นอกจาก "เสือโคร่ง" แล้วในประเทศไทยยังมีเสืออีกกี่ชนิด
จากกรณีนายหวาน ชาวกะเหรี่ยง อายุ 46 ปี ต.ปิล๊อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ถูก "เสือโคร่ง" ตะปบได้รับบาดเจ็บอาการสาหัส ถูกนำตัวส่งเข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 28 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา นับว่ามีความโชคดีในความโชคร้าย ที่สามารถรอดพ้นจากการไล่ล่าของเสือดังกล่าว ในประเทศไทยมีเสืออีกกี่ชนิด TrueID ได้รวบรวมข้อมูลมาให้แล้ว จะมีพันธุ์อะไรบ้างไปดูกัน
เสือในประเทศไทย
ในประเทศไทยมีสัตว์ตระกูลแมวอาศัยอยู่ในผืนป่า 9 ชนิด ได้แก่ เสือโคร่ง, เสือดาว/เสือดำ, เสือลายเมฆ, เสือไฟ, เสือปลา, เสือกระต่าย, แมวป่าหัวแบน, แมวลายหินอ่อน และแมวดาว โดยในที่นี้ไม่นับรวมแมวบ้านเนื่องจากพวกมันไม่ถูกจัดว่าเป็นสัตว์ป่าในเมืองไทย
เสือสกุล Panthera
เสือที่เรารู้จักกันดีคงไม่พ้น “เสือโคร่ง” ที่อยู่ในสกุลแพนเทอรา (Pantheara) ซึ่งเป็นกลุ่มเสือที่มีขนาดใหญ่และเป็นนักล่าผู้ยิ่งใหญ่ลักษณะของเสือโคร่งคือมีลายดำยาวพาดขวางตามลำตัวขนสีเหลืองปนเทาหรือสีเหลืองปนน้ำตาลและหางมีลายพาดดำขาวเป็นปล้องๆ
ความสำคัญอย่างยิ่งยวดของเสือโคร่งนั้นจะเป็นเรื่องของการควบคุมจำนวนของเหยื่อในระบบนิเวศ ซึ่งเสือโคร่งเป็นได้ถูกจัดให้เป็นตัวชี้วัดแสดงถึงฝืนป่าที่มีสภาพอันอุดมสมบูรณ์
เสือสกุล Felis
“เสือกระต่าย” หรือ “แมวป่า” (Jungle Cat) จัดเป็นผู้ล่าขนาดเล็กจนถึงกลางหากินได้ทั้งกลางวันและกลางคืนและกินอาหารได้หลากหลายชนิดเช่นหนูขนาดเล็กกระต่ายป่ากิ้งก่างูกบ
มันเป็นผู้ล่าสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีทำให้สามารถพบอยู่ในพื้นที่ที่ค่อนข้างโปร่งเช่นป่าที่หญ้าสูงหรือแม้แต่ตามพื้นที่เกษตรกรรม
นอกจากนี้ การพบเสือกระต่ายตัวล่าสุดที่พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จ.เชียงใหม่ ยังเป็นความหวังว่า ถ้ายังมีพื้นป่าอุดมสมบูรณ์หลงเหลืออยู่ก็คงยังมีสัตว์ป่าที่เราอาจจะคิดว่ามันหายไปจากประเทศไทยเมื่อนานมาแล้ว
เสือสกุล Neofelis
ทั่วทั้งโลกมีเสือในสกุล Neofelis เพียงชนิดเดียวเท่านั้น คือ “เสือลายเมฆ” (Clouded Leopard) ซึ่งเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable -VU)
เสือลายเมฆ ถือได้ว่าเป็นนักล่าที่มีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากมันมีเขี้ยวที่ยาวและแข็งแรงเหมาะสมในการล่าเหยื่อ เป็นนักล่าที่เราสามารถกล่าวได้ว่ามีความคล่องตัว สามารถปีนป่ายต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว หางที่ยาวช่วยในการทรงตัว และมันมักหากินบนต้นไม้มากกว่าบนพื้นดิน
เสือสกุล Prionailurus
เสือในสกุล Prionailurus ที่พบในไทยประกอบไปด้วย “แมวดาว” (Leopard Cat), “แมวป่าหัวแบน” (Flat-headed Cat) และ “เสือปลา” (Fishing Cat) กล่าวได้ว่าเสือสกุลนี้มีลักษณะโดยรวมคล้ายแมวบ้านเลยทีเดียวโดยเฉพาะแมวดาว
“แมวดาว” เป็นแมวป่าที่มีการปรับตัวให้อาศัยในป่าได้หลากหลายชนิดเช่นป่าดิบเขาป่าเบญจพรรณพื้นที่เกษตรกรรมฯลฯ
ส่วน “แมวป่าหัวแบน” และ “เสือปลา” เป็นแมวที่ไม่กลัวน้ำ ชอบอาศัยใกล้แหล่งน้ำ เนื่องจากเป็นแมวที่ชอบจับปลากินเป็นอาหาร
เสือสกุล Pardofelis
“แมวลายหินอ่อน” (Marbled Cat) จัดเป็นผู้ล่าขนาดเล็ก ส่วนใหญ่หากินกลางคืน มักกินกระรอก ค้างคาว นก สัตว์เลื้อยคลาน ฯลฯ ที่อยู่บนต้นไม้เป็นหลัก นอกจากนี้ยังกินพวกกบและแมลงอีกด้วย
ความพิเศษของแมวลายหินอ่อน คือ ลักษณะทางกายภาพที่ถูกออกแบบมาเพื่ออาศัยอยู่บนต้นไม้โดยเฉพาะ ได้แก่ ลักษณะโครงสร้างของตีน ขาที่สั้น และหางที่ยาว มีอุ้งตีนที่อ่อนนุ่ม และเวลานั่งมักจะหดหัวเล็กน้อยและงอหลัง ทำให้อุปนิสัยของแมวลายหินอ่อนมักอยู่อาศัยบนต้นไม้และสามารถปีนป่ายได้อย่างคล่องแคล่ว
จากรายงานพบว่า แมวป่าหินอ่อนเป็นสัตว์ที่หายากมาก ด้วยจำนวนที่น้อยและพฤติกรรมการหากินในเวลากลางคืน ทำให้ไม่สามารถระบุจำนวนประชากรได้แน่ชัด นอกจากนี้ตัวแมวลายหินอ่อนยังถูกล่าเพื่อนำไปเป็นสัตว์เลี้ยงเนื่องจากความสวยงามอีกด้วย
เสือสกุล Catopuma
Karen Stout : Creative Commons Attribution-Share Alike 2.0 Generic
“เสือไฟ” (Asiatic golden cat) ถูกจัดเป็นผู้ล่าขนาดกลาง ส่วนใหญ่ออกหากินเวลากลางคืน สามารถปีนต้นไม้ได้ มักหากินอยู่ตามพื้นดิน อาหารจะเป็นพวกหนู นก กระต่ายป่า และสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก
เสือไฟ สามารถปรับตัวให้อยู่ในป่าได้ทุกสภาพ เช่น ป่าดิบแล้ง ดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ นอกจากนี้เสือไฟเป็นเสือที่ชาวล้านนาในอดีตเชื่อว่าเป็น “พญาเสือ” เนื่องจากมีพฤติกรรมดุร้ายมากกว่าเสือขนาดใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานที่ว่า เสือไฟสามารถเข้าไปล่าปศุสัตว์ในพื้นที่รอบชุมชนอยู่บ่อยๆ
ปัจจุบันสามารถพบเสือไฟในประเทศไทยได้ยาก เนื่องจากมันสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย และจากการที่พวกมันถูกล่าเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านไสยศาสตร์ โดยเฉพาะเขี้ยวของเสือไฟที่เชื่อถือกันว่าเป็นเครื่องรางของขลังไว้ใช้คุ้มครองตัว จึงทำให้เสือไฟมักตกเป็นเป้าหมายในการไล่ล่า
ข้อมูล : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร , Wikipedia
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.
คลิกเลย >>> TrueID Community <<<