นักบินอวกาศนาซาฝึกซ้อมเดินบนดวงจันทร์จำลองในทะเลทรายแอริโซนา
นาซาเผยแพร่ภาพการฝึกซ้อมนักบินอวกาศเดินบนดวงจันทร์จำลองในทะเลทรายแอริโซนา โดยการฝึกในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมให้กับนักบินอวกาศในภารกิจอาร์เทมิสที่จะมีการส่งนักบินอวกาศสหรัฐอเมริกากลับไปเดินบนดวงจันทร์ในปี 2026
การฝึกซ้อมในครั้งนี้ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ บริเวณภูเขาไฟซานฟรานซิสโก เมืองแฟลกสตาฟ รัฐแอริโซนา เนื้องจากพื้นที่ในบริเวณนี้มีลักษณะคล้ายพื้นผิวของดวงจันทร์ โดยมีนักบินอวกาศทดสอบ อังเดร ดักลาส และนักบินอวกาศทดสอบ เคท รูบินส์ เข้าร่วมทดสอบ พร้อมสวมชุดอวกาศจำลองที่คล้ายกับชุดอวกาศที่จะใช้ในภารกิจจริงบนดวงจันทร์
ตลอดการฝึกซ้อมนาซาได้จำลองการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบภารกิจในลักษณะเสมือนจริงด้วยการจำลองการเดิน 4 ครั้ง และการวิ่งด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง 6 ครั้ง ซึ่งเป็นตามแผนการและระเบียบการทดสอบที่ถูกกำหนดเอาไว้ในภารกิจอาร์เทมิส เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของนักบินอวกาศในการทำภารกิจจริงบนดวงจันทร์
ภายใต้การสนับสนุนจากวิศวกรนาซา และผู้เชี่ยวชาญภาคสนามที่เข้าร่วมสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด รวมไปถึงใช้เจ้าหน้าที่ภายในศูนย์อวกาศฮุสตัน (Space Center Houston) รัฐเท็กซัส ร่วมทดสอบจำลองการติดต่อสื่อสารจากระยะไกลกับนักบินอวกาศทั้ง 2 คน ที่เข้าร่วมทดสอบ
“การทดสอบภาคสนามมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้การทดสอบระบบ ฮาร์ดแวร์ และเทคโนโลยีทั้งหมดที่จำเป็นต้องใช้เพื่อปฏิบัติการบนดวงจันทร์ให้ประสบความสำเร็จในระหว่างภารกิจของอาร์เทมิส” บาร์บารา ยาโนอิโก ผู้อำนวยการฝ่ายการทดสอบภาคสนามของจอห์นสันกล่าวอธิบายเพิ่มเติม
การฝึกนักบินอวกาศในทะเลทรายบนโลกไม่ใช่เรื่องใหม่ นาซาเคยใช้การทดสอบลักษณะใกล้เคียงกันนี้กับการทำภารกิจอะพอลโล 11 เมื่อหลายสิบปีก่อน แต่จุดเด่นที่ทำให้การทดสอบในครั้งมีความพิเศษ คือ นาซาได้เลือกใช้เทคโนโลยีความจริงเสริม (AR) หรือการแสดงภาพพร้อมข้อมูลเพื่อช่วยให้นักบินหาทางกลับไปยังจุดลงจอดของยานอวกาศได้ง่ายมากขึ้น ป้องกันการหลงทิศบนดวงจันทร์ ซึ่งในบางครั้งนักบินอวกาศอาจไม่สามารถใช้ภูมิประเทศ เช่น เนินเขาหรือดาวบนท้องฟ้าเพื่อระบุทิศทางได้
เป้าหมายหลังของการฝึกซ้อมในครั้งอยู่ที่การฝึกอบรมให้นักบินอวกาศและเจ้าหน้าที่คุ้นเคยกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะถูกใช้เพื่อทำภารกิจบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ รวมไปถึงระบบการติดต่อสื่อสารต่าง ๆ ไปยังศูนย์ควบคุมการบินและอวกาศในฮูสตัน หรือศูนย์ควบคุมภารกิจอาร์เทมิสบนโลก
ที่มาของข้อมูล Space.com