วิจัยจีนพบ 'ปรอท' สะสมใน 'ห้วงลึกสุด' ของมหาสมุทร
เซี่ยงไฮ้, 17 ธ.ค. (ซินหัว) -- เมื่อไม่นานนี้ การศึกษาของทีมวิจัยนำโดยสวี่อวิ๋นผิง ร่วมกับมหาวิทยาลัยสมุทรศาสตร์แห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Ocean University) และคณะทำงานร่วมระดับนานาชาติ พบว่าร่องลึกก้นสมุทรฮาดอล (hadal trenches) ซึ่งเป็นแถบห้วงลึกที่สุดของมหาสมุทร มี "ปรอท" สะสมอยู่จำนวนมาก
คณะนักวิจัยรวบรวมตัวอย่างตะกอนจากพื้นที่ฮาดอลที่อาจลึกแตะระดับ 6,000-11,000 เมตร รวมถึงจากร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา (Mariana Trench) โดยใช้ยานยนต์สำรวจมหาสมุทรฝีมือการพัฒนาของศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาดอล สังกัดมหาวิทยาลัยฯ และพบว่าแม้แต่พื้นที่มหาสมุทรส่วนลึกสุดในโลกยังสะสมปรอทในอัตราสูงมากกว่าค่าเฉลี่ยใต้ท้องทะเลลึกทั่วโลก โดยส่วนใหญ่มีที่มาจากมหาสมุทรพื้นผิวการศึกษาเผยว่าเมื่อสังเกตระดับความเข้มข้นของปรอทบริเวณร่องลึกก้นสมุทรส่วนหลัก คณะนักวิจัยพบว่าสารดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงอย่างชัดเจนตั้งแต่ก่อนปี 1900 จนถึงหลังปี 1950 โดยมีหนึ่งในปัจจัยหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยร่องลึกก้นสมุทรฮาดอลเป็นอ่างกักเก็บปรอททางทะเลขนาดใหญ่ และอาจมีบทบาทสำคัญในการควบคุมวัฏจักรชีวเคมีของปรอททั่วโลกด้วยอนึ่ง ผลการศึกษานี้ถูกเผยแพร่ในวารสารโพรซีดดิงส์ ออฟ เดอะ เนชันนัล อคาเดมี ออฟ ไซเอนส์ (Proceedings of the National Academy of Sciences)