เงินเริ่มตึงตัว
ทันหุ้น
19 ธันวาคม 2567 ( 11:18 )
5

 

#กนง #ทันหุ้น – บทวิเคราะห์ โดย บล.กสิกรไทย

 

ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยตามคาด

กนง. ลงมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ซึ่งสอดคล้องกับที่ตลาดและเราคาดไว้

เรามอง ธปท. เลือกใช้วิธี wait-and-see เพื่อรักษา policy space โดยเฉพาะหลังเพิ่งลดดอกเบี้ยในเดือนต.ค. และออกมาตรการบรรเทาหนี้ช่วยเหลือภาคครัวเรือน

แนวโน้มต่อไป เราเชื่อว่า ธปท. จะเริ่มปรับนโยบายในไตรมาส 1/2568 จากแรงกดดันจากคู่แข่งในภูมิภาคท่ามกลางสภาพคล่องทางการเงินที่ตึงตัว

 

Key Highlights

กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% ตามคาด

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ 7-0 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของเราและของตลาด อย่างไรก็ตาม การลงมติเป็นเอกฉันท์ 7-0 สะท้อนมุมมองที่ค่อนข้างเข้มงวด (hawkish tone) สำหรับนักลงทุนบางกลุ่มที่คาดว่าจะมีเสียงแตก

แม้เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากปัจจัยภายนอก แต่ กนง. มองว่านโยบายการเงินปัจจุบันที่ใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.25% นั้นเหมาะสม เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้และใกล้กับระดับศักยภาพ ขณะที่เงินเฟ้อกำลังเข้าสู่กรอบเป้าหมาย อีกทั้งการคงดอกเบี้ยนโยบายยังช่วยรักษาความยืดหยุ่นของนโยบายการเงินในการรับมือกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า

 

Implication and Recommendation

ชะลอการลดดอกเบี้ยเพื่อรักษา policy space

กนง. ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% สอดคล้องกับการคาดการณ์ของเราที่ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเลือกใช้แนวทาง "รอดูสถานการณ์" หรือ wait and see mode เพื่อรักษาพื้นที่ในการดำเนินนโยบายการเงิน หลังจากที่เพิ่งมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแบบเซอร์ไพรส์ตลาดในช่วงเดือนตุลาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ทั้งกระทรวงการคลังได้ร่วมกับ ธปท. ในการให้ความช่วยเหลือกับภาคประชาชนผ่านตัวโครงการ "คุณสู้เราช่วย" เพื่อช่วยลดภาระหนี้ครัวเรือน

 

ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงแต่เงินบาทพลิกอ่อนแอ

เนื่องจาก ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิม เราจึงคาดว่ากลุ่มธนาคาร (BBL, KTB และ SCB) จะได้รับผลกระทบเชิงบวกในระยะสั้นจากอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวระดับสูง แม้ ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิม แต่อาจไม่ได้ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในทางตรงข้าม หลัง Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่อช่วงดึกที่ผ่านมา แต่ส่งสัญญาณเชิง hawkish มากขึ้นเห็นได้จากแถลงการณ์ FOMC และคาดการณ์ dot plot ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มจะอ่อนแอลง โดยเรามองเงินบาทที่อ่อนค่าลง คาดจะส่งผลบวกต่อกลุ่มอิเล็กทริกนิกส์ (DELTA), สินค้าส่วนบุคคล (STGT) และอาหารและเครื่องดื่ม (OSP) แต่คาดจะส่งผลลบต่อกลุ่มปิโตรเคมี (IVL และ PTTGC) และพลังงาน (PTT)

 

คาดจะปรับดอกเบี้ยนโยบายลงต่อในช่วงครึ่งแรกปี 2568

สำหรับแนวโน้มต่อจากนี้ เราเชื่อว่า ธปท. จะกลับมาปรับนโยบายการเงินในไตรมาส 1/2568 และลดดอกเบี้ยรวม 50bps หรือมาอยู่ที่ 1.75% ในปี 2568 เรามองเห็นโอกาสที่มากขึ้นที่ ธปท. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในปี 2568 หลังธนาคารกลางในภูมิภาคโดยเฉพาะธนาคารกลางเกาหลี (BOK) ลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อเนื่องและสภาพคล่องทางการเงินของไทยตึงตัวมากขึ้นท่ามกลางการปล่อยสินเชื่อในระบบที่ลดลง เราเชื่อว่าการลดดอกเบี้ยของ ธปท. จะส่งผลบวกต่อกลุ่มการเงิน (MTC และ TIDLOR) จากต้นทุนการเงินที่ลดลง แต่คาดจะส่งผลลบต่อกลุ่มธนาคารจาก NIM ที่อ่อนตัวลงในระยะถัดไป

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง