รีเซต

ความร่วมมือ 'จีน-อาเซียน' หนุนการทำ 'สวนทุเรียนอัจฉริยะ' ในมาเลเซีย

ความร่วมมือ 'จีน-อาเซียน' หนุนการทำ 'สวนทุเรียนอัจฉริยะ' ในมาเลเซีย
Xinhua
23 พฤศจิกายน 2564 ( 17:20 )
138
ความร่วมมือ 'จีน-อาเซียน' หนุนการทำ 'สวนทุเรียนอัจฉริยะ' ในมาเลเซีย

ราอูบ, มาเลเซีย, 23 พ.ย. (ซินหัว) -- เลียงปุยแซม เจ้าของสวนทุเรียนขนาด 10 เอเคอร์ (ราว 25 ไร่) ในรัฐปะหังของมาเลเซีย เผยว่าความร่วมมือการทำฟาร์มอัจฉริยะของรีกัลเทค (Regaltech) และอาลีบาบา คลาวด์ (Alibaba Cloud) ได้พลิกโฉมการทำสวนทุเรียนแบบดั้งเดิม

"สมัยก่อนไม่มีวิธีทดน้ำหรือให้ปุ๋ยต้นทุเรียนที่แน่นอน ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของเรา" แซม ผู้คร่ำหวอดในวงการเพาะปลูกทุเรียนนาน 9 ปี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซินหัว โดยแซมปลูกทุเรียนสายพันธุ์มูซังคิง (Musang King) อันโด่งดังของมาเลเซีย ซึ่งเป็น "ราชาแห่งผลไม้" ที่มาพร้อมกลิ่นฉุนและรสชาติเฉพาะตัว

แซมเล่าว่าบางครั้งเขาต้องเสี่ยงโชคว่าจะได้ทุเรียนคุณภาพดีหรือไม่ เพราะปัจจัยอย่างสภาพอากาศมักอยู่เหนือการควบคุม แต่หลังประยุกต์ใช้ระบบทำฟาร์มอัจฉริยะที่พัฒนาโดยรีกัลเทคและอาลีบาบา คลาวด์ในปี 2020 ผลผลิตกลับเพิ่มขึ้นมาก ทำให้การเพาะปลูกในปัจจุบันคุ้มค่าทั้งต้นทุนและเวลา และขั้นตอนการผลิตยุ่งยากน้อยลง

 

 

รีกัลเทค ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย เป็นบริษัทให้บริการด้านการเกษตรดิจิทัลที่เชี่ยวชาญการทำฟาร์มอัจฉริยะ โดยบริษัทฯ ร่วมมือกับอาลีบาบา คลาวด์ของจีนในปี 2019 เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มอัจฉริยะบนคลาวด์สำหรับการปลูกทุเรียน

อเล็ก เชิง ผู้จัดการทั่วไปของรีกัลเทค ระบุว่าเกษตรกรจะได้รับเซ็นเซอร์โหนด ซึ่งช่วยตรวจสอบสภาพพืชโดยเกษตรกรไม่ต้องลงพื้นที่จริง ส่วนแพลตฟอร์มอัจฉริยะมอบคำแนะนำมืออาชีพด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บผ่านเซ็นเซอร์โหนดในสวนผลไม้ อาทิ ค่าการนำไฟฟ้า พีเอ็ช (PH) ความชื้นในดิน สภาพอากาศ ตารางการให้น้ำบนคลาวด์

 

 

"ระบบทำฟาร์มอัจฉริยะจะแนะนำว่าเกษตรกรจำเป็นต้องให้น้ำ-ปุ๋ยหรือไม่หลังวิเคราะห์ข้อมูลจากคลาวด์ ตอนนี้เกษตรกรสามารถปรับปรุงผลิตภาพและประสิทธิภาพการเพาะปลูกทุเรียนอย่างง่ายดายผ่านการตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลอันแม่นยำ พร้อมความช่วยเหลือของระบบให้ปุ๋ยอัจฉริยะที่พัฒนาโดยรีกัลเทคและอาลีบาบา คลาวด์" อเล็กซ์กล่าว

อาลีบาบา คลาวด์ เข้าสู่ตลาดมาเลเซียประมาณ 4 ปีก่อน โดยจอร์ดี เชา ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทฯ ประจำมาเลเซีย เผยว่าอาลีบาบาต้องการสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นจำนวนมากหันมาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีของจีนเพิ่มขึ้น

เชากล่าวว่ามาเลเซียมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ในการปลูกทุเรียน ทว่าเทคนิคการให้ปุ๋ยแบบดั้งเดิมอาจเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มผลผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด อาลีบาบา คลาวด์ จึงต้องการอุดช่องโหว่ดังกล่าว โดยหวังว่าเทคโนโลยีทำฟาร์มอัจฉริยะในราคาเข้าถึงได้จะช่วยแบ่งเบาภาระของเกษตรกรทุกคน

 

ผลผลิตทุเรียนเป็นที่ต้องการในตลาดจีน โดยเฉพาะสายพันธุ์มูซังคิง โดยจีนนำเข้าผลไม้กลิ่นฉุนชนิดนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เทคโนโลยีอันก้าวหน้าจากจีนมอบแนวทางแก้ไขปัญหาทางดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงให้เกษตรกรชาวมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นความสำเร็จจากความร่วมมือระหว่างจีนและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

"แน่นอนว่าเราจะมีแพลตฟอร์มคลังข้อมูลขนาดใหญ่หรือบิ๊กดาต้า (big data) สำหรับปลูกทุเรียนมากขึ้นในอนาคต ซึ่ง 'คลังข้อมูลขนาดใหญ่' ทั้งหมดนี้อาจเป็นระบบนำทางพาเกษตรกรสู่เทคโนโลยีการเกษตรแห่งอนาคต" อเล็กซ์กล่าวเสริม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง