รีเซต

ลดหย่อนภาษี ปี 2564 มีค่าใช้จ่ายอะไรใช้ลดหย่อนได้บ้าง พร้อมเทคนิคคืนภาษีเร็ว เช็กที่นี่!

ลดหย่อนภาษี ปี 2564 มีค่าใช้จ่ายอะไรใช้ลดหย่อนได้บ้าง พร้อมเทคนิคคืนภาษีเร็ว เช็กที่นี่!
TNN ช่อง16
6 พฤศจิกายน 2564 ( 16:02 )
171
ลดหย่อนภาษี ปี 2564 มีค่าใช้จ่ายอะไรใช้ลดหย่อนได้บ้าง พร้อมเทคนิคคืนภาษีเร็ว เช็กที่นี่!

หลายคนน่าจะเริ่มวางแผน  ลดหย่อนภาษี ปี 2564 กันบ้างแล้ว  เพราะปกติจะถึงรอบยื่นภาษีกันในช่วงสิ้นปีต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีถัดไป ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยปกติเหมือนกับปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ทำให้กรมสรรพากรเองขยายระยะเวลายื่นออกไปเรื่อยๆ เพื่อยืดหยุ่นและบรรเทาผลกระทบช่วยประชาชนอีกทางหนึ่ง โดยการยื่นภาษีนั้น สามารถทำได้ทั้งที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.rd.go.th แต่การยื่นภาษีออนไลน์ ก็นับเป็นช่องทางที่ประชาชนนิยมกันมากขึ้นและสะดวกสบาย ไม่ต้องเดินทางออกจากบ้าน ยื่นเมื่อไหร่ก็ได้ 

แม้จะยื่นภาษีกันมาแทบจะทุกปี แต่ก็ยังจะต้องทบทวนกันบ้างสำหรับค่าใช้จ่ายที่สามารถนำไป  ลดหย่อนภาษี ปี 2564 นี้ได้ รวมทั้งเอกสารที่จำเป็นที่ใช้ประกอบการยื่นภาษี

เอกสารสำหรับการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี มีอะไรบ้าง??

โดยการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอยู่ 2 แบบ คือ ภ.ง.ด.90 (สำหรับผู้มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน) และ ภ.ง.ด.91 (สำหรับผู้มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยไม่มีรายได้เสริมอื่น) และจะต้องเตรียมเอกสาร ดังนี้

1. หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับใบ 50 ทวิ

2. รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา

3. เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี เพื่อกรอกแบบฟอร์มการยื่นจ่ายภาษี เช่น  ใบเสร็จรับเงินเบี้ยประกันชีวิตหรือ หนังสือรับรองการจ่ายเงินเบี้ยประกันชีวิต เป็นต้น 


สำหรับค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาใช้หัก ลดหย่อนภาษี ปี 2564  ได้นั้น มีทั้งหมดด้วยกัน 4 ประเภท ได้แก่ 

1. ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว 

ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว
ลดหย่อนส่วนตัว
60,000 บาท
ลดหย่อนคู่สมรส
60,000 บาท
ลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร
ไม่เกิน 60,000 บาท
ลดหย่อนภาษีบุตร
คนที่ 2 เป็นต้นไป เกิดตั้งแต่ปี 2561
คนละ 30,000 บาท 
ลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดา
คนละ 30,000 บาท
ลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพลภาพ
คนละ 60,000 บาท
ข้อมูลจาก: กรมสรรพากร
  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว จำนวน 60,000 บาท สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ
  • ค่าลดหย่อนคู่สมรส จำนวน 60,000 บาท สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องถามกฎหมาย และคู่สมรสจะต้องไม่มีรายได้
  • ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ที่จ่ายให้กับสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 60,000 บาทต่อปี โดยสามีสามารถลดหย่อนภาษีในกรณีที่ภรรยาไม่มีเงินได้ เอกสารหลักฐานที่ใช้สำหรับการลดหย่อนภาษีคือ ใบเสร็จรับเงินและใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาล
  • ค่าลดหย่อนภาษีบุตร คนละ 30,000 บาท โดยจะต้องเป็นบุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม และบุตรมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาอยู่ หรือในกรณีที่บุตรอายุเกิน 25 ปี ขึ้นไป แต่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้ในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป และเกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท  แต่ก็จะแบ่งแยกย่อยเป็นอีก 3 กรณี ได้แก่ 1. กรณีมีเฉพาะบุตรชอบด้วยกฎหมาย: สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรกี่คนก็ได้ตามจำนวนบุตรจริง  2. กรณีมีเฉพาะบุตรบุญธรรม: สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000 บาท สูงสุด 3 คนและ 3. กรณีมีทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม: ให้ใช้สิทธิบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก่อน และหากบุตรบุญธรรมเป็นคนที่ 4 จะไม่สามารถใช้สิทธิได้ แต่ถ้าบุตรบุญธรรมอยู่ในคนที่ 1-3 สามารถใช้สิทธิบุตรบุญธรรมได้
  • ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส จำนวนคนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 4 คน กล่าวคือ สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท (และจะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม) โดยบิดามารดาจะต้องมาอายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำระหว่างพี่น้องได้ ต้องมีการระบุลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองการเลี้ยงดู (ลย.03) ว่าบุตรคนใดจะเป็นฝ่ายเลี้ยงดูบิดา/มารดา
  • ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพลภาพ จำนวนคนละ 60,000 บาท และผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และมีบัตรประจำตัวผู้พิการ รวมถึงจะต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ

ในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพลภาพเป็นบิดามารดา – บุตร – คู่สมรสของตนเอง สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งสองส่วน ตัวอย่างเช่น คู่สมรสไม่มีรายได้และเป็นผู้พิการ สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 120,000 บาท (ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท และค่าลดหย่อนอุปการะผู้พิการ 60,000 บาท)


2. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน  

ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน
เงินประกันสังคม
สูงสุดไม่เกิน 5,100 บาท รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท
เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์
ไม่เกิน 100,000 บาท
ประกันสุขภาพ
ไม่เกิน 25,000 บาท 
ประกันสุขภาพของบิดามารดา
ไม่เกิน 15,000 บาท 
เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
15% ของเงินได้  ไม่เกิน 200,000 บาท 


รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท


กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF
 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
กองทุนรวมเพื่อการออม SSF
 30% ของเงินได้  ไม่เกิน 200,000 บาท 
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
15% ของเงินได้ไม่เกิน 500,000 บาท 
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
ไม่เกิน 13,200 บาท
ข้อมูลจาก: กรมสรรพากร
  • เงินประกันสังคม สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 5,100 บาท (จากปกติ 9,000 บาท) สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 3,003 บาท เนื่องจากปี พ.ศ. 2564 มีการปรับลดอัตราเงินสะสมประกันสังคม และผู้ประกันตนมาตรา 40 จะลดหย่อนได้ไม่เกิน 700-3,000 บาท ตามที่จ่ายจริง (จำนวนเงินประกันสังคมที่ลดหย่อนได้สูงสุดเป็นข้อมูลในเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ หากมีประกาศปรับลดส่งเงินสมทบอีกครั้งในช่วงปลายปี)
  • เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ สามารถลดหย่อนค่าเบี้ยประกันของคู่สมรสได้สูงสุด 10,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และถ้าหากมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไข ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
  • เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิต ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  • เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (บิดามารดามีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป)
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และมีการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุน RMF ได้ที่ “RMF” คืออะไร? ทบทวนเงื่อนไขพร้อมกองทุนแนะนำ!
  • กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds) เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว สามารถนำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดยให้สิทธิประโยชน์สำหรับลดหย่อนภาษี 5 ปี 
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถนำมาลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท

*** สำหรับกลุ่มค่าลดหย่อนประกันชีวิตและการลงทุนในการวางแผนเกษียณ ได้แก่ กองทุน RMF กองทุนรวม SSF กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันทั้งหมด ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ***


3. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค  

ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค 
บริจาคทั่วไป
ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อน
บริจาคเพื่อการศึกษา กีฬา การพัฒนาสังคม ประโยชน์สาธารณะ และสถานพยาบาลของรัฐ
2 เท่าของเงินบริจาคจริง ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อน
พรรคการเมือง
ไม่เกิน 10,000 บาท 
ข้อมูลจาก: กรมสรรพากร

  • เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
  • เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ สามารถนำมาลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
  • เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง นำมาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งมาจากมาตรา 70 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้บริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองสามารถนำจำนวนเงินบริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีหรือรายจ่ายเพื่อการบริจาคตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากร


4. ค่าลดหย่อนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์  

  • ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท


กรณียกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีอะไรบ้าง? 

1. กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้พิการ และมีบัตรประจำตัวคนพิการว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษี จะได้รับยกเว้นเงินได้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น

2. กรณีเป็นผู้สูงอายุ และมีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ ในปีภาษี จะได้รับยกเว้นเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น

3. กรณีมีเครดิตภาษีเงินปันผล สำหรับคนที่ลงทุนในหุ้น สามารถใช้ยกเว้นภาษีได้ตามสัดส่วนที่ได้รับจากเงินปันผล


อยากได้เงิน คืนภาษีเร็ว ต้องทำอย่างไร? 

1. เตรียมเอกสารให้พร้อมก่อนยื่นภาษี  เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ ใครที่จะยื่นภาษี ควรเตรียมเอกสารทุกอย่างให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือรับรองเงินเดือนและการหักภาษี หรือใบทวิ 50 ซึ่งบริษัทจะออกให้  รวมไปถึงหลักฐานค่าลดหย่อนต่าง ๆ ทั้งเอกสารการซื้อประกัน กองทุนรวม SSF, RMF ,เอกสารรับรองบุตร ต่างๆ เป็นต้น ที่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้  และหากยื่นภาษีออนไลน์ แนะนำให้เตรียมเอกสาร สแกนเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อที่จะได้สะดวกในการอัปโหลดเอกสารเข้าระบบไปได้เลยตั้งแต่ขั้นตอนยื่นภาษี โดยไม่ต้องรอให้กรมสรรพากรแจ้งยื่นเอกสาร จะช่วยให้การขอคืนภาษีทำได้เร็วขึ้น

2. ยื่นแบบขอคืนภาษีให้เร็วที่สุด  หากมีเอกสารพร้อมแล้วก็ให้รีบยื่นแบบแสดงภาษีให้เร็วที่สุด  

3. ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร นอกจากเป็นวิธีที่สะดวกแล้ว ปัจจุบันยังรวดเร็วกว่าการยื่นแบบที่กรมสรรพากรด้วย   ยื่นภาษีทางอินเทอร์เน็ต คลิกที่ลิงก์ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/

4. ยื่นผ่านแอปฯ Rd Smart Tax   เป็นอีกหนึ่งช่องทางยื่นภาษีที่รวดเร็วเช่นกัน ด้วยแอปฯ RD Smart Tax บนสมาร์ทโฟน ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ iOS และ Android  

5. ขอรับเงินผ่านพร้อมเพย์ที่ผูกกับหมายเลขบัตรประชาชน  หากใครอยากได้เงินภาษีคืนแบบรวดเร็วทันใจ อยากแนะนำให้สมัครบริการพร้อมเพย์ และผูกบัญชีเข้ากับบัตรประจำตัวประชาชน ก่อนทำการยื่นภาษี เพราะหากไม่มีการเรียกตรวจเอกสารเพิ่มเติมจะได้รับเงินคืนเร็วกว่า

6. คอยเช็กความคืบหน้าเสมอว่ามีการขอเอกสารเพิ่มเติมหรือไม่   โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลได้หลังจากยื่นเอกสารไปแล้ว 1 วันทำการ ที่ เว็บไซต์กรมสรรพากร  https://efiling.rd.go.th/rd-cms/   หรือ แอปฯ Rd Smart Tax  เพราะถ้าเจอว่ามีเอกสารหรือข้อมูลอะไรที่เราต้องแก้ไขเพิ่มเติม ก็จะได้รีบดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว เพื่อให้ได้รับเงินคืนเร็วที่สุด

นอกจากนี้ ใครที่อยากได้ข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับการยื่นภาษีก็สามารถสอบถามได้เลยที่ กรมสรรพากร หรือโทร. 1161


อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการวางแผน ลดหย่อนภาษี ปี 2564  แล้ว  TNN Online แนะนำว่า  ประชาชนผู้เสียภาษีควรหมั่นอัปเดตหลักเกณฑ์เงื่อนไขค่าลดหย่อนภาษีที่กฎหมายได้ระบุไว้ในทุกปี ในแต่ละปีอาจจะมีการปรับปรุงเงื่อนไขหรือกฎหมายในบางรายละเอียดก็ได้  เพื่อที่จะช่วยให้เราสามารถ้วางแผนลดหย่อนภาษี หรือค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายอยู่แล้วได้อย่างถูกต้องเหมาะสม แถมยังช่วยเซฟเงินในกระเป๋าไปได้อีกมาก


ข้อมูล : กรมสรรพากร

ภาพ : AFP  ,TNN Online

ข่าวที่เกี่ยวข้อง