รีเซต

ใกล้จะได้เห็นเอเลี่ยน ? มนุษย์อาจพบสิ่งมีชีวิตต่างดาวในปี 2030

ใกล้จะได้เห็นเอเลี่ยน ? มนุษย์อาจพบสิ่งมีชีวิตต่างดาวในปี 2030
TNN ช่อง16
25 มีนาคม 2567 ( 03:22 )
132

เราอาจพบสิ่งมีชีวิตต่างดาวได้ภายในปี 2030 หรือก็คืออีก 6 ปีข้างหน้า เนื่องจากตอนนี้เทคโนโลยีตรวจจับสิ่งมีชีวิตต่างดาวได้พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด นักวิทยาศาสตร์ได้ติดเครื่องมือนี้ไปกับยานอวกาศยูโรปา คลิปเปอร์ (Europa Clipper) ที่จะส่งไปยังดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดี ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่มีแนวโน้มว่าอาจเจอสิ่งมีชีวิต และหากบนดวงจันทร์ยูโรปามีสิ่งมีชีวิตจริง ๆ เครื่องมือตรวจจับก็มีแนวโน้มว่าจะตรวจพบได้


เมื่อพูดถึงดวงดาวที่อาจพบสิ่งมีชีวิต หลายคนอาจคิดว่าเป็นดาวอังคารหรือดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่าดาวเคราะห์ที่อาจพบสิ่งมีชีวิตก็คือดวงจันทร์เอนเซลาดัสของดาวเสาร์และดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดี ดวงจันทร์ทั้ง 2 ดวงนี้เต็มไปด้วยน้ำแข็ง และนักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่าภายใต้เปลือกน้ำแข็งนี้ ด้านล่างจะเป็นมหาสมุทร


เพื่อให้เข้าใจว่าสภาวะต่าง ๆ ของดวงจันทร์ทั้ง 2 ดวงจะเป็นอย่างไร องค์การนาซา (NASA) จึงจะส่งยานอวกาศยูโรปา คลิปเปอร์ (Europa Clipper) ไปยังดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดีในช่วงปลายปีนี้ โดยยานอวกาศจะโคจรรอบดวงจันทร์ยูโรปา ระยะห่างไม่เกิน 25 กิโลเมตรจากพื้นผิว เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เช่น จัดทำแผนที่ธรณีวิทยา รวบรวมการวัดขนาดมหาสมุทรภายใน รวมถึงเก็บข้อมูลและวิเคราะห์เม็ดน้ำแข็งและฝุ่นดวงจันทร์ยูโรปาที่พ่นออกมาคล้าย ๆ การปะทุของภูเขาไฟ แม้ว่าภารกิจนี้จะไม่ได้ออกแบบมาโดยมุ่งเน้นไปที่การค้นหาสิ่งมีชีวิตต่างดาว แต่นักวิทยาศาสตร์ก็บอกว่า หากที่ดวงจันทร์ยูโรปามีสิ่งมีชีวิตต่างดาว เครื่องมือที่เราติดตั้งไปกับยานสามารถตรวจพบสิ่งมีชีวิตนอกโลกได้


ทีมนักวิทยาศาสตร์ นำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐฯ และมหาวิทยาลัยเสรีแห่งเบอร์ลิน (Freie Universität Berlin) เยอรมนี ได้ทำการทดลองเพื่อดูว่าเครื่องมือที่จะติดตั้งไปกับยานอวกาศยูโรปา คลิปเปอร์ จะสามารถตรวจจับจุลินทรีย์ที่ห่อหุ้มอยู่ในเม็ดน้ำแข็งได้หรือไม่ 


โดยนักวิทยาศาสตร์ได้จำลองสภาพแวดล้อมที่เหมือนเม็ดน้ำแข็งและฝุ่นที่พ่นออกมาจากดวงจันทร์ยูโรปา ด้วยการยิงลำแสงของเหลวบาง ๆ เข้าไปในสุญญากาศ จากนั้นใช้เลเซอร์เพื่อกระตุ้นหยดของเหลวเหล่านั้น แล้วจึงวิเคราะห์ด้วยเครื่องแมสสเปกโตรมิเตอร์ (เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ออกแบบมาเพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบของตัวอย่าง โดยการวัด “อัตราส่วนมวลต่อประจุ” ของอนุภาคที่มีประจุ) เพื่อดูว่ามีอะไรอยู่ในหยดของเหลว


ทั้งนี้ด้านในหยดของเหลวจะมีแบคทีเรียที่ชื่อว่า สฟิงโกปีซิส อลาสเคนซิส (Sphingopyxis alaskensis) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบในสภาพแวดล้อมที่หนาวเย็น เช่น ในน่านน้ำนอกชายฝั่งอลาสก้า แบคทีเรียชนิดนี้มีเยื่อที่ทำจากไขมันที่สามารถเกาะกันเป็นชั้นขยะบนพื้นผิวมหาสมุทรได้ และชั้นขยะนี้สามารถพ่นขึ้นไปในอากาศได้ ด้วยสภาพแวดล้อมการเติบโตของแบคทีเรียชนิดนี้คล้ายคลึงกับสภาพแวดล้อมแบบน้ำแข็งบนดวงจันทร์ยูโรปา นักวิทยาศาสตร์จึงใช้แบคทีเรียชนิดนี้เพื่อเป็นตัวแทนแบคทีเรียที่อาจพบบนดวงจันทร์ยูโรปา และหากบนดวงจันทร์ยูโรปามีแบคทีเรียที่คล้ายกัน พวกมันสามารถเกาะบนเม็ดน้ำแข็งที่พุ่งออกสู่อวกาศได้ และแมสสเปกโตรมิเตอร์ของยานก็จะสามารถตรวจจับกรดไขมันและไขมันที่มีประจุลบได้


และที่น่าตื่นเต้นคือทีมงานพบว่าเครื่องมือนี้สามารถตรวจจับตัวอย่างทางชีวภาพที่มีขนาดเล็กมาก ๆ เท่ากับเซลล์เพียงเซลล์เดียวที่ฝังอยู่ในเม็ดน้ำแข็งเม็ดเล็ก ๆ เพียงเม็ดเดียว


ฟาเบียน เคลนเนอร์ (Fabian Klenner) ผู้เขียนหลักของการศึกษานี้บอกว่า “เรากำลังอธิบายสถานการณ์ที่อาจเป็นไปได้ ว่าแบคทีเรียสามารถรวมเข้ากับน้ำแข็งที่เกิดจากของเหลวบนเอนเซลาดัสหรือยูโรปาแล้วถูกปล่อยออกสู่อวกาศได้อย่างไร”


เคลนเนอร์อธิบายเพิ่มว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้แสดงให้เห็นว่าแม้แต่เศษเสี้ยวของเซลล์ก็สามารถระบุได้ด้วยแมสสเปกโตรมิเตอร์ ผลลัพธ์นี้ทำให้เรามั่นใจมากขึ้นว่า การใช้เครื่องมือนี้ สามารถตรวจจับสิ่งมีชีวิตที่คล้ายกับสิ่งมีชีวิตบนโลก ซึ่งเราเชื่อมาก ๆ ว่าบนดวงจันทร์ที่มีมหาสมุทรจะมีสิ่งมีชีวิตต่างดาว”


แน่นอนว่าหากบนดวงจันทร์ยูโรปาไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ เครื่องมือตรวจวัดก็คงไม่พบเจออะไร แต่หากมันมีและซุกซ่อนอยู่ในเสี้ยวมุมเล็ก ๆ ของเม็ดน้ำแข็งที่พ่นออกมาจากดวงจันทร์ยูโรปา ก็มีแนวโน้มอย่างมากว่าเครื่องมือตรวจวัดจะพบสัญญาณของสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตาม กว่าที่เราจะพบคำตอบนั้นก็คงต้องไปรอจนถึงปี 2030 ซึ่งเป็นปีที่ยานอวกาศยูโรปา คลิปเปอร์จะเดินทางไปถึงดวงจันทร์ยูโรปานั่นเอง


งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสารไซเอนซ์ แอดวานซ์ (Science Advances) ฉบับวันที่ 22 มีนาคม 2024


ที่มาข้อมูล Newatlas, Science, Washington

ที่มารูปภาพ Washington

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง