รีเซต

ผ่ากลยุทธ์‘บินไทย’ สู้ศึกเปิดน่านฟ้า...คืนชีพธุรกิจ

ผ่ากลยุทธ์‘บินไทย’ สู้ศึกเปิดน่านฟ้า...คืนชีพธุรกิจ
มติชน
8 มีนาคม 2564 ( 11:20 )
80

ดูจากหลายผลสำรวจความเชื่อมั่นดูเหมือนเริ่มดีขึ้น หลังรัฐบาลประกาศนำเข้าวัคซีนและเริ่มทยอยฉีดแล้ว จึงทำให้ธุรกิจขยับตัวตาม หนึ่งในความคาดหวังว่าจากนี้จะดีขึ้นคือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว รวมถึงสายการบิน ที่ออกอาการเซมาตั้งแต่เกิดโควิด-19 ระบาด เริ่มเคลื่อนไหวแล้ว อย่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หลายฝ่ายต่างลุ้นและไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะจบสวยได้ตามแผนฟื้นฟู หรือหักมุม แต่ไม่ว่าอย่างไรธุรกิจต้องเดินต่อ…

 

⦁เตรียมเปิดเวทีคุยเจ้าหนี้
แนวทางในการฟื้นฟูกิจการ การบินไทยได้ยื่นแผนฟื้นฟูต่อกรมบังคับคดีแล้วเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ขั้นตอนหลังจากนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ที่ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะส่งประกาศประชุมพร้อมแนบแผนฟื้นฟูกิจการในรูปแบบคิวอาร์โค้ดให้แก่เจ้าหนี้ในไทยทางไปรษณีย์ตอบรับ และเจ้าหนี้ต่างประเทศทางอีเมล์ ซึ่งการบินไทยได้ระบุว่ามีมูลหนี้รวม 4.1 แสนล้านบาท แต่เป็นมูลหนี้ที่แท้จริงตามแผนฟื้นฟู 1.8-1.9 แสนล้านบาท จึงต้องรอให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ตรวจสอบมูลหนี้ที่แท้จริงก่อน

พร้อมเสนอแผนการชำระหนี้เดิม มีการกำหนดให้ลดทุนและแฮร์คัตหนี้ 70% เพื่อให้ชำระหนี้ได้หมดตามแผนฟื้นฟูกิจการใน 5-7 ปี แต่ถูกคัดค้านจากเจ้าหนี้ จึงทำให้แผนฟื้นฟูกิจการที่ยื่นต่อกรมบังคับคดีได้ตัดประเด็นการลดทุนและการแฮร์คัตตามลักษณะเจ้าหนี้เฉลี่ย 30-50% ซึ่งทำให้การบินไทยอาจใช้เวลาในการชำระหนี้ 10 ปี ขณะที่การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ได้รับการอนุมัติแล้วสามารถขอแก้ไขแผนฟื้นฟูได้ แต่ต้องยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อจัดประชุมเจ้าหนี้ให้ความเห็นชอบ

 

⦁งัด4กลยุทธ์ฟื้นฟูกิจการ
ด้าน ชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่เปรียบเสมือนกัปตันในการบังคับทิศทางของธุรกิจการบินไทย เล่าว่า หลังจากยื่นแผนฟื้นฟูกิจการแล้วการบินไทยจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และพัฒนาแบบองค์รวมภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ คือ สายการบินเอกชนคุณภาพสูง ที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงประเทศไทยสู่ทั่วโลก และสร้างผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยกลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่ 1.เป็นสายการบินที่ลูกค้าเลือกเป็นอันดับแรก 2.เพิ่มศักยภาพด้านการพาณิชย์ ด้วยการปรับปรุงด้านการพาณิชย์ให้แข็งแกร่งขึ้นหารายได้มากขึ้น 3.การบริหารต้นทุนให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินได้ และ 4.เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงด้านการปฏิบัติการ และความปลอดภัยในการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อเครือข่ายสายการบินพันธมิตรมายังจุดบินต่างๆ ในไทย

ขณะเดียวกันการบินไทยจะขับเคลื่อนแผน เพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย โดยจัดตั้งฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร และได้ริเริ่มโครงการใหม่จากพนักงานทุกระดับและสายงานกว่า 600 โครงการ คาดว่าจะส่งผลให้รายได้ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย คาดว่าในปี 2568 การบินจะกลับมามีรายได้รวมประมาณ 1.4 แสนล้านบาท และประเมินว่าการบินไทยจะเริ่มมีรายได้จากการทำการบินเชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 3/2564 นอกจากนี้ ยังมีแผนการลดขนาดฝูงบินและปรับลดแบบเครื่องบินจาก 12 แบบ เหลือ 5 แบบ ปรับลดแบบเครื่องยนต์จาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ เพื่อให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมการบิน อีกทั้งเพื่อลดต้นทุนค่าซ่อมบำรุง ซึ่งแผนดังกล่าว จะช่วยให้การบินไทยสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากถึง 30-50% และจะเริ่มทำกำไรในปี 2567

 

⦁ลุ้นผ่าน!เพิ่มทุนชดเชยพนักงาน
นอกจากนี้ การบินไทยจะขอเพิ่มทุนจำนวน 5 หมื่นล้านบาทภายใน 2 ปี อาจจะใช้วิธีการกู้เงินจากสถาบันการเงิน การหาพันธมิตรร่วมทุน และการแปลงหนี้เป็นทุน เป็นต้น เพื่อให้มีต้นทุนมาหมุนเวียนในกิจการ โดยในกลางปี 2564 หรือประมาณในเดือนกรกฎาคมนี้ ต้องหาเงินเข้าระบบ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินงานและจ่ายชดเชยพนักงานที่ลาออก หลังพบว่าค่าจ้างหรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับบุคลากรในบริษัทสูงถึงปีละ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทตั้งเป้าต้องเหลือไม่เกินปีละ 1.2 หมื่นล้านบาท หรือลดพนักงานกว่า 50% ภายในเวลา 2 ปี ให้เหลือ 1.3-1.5 หมื่นคน ซึ่งคาดว่าจะลดค่าใช้จ่ายรวม 5 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2565

 

แผนธุรกิจการบินมองไว้ว่า เดือนกรกฎาคม 2564 การบินไทยจะกลับมาเปิดเที่ยวบินประจำเชิงพาณิชย์ได้แล้ว เริ่มเส้นทางยุโรป 5 เมือง คือ ลอนดอน ซูริค แฟรงก์เฟิร์ต โคเปนเฮเกน และปารีส ส่วนเอเชียเปิดบิน เมืองฮาเนดะ นาริตะโอซาก้า อินชอน ซิดนีย์ และสิงคโปร์ ส่วนเซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง ลุ้นการได้รับอนุญาตทำการบิน ระยะแรกบางเส้นทาง จะทำการบินสัปดาห์ละ 2-3 เที่ยวบินก่อน

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ก็อยู่ที่ไม่มีศึกใน และทุกคนร่วมมือกัน!!

 

⦁งัดโปรเด็ดดึงนักท่องเที่ยว
ศึกในก็ทำไปแต่ศึกนอกเริ่มร้อนระอุ! เมื่อมีวัคซีนต้านไวรัสแล้ว จากนี้สถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจสายการบินทุกรายไม่แค่การบินไทย เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์มากขึ้น และชิงออกแผนโปรโมตล่วงหน้าทันที

 

ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือไทยแอร์เอเชีย ประกาศแผนกระตุ้นการบินของบริษัท ยืนยันว่าสำหรับการบินภายในประเทศมีการออกโปรโมชั่นมาตลอด อาทิ ตั๋วบินบุฟเฟต์ 3,599 บาท เป็นต้น แต่อนาคตต้องอาศัยการเดินทางระหว่างประเทศ ถ้าการบินภายในประเทศกลับมาดีช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ และคาดว่าช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ จะมียอดการเดินทางเทียบเท่าก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

ส่วนการคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางโดยสายการบินของบริษัท เมื่อเทียบเปอร์เซ็นต์กับตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ในรอบแรก แบ่งเป็น ในไตรมาสที่ 4/2564 ประมาณ 30% ไตรมาสที่ 1/2565 ประมาณ 50% ไตรมาสที่ 2/2565 ประมาณ 75% ไตรมาสที่ 3/2565 ประมาณ 90% และกลับมาเป็น 100% ในไตรมาสที่ 4/2565

 

สำหรับเป้าหมายธุรกิจของไทยแอร์เอเชียปี 2564 ตั้งเป้ามีจำนวนผู้โดยสารรวม 9.4 ล้านคน เท่ากับปีที่แล้ว แต่รายได้จะมากกว่าปี 2564 เล็กน้อย เพราะสามารถคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น ตั้งเป้าลดต้นทุนให้ได้ 18-20% จากการปรับลดฝูงบินที่มีอยู่ 62 ลำ ให้เหลือ 54 ลำ ณ สิ้นปีนี้ เพื่อให้สอดรับกับดีมานด์การเดินทางจริง เพราะเครื่องบินเป็นต้นทุนหลัก มีค่าใช้จ่ายสูง โดย 8 ลำที่จะปรับออกจากฝูงบิน แบ่งเป็นการคืนเครื่องตามระยะสัญญา 6 ลำ และนำไปหมุนเวียนให้สายการบินในเครือแอร์เอเชียที่ประเทศอื่นใช้งาน 2 ลำ นอกจากนี้ยังคงบริหารกำลังพลพนักงานที่มีกว่า 5,000 คน ตามการใช้งานเครื่องบินอย่างต่อเนื่อง โดยไทยแอร์เอเชียยังคงมั่นใจว่าภาคการท่องเที่ยวและเดินทางจะกลับมา จึงยังรักษาการจ้างงานเอาไว้ ด้วยการใช้วิธีแบบ Furlough หรือให้มีพนักงานแอ๊กทีฟตามจำนวนเครื่องบินที่ใช้งาน ส่วนพนักงานที่ไม่ได้แอ๊กทีฟ ได้รับความร่วมมือในการหยุดงาน แต่ยังได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 25% ของเงินเดือน

 

⦁นกแอร์ยื่นแผนฟื้นฟู 15 มี.ค.
สายการบินนกแอร์ วุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ให้ข่าวแล้วว่า นกแอร์เตรียมยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง วันที่ 15 มีนาคมนี้ และอยู่ระหว่างการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ด้านต่างๆ และมั่นใจว่าตลอดการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูช่วง 3-5 ปี นกแอร์จะไม่มีปัญหาขาดกระแสเงินสดที่จะใช้ในการบริหารธุรกิจ เพราะได้เจรจากับผู้ถือหุ้นเรื่องการสนับสนุนวงเงินกู้ฉุกเฉิน และได้เร่งออกโปรโมชั่นแล้ว

ที่ต้องติดตามไม่แค่การบินไทย เสมือนสายการบินระดับชาติ จะกลับสยายปีกบินสง่าอยู่บนน่านฟ้าได้อีกครั้ง รวมถึงสายการบินอื่นที่เริ่มเปิดศึกชิงยอดจอง อัดแน่น ลด แลก แจก แถม ใครเป็นตัวจริงเป๋าตุง สงกรานต์รู้กัน!!

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง