รีเซต

‘หุ้นแตกพาร์- หุ้นปันผล’ ส่งผลต่อมูลค่าพอร์ตอย่างไร

‘หุ้นแตกพาร์- หุ้นปันผล’  ส่งผลต่อมูลค่าพอร์ตอย่างไร
TNN ช่อง16
8 พฤษภาคม 2565 ( 08:44 )
625


เมื่อคุณเปิดดูพอร์ตหุ้นของคุณ เคยสงสัยหรือไม่ ทำไมจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น  เกิดอะไรกับหุ้นที่คุณลงทุนอยู่ ทั้งๆ ที่คุณไม่ได้ซื้อหุ้นเพิ่มเลยนั่นคือ Corporate Action ซึ่งกรณีที่คุณมีหุ้นเข้าพอร์ตเพิ่มขึ้น เกิดจาก ‘หุ้นแตกพาร์ หุ้นปันผล’ นั่นเอง 


จริงๆ แล้ว ‘หุ้นแตกพาร์ หุ้นปันผล’ รวมไปถึง Corporate Action รูปแบบอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เป็นเหตุการณ์ที่แต่ละบริษัทที่ดำเนินการปรับโครง สร้างการเงิน ด้วยเป้าหมายแตกต่างกัน เพื่อให้ทำธุรกิจได้สะดวกคล่องตัวขึ้นและไม่ได้เกิดเฉพาะหุ้นบริษัทเพียงอย่างเดียว ETF (Exchange Traded Fund) ที่อยู่ในตลาดหุ้น ก็สามารถใช้เงื่อนไข Corporate Action ได้เช่นกัน


ดังนั้น Corporate Action จัดว่าเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญที่คุณควรศึกษาและทำความเข้าใจ เพราะเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว จะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นและสิทธิของผู้ถือหุ้นด้วยเช่นกัน คำจำกัดความของ Corporate Action คือ เหตุการณ์ที่หุ้นและ ETF ดำเนินการในอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับโครงสร้างเงินทุน (Capital Structure) ของหุ้นและ ETF นั้นๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อมูลค่าและราคาหุ้นโดยตรง


บทความนี้ผมจะฉายภาพความหมายของ ‘หุ้นแตกพาร์ หุ้นปันผล’ ซึ่งเป็น Corporate Action ที่คุณพบเจออยู่บ่อยๆ พร้อมวิธีการดูแลพอร์ตลงทุนเมื่อหุ้นและ ETF ที่คุณลงทุนอยู่ เจอเหตุการณ์เหล่านี้หุ้นแตกพาร์คืออะไร  ก่อนที่จะไปทำความเข้าใจว่า หุ้นแตกพาร์คืออะไร มาทำความเข้าใจก่อนว่า ราคาพาร์ (Par Value) คืออะไร โดยเราขอยกตัวอย่างกฎเกณฑ์และขั้นตอนต่างๆ ของไทย


เมื่อมีการจัดตั้งบริษัท บริษัทนั้นๆ จะได้รับเอกสารที่เรียกว่า ‘หนังสือบริคณห์สนธิ’ จากกระทรวงพาณิชย์ โดยในเอกสารนั้นจะแสดงทุนจดทะเบียนของบริษัท ราคาพาร์ คือ มูลค่าที่ตราไว้ต่อหุ้น เป็นราคาที่ทำให้คุณรู้ว่า หุ้นของบริษัทนั้นมีมูลค่าหุ้นละเท่าไร


ส่วนหุ้นแตกพาร์ (Stock Split) คือ บริษัทนั้นๆ เพิ่มจำนวนหุ้นด้วยการแตกหุ้นออกเป็นหลายๆ ส่วน ตามที่บริษัทมีแผนในการปรับโครงสร้างการเงิน ซึ่งทำให้ราคาพาร์ของหุ้นลดลงไปตามสัดส่วนด้วยเช่นกัน


การแตกพาร์จะไม่ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของบริษัท หรือสัดส่วนของผู้ถือหุ้เปลี่ยนแปลงไปเหมือนกับว่า หุ้นบริษัทเป็นเค้ก 1 ก้อน จากเดิมคุณแบ่งสัดส่วนออกมาเป็น 4 ชิ้น แต่คุณต้องการเพิ่มจำนวนชิ้นให้ได้มากขึ้น เลยตัดเค้กให้ชิ้นเล็กลงเป็น 8 ชิ้น เป็นแค่การเพิ่มจำนวนชิ้นแต่ไม่ได้เพิ่มขนาดของเค้ก เช่นเดียวกับหุ้นและ ETF เมื่อมีประกาศออกมาว่าจะดำเนินการแตกพาร์นั่นเอง 


การแตกพาร์ ไม่เกี่ยวกับพื้นฐานบริษัทหรือธุรกิจที่เปลี่ยนไป งบการเงินยังเหมือนเดิม แต่จะทำให้หุ้นบริษัทมีสภาพคล่องในตลาดหุ้นมากขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากราคาหุ้นที่สูงเกินไป ทำให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนได้ยาก ใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งการแตกพาร์จะทำให้ราคาพาร์ต่อหุ้นลดลง นักลงทุนสามารถเข้าถึงหุ้นนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างการแตกพาร์ เช่น หุ้น Jitta จำนวน 1 หุ้นมีราคาพาร์ที่ 100 บาท


 แตกพาร์เป็น 2 หุ้น หุ้นละ 50 บาท นักลงทุนจะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพราะราคาถูกลงนั้นเอง โดยแต่ละบริษัทสามารถทำการแตกพาร์ได้หลายๆ ครั้งในอนาคต ตามความเหมาะสมของโครงสร้างเงินทุนและเป้าหมายนั่นเอง  


ที่สำคัญ คือ การแตกพาร์ไม่ส่งผลต่อมาร์เก็ตแคปของหุ้นและ ETF สัดส่วนของผู้ถือหุ้นยังเหมือนเดิม เพียงแต่จำนวนหุ้นในพอร์ตจะเพิ่มขึ้นตามสัด ส่วนที่แตกพาร์ หากคุณลงทุนอยู่แล้ว คุณไม่ควรใช้เงื่อนไขการแตกพาร์ เป็นปัจจัยในการตัดสินใจซื้อขายหุ้นนั้นๆ แต่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ เมื่อหุ้นและ ETF ประกาศแตกพาร์ พร้อมกำหนดวันที่จำนวนหุ้นจะเปลี่ยนแปลงออกมาแล้ว ย่อมส่งผลต่อราคาหุ้นในระยะสั้นๆ ได้ จนกว่าจะถึงวันที่ การทำรายการแตกพาร์ของหุ้นและ ETF จะเสร็จสิ้นนั่นเอง 


หุ้นปันผลคืออะไร


เมื่อบริษัทมีกำไรจากการทำธุรกิจ บริษัทจะตอบแทนผู้ถือหุ้นในรูปแบบการจ่ายปันผล ซึ่งสามารถแบ่งออกมาได้ 2 รูปแบบ คือ

  • -จ่ายปันผลในรูปแบบเงินสด (Cash Dividend)
  • -จ่ายปันผลในรูปแบบหุ้น (Stock Dividend)

โดยส่วนใหญ่ หุ้นและ ETF จะจ่ายปันผลในรูปแบบเงินสด ซึ่งเป็นรูปแบบที่คุณคุ้นเคยดี แต่ก็มีบางบริษัทที่จะจ่ายเงินปันผลในรูปแบบหุ้น ควบคู่ไปกับการจ่ายปันผลในรูปแบบเงินสด สำหรับการจ่ายเงินปันผลเป็นหุ้นจะถูกเรียกว่า หุ้นปันผล


อย่างไรก็ตาม การจ่ายปันผลเป็นหุ้นจะเป็นการเพิ่มจำนวนหุ้นในบริษัทนั้นๆ โดยที่มูลค่ารวมของบริษัทยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่จะส่งผลให้มูลค่าหุ้นลดลง เรียกว่า Dilution Effect ซึ่งสามารถยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ ว่า 


หากคุณมีหุ้น Jitta จำนวน 100 หุ้น โดยมีราคาตลาด 20 บาทต่อหุ้น รวมมูลค่าในพอร์ต 2,000 บาท ต่อมา Jitta ประกาศจ่ายปันผลหุ้นอัตราส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ (1:1) จะทำให้คุณจะมีหุ้น Jitta ในพอร์ตเพิ่มขึ้นเป็น 200 หุ้น แต่ราคาหุ้นจะลดลงครึ่งหนึ่ง เหลือ 10 บาท 


ส่วนมูลค่ายังคงเท่าเดิมคือ 2,000 บาทการตัดสินใจของแต่ละบริษัท ว่าจะจ่ายปันผลเป็นเงินสดหรือหุ้น ขึ้นอยู่กับมุมมองหลายๆ ด้าน เช่น การเพิ่มสภาพคล่องของหุ้น การประหยัดค่าใช้จ่ายทางภาษีของบริษัท กรณีหุ้น Jitta จ่ายปันผลเป็นหุ้น อัตราส่วน 1:1 แต่ก็ทำให่้หุ้น Jitta มีปริมาณหุ้นเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว


สำหรับเหตุผลที่บริษัทเลือกจ่ายปันผลเป็นหุ้น จะทำให้มูลค่าธุรกิจคงเหลือสูงกว่าการจ่ายปันผลเป็นเงินสด และเป็นการประหยัดเงินภาษีที่ต้องจ่าย เมื่อเทียบกับการจ่ายปันผลทั้งหมดเป็นเงินสด ทำให้บริษัทมีเงินสดคงเหลือสูงขึ้น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น เงินลงทุนหมุนเวียนในกิจการ (Working Capital) หรือลงทุนเพื่อขยายธุรกิจอื่นๆ


ข้อดีของหุ้นปันผล คือ คุณสามารถนำหุ้นที่ได้มาไปขายในตลาดหุ้นได้ แต่ถ้าคุณมองเห็นโอกาสเติบโตในระยะยาวของกิจการ และถือหุ้นต่อไป อาจจะได้ผลตอบแทนกลับมาที่คุ้มค่ากว่า จากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น หากบริษัทนั้นสามารถสร้างการเติบโตได้


แต่ไม่ว่า คุณจะได้ปันผลในรูปแบบเงินสดหรือหุ้น คุณจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 10% เหมือนกัน (กรณีลงทุนหุ้นไทย) เพียงแต่บริษัทที่จ่ายปันผลจะมีทั้งในรูปแบบเงินสดและหุ้น และใช้ส่วนของเงินสดรองรับการหักภาษี ณ ที่จ่ายของหุ้นปันผลด้วย 


แน่นอนว่า หุ้นปันผลจะกระทบกับพื้นฐานของหุ้นในช่วงเวลาหนึ่งที่จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น เพราะจะกระทบกับจำนวนหุ้นสามัญ (Common Share) และกำไรต่อหุ้น (Earnings Per Share) หลังจาก Dilution Effect เช่นเดียวกัน ซึ่งจะมีผลต่ออัตราส่วนทางการเงินของบริษัทในปีถัดไป


ที่มา บลจ.จิตตะ เวลธ์

ภาพประกอบ   บลจ.จิตตะ เวลธ์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง