รีเซต

ไม่ว่าจะเป็น อิแทวอน คลาส หรือ ไทเกอร์ คิง ทำไมเราถึงหยุดดูซีรีส์เหล่านี้ไม่ได้

ไม่ว่าจะเป็น อิแทวอน คลาส หรือ ไทเกอร์ คิง ทำไมเราถึงหยุดดูซีรีส์เหล่านี้ไม่ได้
บีบีซี ไทย
20 พฤษภาคม 2563 ( 07:22 )
110
ไม่ว่าจะเป็น อิแทวอน คลาส หรือ ไทเกอร์ คิง ทำไมเราถึงหยุดดูซีรีส์เหล่านี้ไม่ได้

BBC Ideas / Ripple Pictures

ตอนดูซีรีส์ อิแทวอน คลาส (Itaewon Class) หรือไทเกอร์ คิง (Tiger King) บนเน็ตฟลิกซ์ คุณดูรวดเดียวจนจบเลยหรือเปล่า

คุณนั่งอยู่หน้าจอทั้งวัน กำลัง "อิน" ไปกับซีรีส์ที่ทุกคนกำลังพูดถึงใช่หรือไม่

 

ถ้าคำตอบคือ "ใช่" ก็ไม่ต้องตกใจ เพราะคุณไม่ใช่คนเดียวที่เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนนี้ที่คนหลายล้านทั่วโลกติดอยู่กับบ้านจากมาตรการล็อกดาวน์รับมือกับโควิด-19

 

บริษัทให้บริการดูภาพยนตร์และซีรีส์ออนไลน์ยักษ์หลายเจ้าต่างก็ทำกำไรเป็นกอบเป็นกำช่วงนี้ อย่างเน็ตฟลิกซ์บอกว่ามีสมาชิกใหม่เพิ่ม 16 ล้านคนในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้

หากรู้สึกผิดที่หมดเวลาทั้งวันไปกับการนั่งดูซีรีส์ ขอให้อ่านบทความนี้ต่อไปอีกสักนิด คุณอาจจะรู้สึกดีขึ้น

 

เทคนิคแยบยลดึงดูด

BBC Ideas / Ripple Pictures

ซีรีส์โปรดของเราหลายเรื่องใช้เทคนิคที่แยบยลในการดึงดูดให้เราดูต่อไปเรื่อย ๆ

สก็อตต์ ไบรอัน ผู้ผลิตรายการและนักวิจารณ์รายการโทรทัศน์ บอกว่าตอนแรก การดูซีรีส์หลายตอนรวดเดียวเริ่มต้นด้วยความบังเอิญ และก็เป็นผู้บริโภคที่เป็นฝ่ายเริ่มเอง

"เน็ตฟลิกซ์เริ่มตระหนักว่าคนชอบดูซีรีส์หลาย ๆ ตอนทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ที่คุณเคยดูมาก่อนอย่างเรื่องเฟรนด์ส (Friends)... เป็นวิธีที่เน็ตฟลิกซ์พยายามตื๊อให้คุณดูรายการอีก ใช้ลูกเล่นที่แยบยลเล็ก ๆ น้อย ๆ"

 

ไบรอันบอกว่าเน็ตฟลิกซ์รู้ตั้งแต่แรก ๆ ว่าจะใช้รูปไหนเป็นภาพปกของซีรีส์ และเพราะอะไรถึงได้ผล และพอถึงท้ายเรื่อง เมื่อขึ้นรายชื่อนักแสดงและผู้ทำงานเบื้องหลัง ก็มีตัวเลือกให้คุณดูซีรีส์ตอนต่อไปทันที

 

"ด้วยเหตุนี้ บางทีคุณดูซีรีส์ไปถึงสามชั่วโมงโดยที่ไม่รู้ตัวเลย"

 

สร้างมาเพื่อให้ดูรวดเดียว

BBC Ideas / Ripple Pictures

คุณรู้หรือไม่ว่าผู้ผลิตซีรีส์เจ้าใหญ่ ๆ ตั้งใจคิดรายการเพื่อให้คนดูรวดเดียวหลาย ๆ ตอน ไบรอันบอกว่า เน็ตฟลิกซ์ประสบความสำเร็จเพราะพวกเขาทดลองอย่างจริงจังเรื่องจำนวนตัวละครในเรื่องและก็รูปแบบการดำเนินเรื่อง

 

เขายกตัวอย่างซีรีส์เรื่อง ออเรนจ์ อิส เดอะ นิว แบลค (Orange is the New Black) โดยบอกว่า "พวกเขารู้ว่าคุณจะไม่เริ่มดูจากตรงกลางเรื่องแน่ คุณจะเริ่มจากตอนแรกเลย ดังนั้นเรื่องนี้ถึงมีตัวละครราว 40 ตัว"

 

ไบรอันบอกว่าสำหรับซีรีส์ยาว 8 ชั่วโมงที่สามารถดูได้รวดเดียวแบบนี้ เนื้อเรื่องจะสามารถลงลึกได้มากกว่าซีรีส์ปกติที่แบ่งเป็นตอนละชั่วโมงแล้วก็ฉายทีละตอนตามช่องโทรทัศน์แบบปกติ

 

ข้อเสีย

BBC Ideas / Ripple Pictures

ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่า การดูทีวีมากเกินไปจะทำให้คนมีอาการวิตกกังวลและซึมเศร้า เมื่อปี 2016 นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นถึงกับบอกว่ามันอาจทำให้คนเสียชีวิตได้ โดยบอกว่าการนั่งนาน ๆ ทำให้เกิดอาการหลอดเลือดอุดตัน

 

นักจิตบำบัดอย่าง ดร.ฮามิรา ไรแอซ บอกว่า การดูซีรีส์รวดเดียวหลายตอนสามารถส่งผลต่อระบบประสาทเราได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการนอน

"การดูซีรีส์รวดเดียวหลายตอนเป็นการกระตุ้นร่างกายตัวเองให้ทำงานนานกว่าเดิม เท่ากับว่าคุณต้องใช้เวลามากกว่านั้นอีกในการทำให้ร่างกายหายตื่นตัว"

 

ดร.ไรแอซบอกว่า ภาพที่อาจทำให้เกิดความไม่สบายใจ อาทิ ฉากฆาตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ตัวละครโปรดของคุณโดนฆ่าตาย อาจทำให้คุณรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ซึ่งส่งผลที่ไม่ดีต่อการหลับของคุณในคืนนั้น

 

แต่ฮอร์โมนความรักทำให้เรารู้สึกดี

BBC Ideas / Ripple Pictures

แล้วอะไรกันล่ะที่ทำให้เรากลับมาดูซีรีส์อีกรอบแล้วรอบเล่า

"เมื่อเรารู้สึกเชื่อมต่อกับตัวละคร ร่างกายเราอาจหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความรัก และจะสร้างความรู้สึกผูกพันกับตัวละครนั้นขึ้น"

ดร.ไรแอซบอกว่า ตอนนี้มีซีรีส์มากมายเหลือเกินจนอย่างน้อยต้องมีตัวละครสักตัวหนึ่งที่คุณรู้สึกเชื่อมโยงและพร้อมจะเผชิญชะตากรรมไปพร้อม ๆ กับเขาหรือเธอได้

 

อาจช่วยเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัว

BBC Ideas / Ripple Pictures

นี่อาจจะฟังดูแปลก แต่ลองฟังดูก่อน

ยกตัวอย่างเช่น เลิฟ ไอส์แลนด์ (Love Island) รายการทีวีที่โด่งดังในสหราชอาณาจักร ที่ให้คนโสดหล่อสวยมาหา "คนที่ใช่" ขณะเล่นเกมผ่านบททดสอบต่าง ๆ

หลังจากรายการเริ่มออกฉายในปี 2019 มีคู่ครองในสหราชอาณาจักรเข้ารับการบำบัดด้านความสัมพันธ์เพิ่มถึง 41 เปอร์เซ็นต์

"หากเราหาเวลาดูซีรีส์จากต้นจนจบได้ ก็เท่ากับเราให้เวลาตัวเองเป็นหลายชั่วโมงในการขบคิดเรื่องอารมณ์และความสัมพันธ์ของตัวเราเอง"

คนดูหลายคนรู้สึกคล้อยตามไปกับรายการมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลามีเรื่องน่าตกใจเกิดขึ้นกับตัวละครโปรดของเรา

"สมองของคนเราไม่แยกแยะระหว่างการกระตุ้นที่เกิดจากเรื่องจริง หรือจากเหตุการณ์สมมติ" ดร.ไรแอซอธิบาย

 

เราอยากจะมีส่วนร่วมในบทสนทนา

BBC Ideas / Ripple Pictures

เหตุผลใหญ่อีกประการที่เรานั่งดูซีรีส์หลายตอนต่อ ๆ กันคือเพราะเราอยากจะมีส่วนร่วมในบทสนทนาของผู้คน บางคนดูซีรีส์บางเรื่องเป็นสิบ ๆ ชั่วโมงโดยที่ไม่ได้ชอบด้วยซ้ำ แต่ดูเพราะอยากคุยกับคนอื่นรู้เรื่อง

 

อย่ารู้สึกผิด

BBC Ideas / Ripple Pictures

การเอาแต่ดูซีรีส์ทั้งวันให้ความหมายเป็นเชิงลบ ต่างกับการนั่งอ่านหนังสือทั้งวันที่ให้ความหมายในเชิงดี

"ผมพบว่าคนรู้สึกอายที่จะพูดว่าตัวเองดูทีวีเยอะแค่ไหน เรารู้สึกอายมากที่จะทำตัวไร้ประโยชน์และจะพูดว่า "วันนี้ฉันดูทีวีไปหกชั่วโมงเพื่อที่จะได้ไม่มองจอคอมพิวเตอร์เรื่องงาน ฉันแค่อยากจะหยุดพัก..."

 

แต่ความจริงคือ นักเขียนที่ดีเยี่ยมที่สุดในยุคนี้บางคนคือผู้เขียนบทซีรีส์ และสกอตต์ ไบรอัน คิดว่าเราไม่ควรต้องรู้สึกผิดเลยที่เอาแต่ดูซีรีส์

ดังนั้น หากคุณคิดจะเริ่มดูซีรีส์ เอาเลย ตามสบาย ขอให้สนุกสนานเป็นชั่วโมง ๆ หรือว่าจะทั้งวันก็ได้

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง