10 มาตรการรัฐช่วยน้ำมันแพง ใกล้หมดอายุแล้วมีอะไรบ้าง?
ปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจในบ้านเรายังคงต้องเผชิญกับวิกฤตหลายด้าน ทั้งโควิด-19 ที่กำลังอยู่ในช่วงทยอยคลี่คลาย ตัวเลขคนติดเชื้อลดลง แต่ดันมีวิฤตเข้ามาอีกซ้ำซ้อน จากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จนทำให้ราคาพลังงานพุ่งกระฉูด ทั้งน้ำมัน ก๊าซ และค่าไฟฟ้า กระทบยาวเป็นลูกโซ่ให้ราคาข้าวของแพงขึ้น ตามต้นทุนที่ต้องขึ้นตามมา
ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออก 10 มาตรการช่วยเหลือประชาชนบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในช่วงที่ ราคาน้ำมัน ปรับสูงขึ้น เริ่มมีผลตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และจะหมดอายุมาตรการในเร็วๆนี้ หรือปลายเดือนมิ.ย.นี้แล้ว
10 มาตรการช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงานแพง
มีดังนี้
1.การเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อเป็นส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม
สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มเงินจากเดิม 45 บาทต่อเดือน เป็น 100 บาทต่อเดือน
2.ให้ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม
เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเคยลงทะเบียนกับทาง ปตท.ไว้แล้ว มีประมาณ 5,500 คน
3.ช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง
สำหรับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมัน 250 บาทต่อเดือน และขอให้กรมการขนส่งทางบกกำกับราคาการให้บริการเพื่อให้ผู้ใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าเดิม
4.คงราคาขายปลีก ผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV 15.59 บาทต่อกิโลกรัม
โดยเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV จำนวน 318,000 คนไว้ โดยคงที่ราคา 15.59 บาทต่อกิโลกรัม
5.ผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการ "ลมหายใจเดียวกัน"
ในกลุ่มผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ จำนวน 17,000 คน สามารถซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 บาท/กิโลกรัม ในวงเงิน 10,000 บาทต่อเดือน
6.ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้า(Ft) ลง 22 สตางค์ต่อหน่วย
สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน มีจำนวน 20 ล้านหลังคาเรือน โดยลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ลง 22 สตางค์ต่อหน่วย ในช่วงเดือน พ.ค-ส.ค.2565
7.กำกับดูแลการปรับราคาก๊าซหุงต้ม
ในช่วงตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย.โดยจะมีการขึ้นราคาเดือนละ 1 ครั้ง แต่จะมีการใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยลดผลกระทบจากการปรับราคาให้ไม่ขึ้นสูงเกินไป โดยตั้งแต่เดือน เม.ย.มีการทยอยขึ้นครั้งแรกในอัตรา กก.ละ 1 บาท โดยถังขนาด 15 กก. จะขึ้น 15 บาท ไปอยู่ที่ 333 บาท และขึ้นครั้งที่สอง เดือน พ.ค. อีก 15 บาท ไปอยู่ที่ 363 บาท และครั้งที่สาม เดือน มิ.ย. อีก 15 บาท เป็น 363 บาท พอหลังจากเดือนนี้แล้วจะขึ้นอีกเท่าไหร่ กระทรวงพลังงานยังอยู่ระหว่างพิจารณา
8.ลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1%
สำหรับผุ้ประกอบการหรือนายจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จำนวน 486,354 ราย และลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 จำนวน 11.19 ล้านราย จาก 5% เหลือ 1% เพื่อให้นายจ้างและลูกจ้างสามารถมีกำลังในการใช้จ่าย และผู้ประกอบการสามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจในช่วงถัดไป หากคิดจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท ลูกจ้างในกลุ่มนี้ต้องจ่ายเงินสมทบเดือนละ 750 บาท จะเหลือจ่าย 150 บาท ลดภาระลงได้ 600 บาทต่อเดือน รวมระยะเวลา 3 เดือน เป็นเงิน 1,800 บาท
9.ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40
โดยปรับลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน จาก 9% ของฐานค่าจ้าง 4,800 บาท หรือเดือนละ 432 บาท เหลือเดือนละ 1.9% หรือ 91 บาท เท่ากับลดเงินนำส่งได้เดือนละ 341 บาท และลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10.66 ล้านคนลงเหลือ 42-180 บาทต่อเดือน
10.ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 35 บาทต่อลิตร
ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 35 บาทต่อลิตร (ช่วยออกครึ่งหนึ่งที่เกิน 30 บาท) ไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.2565 คาดว่าจะปรับ ขึ้นไปลิตรละ 38 บาท ผู้ใช้จะจ่ายที่ลิตรละ 30+4 บาท และรัฐช่วยจ่ายลิตรละ 4 บาท
อย่างไรก็ตามในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดหน้าลหายฝ่ายยังหวังว่ารัฐบาลจะต่ออายุมาตรการด้านพลังงาน ช่วยเหลือในช่วง น้ำมันแพง นี้ออกไปให้ได้นานที่สุด จนกว่าราคาพลังงานจะปรับลดลง
ข้อมูลจาก : https://www.thaigov.go.th/
ภาพจาก : TNN Onlin ,AFP