รีเซต

เปิดความจริง โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำสนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่ โคกสะบ้า

เปิดความจริง โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำสนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่ โคกสะบ้า
TNN ช่อง16
6 กุมภาพันธ์ 2566 ( 18:08 )
39

ตามที่ก่อนหน้านี้สื่อมวลชนได้เสนอข่าวว่าประชาชนหมู่ที่ 3 หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 10 ตําบลนาข้าวเสีย อําเภอนาโยง จังหวัดตรัง ได้รับความเดือดร้อนจากการที่กรมทรัพยากรน้ำดําเนินการโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟู แหล่งน้ำแต่กลับไปโค่นทําลายต้นสาคู เป็นระยะทาง 3 - 4 กิโลเมตร นับหลายพันต้น นั้น



วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 นางกศิรินทร์ พลนาค ผอ. ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำที่  1 สงขลา สํานักงานทรัพยากรน้ำที่ 8 กรมทรัพยากรน้ำ (ผู้รับผิดชอบโครงการฯ) ได้ชี้แจงเรื่องนี้ว่า การเสนอข่าวดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น กล่าวคือ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำ สนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่ ข้าวลําชารสามัคคีคนทํานาโคกสะบ้า ตําบลโคกสะบ้า อําเภอนาโยง จังหวัดตรัง เป็นโครงการตามแผนงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระยะเวลาการดําเนินการตามสัญญาจ้าง รวม 270 วัน งบประมาณค่าก่อสร้าง 24,924,000 บาท ซึ่งเป็นโครงการขุดลอกเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำ รวม 3 ช่วง 




ช่วงที่ 1 เป็นการขุดลอกความยาว 420 เมตร ซึ่งยังไม่ได้เริ่มดําเนินการใดๆ ช่วงที่ 2 เว้นไว้คงสภาพเดิม ซึ่งเป็นป่าสาคู ความยาว 957 เมตร และช่วงที่ 3 กําลังดําเนินการ ความยาว 1,079 เมตร เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภค บริโภค ให้แก่ราษฎรในพื้นที่โครงการ เป็นแหล่งน้ำเสริมการเพาะปลูก เป็นแก้มลิง รับน้ำในช่วงน้ำหลากบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งให้กับพื้นที่ 


ซึ่งในระหว่างการดําเนินการก่อสร้างโครงการจำเป็นต้องระบายน้ำที่มีอยู่ในแหล่งน้ำเดิมออก เพื่อขุดลอกตะกอนดินตามรูปแบบการก่อสร้าง และเพื่อมิให้น้ำท่วมบริเวณดังกล่าวในขณะก่อสร้างและท่วมพื้นที่ในอนาคต ผู้รับจ้างจึงทําการเปิดทางน้ำบริเวณด้านท้ายน้ำซึ่งอยู่นอกเขตโครงการ และเป็นการขุดตามร่องน้ำสาธารณะเดิมเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการขุดต้นสาคู ให้น้อยที่สุด ความยาว 446 เมตร กว้าง 3 เมตร และได้ขุดต้นสาคูที่ขวางทางน้ำซึ่งงอกขึ้นบริเวณกลางร่องน้ำสาธารณะออก 22 ต้น ก่อนการดําเนินการขุดผู้รับจ้างได้ประสานการขุดกับผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 ตําบลโคกสะบ้า และรองนายกองค์การบริหารส่วนตําบล   โคกสะบ้า เพื่อรับทราบและเห็นชอบให้ดําเนินการ เนื่องจากจะช่วยระบายน้ำจากโครงการเมื่อดําเนินการแล้วเสร็จ ชาวบ้านในพื้นที่รับผลประโยชน์จากโครงการนี้ 4,000 ไร่ 500 ครัวเรือน จนกระทั่งมีชาวบ้านได้เข้าร้องเรียนกับนายอําเภอนาโยง จังหวัดตรัง  


ต่อมานายอดุลย์ หมื่นลึก นายอำเภอนาโยง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยตนเอง ซึ่งเป็นจุดท้ายน้ำ เป็นแหล่งน้ำสาธารณะ ถ้าไม่มีการเปิดทางน้ำก็จะส่งผลให้น้ำท่วมได้ และได้สอบถามชาวบ้านมีความเห็นแยกเป็นสองส่วน โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยให้เปิดทางน้ำ และการพัฒนา และการอนุรักษ์จะต้องดําเนินการควบคู่กัน และที่ประชุมได้หาข้อสรุปร่วมกัน 


ดังนี้ ผู้รับจ้างจะไม่มีการขยายเพื่อระบายน้ำ นอกขอบเขตบริเวณโครงการพื้นที่ท้ายน้ำเพิ่มเติมและการ

ดําเนินการจะสื่อสารทําความเข้าใจกับชาวบ้านให้มากขึ้น/ปลูกหญ้าแฝกทดแทนบริเวณที่ได้ขุดท้ายน้ำ ระยะทาง 446 เมตร เมื่อโครงการดําเนินการแล้วเสร็จ/เมื่อโครงการดําเนินการแล้วเสร็จ จะปลูกต้นสาคูทดแทนหรือไม่ หรือจะปลูกต้นไม้ ชนิดใด จะประชุมชุมชน เพื่อขอมติเสียงส่วนใหญ่ แล้วแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อจะได้ร่วมกันดําเนินการและหน่วยงานจะกํากับดูแลให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด


นายสมโชค เชยชื่นจิตร นายก อบต.โคกสะบ้า อ.นาโยง กล่าวว่า เดิมทีเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ในพื้นที่มีฝายกั้นน้ำ แต่สภาพทรุดโทรมตามเวลา มีน้ำรั่ว พอเข้าช่วงหน้าแล้ง ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบไม่มีน้ำกิน น้ำใช้ พอช่วงฤดูฝน น้ำก็ท่วม เพราะฝายเก็บน้ำไม่อยู่ ที่ผ่านมาแก้ปัญหานี้ด้วยการนำดินมาถมที่ฝาย แต่เมื่อน้ำหลากในช่วงหน้าฝนดินก็สูญหายไปกับน้ำ เมื่อถึงหน้าแล้วชาวบ้านก็ขาดน้ำกินน้ำใช้เหมือนเดิม ซึ่งจะใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบเดิมไม่ได้แล้ว 


จึงได้ทำโครงการเสนอไปทางกรมทรัพยากรน้ำ ใช้เวลากว่า 3-4 ปี กว่าจะได้โครงการนี้มา เพื่อต้องการแก้ปัญหาให้กับคนในพื้นที่ พยายามสื่อสารทำความเข้าใจกันแล้ว ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยจึงเกิดโครงการนี้ขึ้น และเป็นไปตามขั้นตอน ว่าด้วยส่วนดีของต้นสาคูก็มีมากสามารถนำมาสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่บางกลุ่ม และได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่ข้อเสียก็มีเช่นกัน ต้นสาคูเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในริมคูคลองหนองน้ำ และเมื่อมีการเจริญเติบโตต้นสาคูก็จะปิดและขวางทางน้ำ ช่วงน้ำหลากก็จะท่วม  และตามที่ได้มีการนำเสอข่าวว่ามีการตัดโค่นต้นสาคูเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตรมีการทำลายต้นสาคูไปเป็นพันๆต้น เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมาก จึงอยากฝากให้สื่อช่วยนำเสนอข่าวให้ด้วย เพราะชาวบ้านตำบลโคกสะบ้าเห็นข่าวแล้วตกใจ ทางโครงการได้นำต้นสาคูออกเพียง 22 ต้นเท่านั้น เมื่อมีการพัฒนาก็ต้องมีผลกระทบบ้างไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ให้มองเพื่อคนส่วนร่วมมากกว่า และยืนยันว่าตนเองและคนในพื้นที่ทุกคนยังคงอนุรักษ์ป่าสาคูให้อยู่คู่กับตำบลโคกสะบ้าต่อไป 


ทางด้านนายณัติวิทย์ ปราบแทน ตัวแทนชาวบ้าน อยู่บ้านเลขที่ 72/2 ม.10  ต.โคกสะบ้า อ.นาโยง จ.ตรัง กล่าวว่า ขอพูดในความคิดเห็นส่วนตัวอีกมุม ตนเองมีต้นสาคูที่ถูกโค่นไปในระหว่างทำโครงการนี้ แต่ยอมเสียสละต้นไม้ไม่กี่ต้น เพื่อประโยชน์ของคนส่วนร่วม ส่วนคนที่ได้รับผลประโยชน์จากป่าสาคูที่ขึ้นเองตามธรรมชาติมีไม่กี่คน แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังทำโครงการนี้สำเร็จมันมากกว่านี้มาก โครงการที่ว่ากว่าจะได้มาไม่ใช่ง่ายๆ เราต้องเห็นความสำคัญ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนร่วมมากกว่าส่วนตน ส่วนป่าสาคูปกติจะเจริญเติบโตเองตามธรรมชาติ ถูกโค่นก็เจริญเติบโตใหม่ได้ตามธรรมชาติ ไม่ต้องใส่ปุ๋ยถึงเวลาชาวบ้านก็เอาไปตัดขาย








ข่าวที่เกี่ยวข้อง