เปิดทริคจับผิดกลโกง ‘หลอกเทรดหุ้นนอก’
เรื่องร้อนฉ่า ‘Talk of the town’ ในช่วงนี้ ต้องยกให้กับคดี Forex3D ที่เป็น ‘แชร์ลูกโซ่’ วงใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับดารานักแสดงไทยชื่อดังจำนวนมาก และ ‘เจ้ามือ’ อาจจะรวมถึงดาราถูกจับหรือกำลังถูกเรียกตัวเพื่อส่งฟ้องศาล ท่ามกลางความเสียหายที่เกิดขึ้นรวมเป็นยอดเงินถึงหลายพันล้านบาททีเดียวและผู้ที่เกี่ยวข้องตกเป็นเหยื่อนับหมื่นคน
แชร์ลูกโซ่ Forex 3D ปูดขึ้นมาได้ เพราะน้ำลดตอผุดจากเมื่อ 2-3 เดือนก่อนหน้า มีการร้องเรียนต่อตำรวจจากผู้เสียหายที่สูญเงินกันจำนวนมาก หรือ ‘ถูกโกง’ ซึ่งจริงๆ กระบวนการแชร์ลูกโซ่ Forex 3D เกิดขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีก่อนแล้ว จึงเป็นที่มาของการสืบสาวราวเรื่องจากเหตุวงแตก จึงพบผู้เกี่ยวข้องที่ชักชวนกันมายาวเป็นสายและซัดทอดกันอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวใหญ่จนถึงวันนี้ยังไม่จบสิ้นง่ายๆ
ทุกวันนี้ ‘กระแสหลอกชวนลงทุน’ ระบาดหนักข้อและกระจายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งปัจจุบัน วิธีการหลอกลงทุนหรือกลโกงยุคใหม่เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโลกออนไลน์หรือออฟไลน์ เพราะแน่นอนว่า ใครๆ ก็อยากรวยเร็ว จึงเป็นช่องโหว่ให้เหล่าบรรดามิจฉาชีพที่แฝงตัวกระจายอยู่ในทุกวงการ พร้อมทำการหลอกลวงคุณได้ง่ายๆ ด้วยคอนเช็ปต์ที่เน้นเอาผลตอบแทนสูงในระยะสั้นมาล่อใจให้โดดร่วมวง นับเป็นมหันตภัยที่อยู่รอบตัวคุณที่พร้อมจะทำคุณหมดเนื้อหมดตัวได้และมีความเสี่ยงสูงที่ต้องถูกให้รับผิดชอบทางกฎหมายด้วย
@ ทริคจับผิดกลโกงมิจฉาชีพหลอกเงินลงทุน
บรรดา ‘มิจฉาชีพ’ จำนวนมากพยายามแฝงตัวเข้าไปอยู่ปะปนในแวดวงการลงทุนสินทรัพย์ต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนหุ้นไทยหรือหุ้นนอก การลงทุนคริปโทเคอร์เรนซี และการลงทุนทองคำ หรือธุรกิจต่างๆ ซึ่งมักหยอดข้อเสนอสุดเร้าใจให้คุณติดเบ็ดและตกเป็นเหยื่อโดยปริยาย
ปัญหาใหญ่อยู่ที่เหล่ามิจฉาชีพขยันทำงานมากและพัฒนากลยุทธใหม่ๆ ทุกรูปแบบโดยเฉพาะใช้เครื่องมือดิจิทัลต่างๆ ในการเข้าถึงคุณจนไม่ทันตั้งตัว ซึ่งรูปแบบหลักๆ ที่ทำกันโจ่งแจ้งได้แก่
- การแอบอ้างชื่อผู้มีชื่อเสียงเพื่อชักชวนลงทุนและเชิญชวนลงทุนผ่านทางโลกออนไลน์ ด้วยการเอาความน่าเชื่อถือของบุคคลเหล่านี้ มาสร้างข้อมูลปลอมเพื่อชักชวนให้ลงทุนหรือโอนเงิน ซึ่งคนจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อจนเกิดความเสียหายสูญเงินกันขึ้นมา
- การเปิดเพจ Facebook หรือ Line Official รวมถึงช่องทางอื่นๆ ที่มักจะใช้โลโก้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือหรือให้คนเข้าใจผิด เช่นใช้ Logo ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นต้น เพื่อหลอกให้ประชาชนร่วมลงทุน
- การทำภาพ infographics ให้ข้อมูลจูงใจ ด้วยตัวเลขผลตอบแทนที่โดดเด่นเตะตา แต่เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินจำนวนไม่มากนัก หรือใช้เอกสารแอบอ้างบริษัทจัดการกองทุน แต่กลับให้โอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัว
- การให้โอนเงินเข้า ‘บัญชีม้า’ ซึ่งเป็นบัญชีที่ถูกซื้อมาจากคนที่รับจ้างเปิดบัญชีนั่นเอง เหมือนเคส FX 3D ที่มีบัญชีม้า เพื่อรองรับเงินที่จะเข้ามา และเงินนี้ก็ถูกโอนต่อไปเรื่อยๆ หลายบัญชี บางครั้งปลายทางคือต่างประเทศ หรือนำไปเปลี่ยนเป็นคริปโทฯ แทนแล้ว ซึ่งทำให้สืบสาวความได้ยากขึ้น ส่วนใหญ่จับได้แต่คนรับจ้างเปิดบัญชีที่เป็นด่านแรกเท่านั้น ยากที่จะเข้าถึงตัวเจ้ามือหรือต้นตอนั้นๆ
แม้แต่ผมก็ถูกแอบอ้างชื่อมาแล้ว โดยมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อบริษัทของผม (Jitta Wealth) ก่อน พวกนี้จะขยันทำภาพหลอกลวงใหม่ๆ ทั้งเพจ เว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น และแอบอ้างว่าเป็น Jitta Wealth อย่างต่อเนื่อง และยังเอารูปของผมไปใส่ใช้ชื่อเพจปลอมที่ใส่รูปโปรไฟล์เป็นรูปเดียวกันกับเพจ Jitta Wealth พร้อมแสดงเอกสารยืนยันให้ดูสมจริงด้วย มิจฉาชีพพวกนี้จะอ้างว่าเป็นโค้ชหรือตัวแทนของ Jitta Wealth ใส่สัญลักษณ์ของ SET เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือหรือนำข่าวจากเพจจริงไปโพสต์ในเพจปลอมเพื่อให้ยิ่งดูสมจริงไปอีกครับ และที่เลวร้ายกว่า คือ ‘มิจฉาชีพ’ สวมรอยมาเตือนว่า ‘โปรดระวังมิจฉาชีพ!!’
นอกจากผมที่ถูกแอบอ้างชื่อแล้ว ยังมีผู้มีชื่อเสียงที่มีความน่าเชื่อถืออีกหลายท่านตกเป็นข่าว ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ หรือ พิธีกรด้านการเงินการลงทุน ดารานักแสดงและยูทูบเบอร์ด้านการลงทุนและพัฒนาตัวเอง แม้แต่แชมป์สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ตลาดหุ้นไทย ล้วนเคยถูกแอบอ้างชื่อเพื่อหลอกคนอื่นมาลงทุนเช่นกัน
สิ่งที่มิจฉาชีพจะทำให้หลายคนหลงเชื่อเข้าร่วมวงด้วย นั่นก็คือ วิธีการให้ข้อมูลเพื่อตอบคำถามก่อนตัดสินใจลงทุน เช่น ทำไมต้องมาเทรดให้ เทรดให้แล้วจะได้เงินจริงไหม หลายคนที่เชื่อก็ตัดสินใจร่วมลงทุน นอกจากนี้ยังมีการใช้โซเชียลมีเดียในการอัปเดตข้อมูลที่อ้างว่าได้กำไรสูง ที่ทำให้คนที่ลังเลอยู่ก็อยากลองลงทุนดูซักครั้ง
ตัวอย่างกรณีที่พูดกันมาก เช่น ‘Nutty’s Diary’ หรือ ‘นัตตี้’ ยูทูบเบอร์สาวที่เปิดรับโอนเงินไปเทรดหุ้น โดยระบุว่าจะมีกำไรโอนให้ทุกเดือน สูงสุดเดือนละ 35% แต่สุดท้ายก็เริ่มไม่มีการโอน ตามมาด้วยผู้เสียหายจำนวนมาก คาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายรวม 2,000 ล้านบาทที่ถูกโกงกันไป
@เกราะกันภัย ลงทุนออนไลน์อย่างไรไม่ให้ถูกหลอก
ในเมื่อมิจฉาชีพยุคนี้ร้ายนัก ขยันพัฒนากลโกงหลากหลายรูปแบบมาหลอกลวงประชาชนและผู้ลงทุน เพราะฉะนั้น คุณยิ่งต้องระมัดระวังและตรวจสอบก่อนตัดสินใจลงทุนให้มากยิ่งขึ้น
ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้แนะนำ 6 เคล็ด (ไม่) ลับ การลงทุนออนไลน์ไม่ให้ถูกหลอก ไว้เป็นเกราะกันภัย
ข้อ1.อย่าผลีผลามลงทุนตามคำชวนใน social media ไม่ว่าจะมาทางช่องทางใด หรือแอปพลิเคชันไหนก็ตาม
ข้อที่ 2. สังเกตสัญญาณเตือนภัยกลโกงจากข้อเสนอการลงทุน ที่มีลักษณะผลตอบแทนที่ดูดีเกินไป มีการรับประกันผลตอบแทน มีการเร่งรัดให้ตัดสินใจลงทุน ดึงดูดใจด้วยสินทรัพย์ใหม่ๆ
ข้อที่ 3. ไม่ลงทุนจากคำชวนของคนใน social media ทั้งที่ยังไม่ทำการตรวจสอบ ที่สำคัญควรระมัดระวังการแอบอ้าง ชื่อ-ภาพผู้มีชื่อเสียง ชื่อ-โลโก้ของ ก.ล.ต. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน ชื่อ-โลโก้ของผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ซึ่งมักปรากฏมากขึ้นทุกวัน โดยที่บุคคลที่ถูกแอบอ้างไม่รู้เรื่องเลย
ข้อที่ 4️. รักษาความเป็นส่วนตัว และตั้งค่าความปลอดภัยบน social media ไว้เป็นอย่างดี
ข้อที่ 5️. ต้องไม่ฝากหรือโอนเงินลงทุนเข้า ‘บัญชีส่วนตัวของบุคคลธรรมดา’ โดยเฉพาะคนที่มาชักชวนลงทุน หรืออ้างว่าเป็นตัวแทนบริษัท
ข้อ 6️. เช็คให้ชัวร์ก่อนลงทุน ทำให้แน่ใจว่าเป็นบริษัทลงทุนที่มีตัวตนจริง ไม่มีเจตนาหลอกลวงใดๆ
ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการในตลาดทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ได้ที่ช่องทางต่างๆของ ก.ล.ต. ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน และหากพบเบาะแสหรือพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ หรือสงสัยว่าเป็นการหลอกลวงให้ลงทุน สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่ ‘ศูนย์บริการประชาชน สำนักงาน ก.ล.ต.’ โทร 1207 หรือทางเฟซบุ๊กเพจ ‘สำนักงาน ก.ล.ต.’ หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th
แน่นอนว่า การลงทุนมีความเสี่ยงมาคู่กับผลตอบแทนที่จะได้รับ ผู้ลงทุนควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน ในบางครั้งแม้ว่าคุณจะมีการพิจารณาการลงทุนอย่างรอบด้าน ก็อาจจะยังมีโอกาสขาดทุนจากการลงทุนได้ เพราะฉะนั้นคุณจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงจากการลงทุนให้ดีระดับหนึ่งก่อนตัดสินใจลงทุน
แต่ที่สำคัญกว่ามากๆ คือ เรื่องของการหลอกลวงและการฉ้อโกงในรูปแบบต่างๆ จากมิจฉาชีพที่อาจทำให้สูญเสียเงินทองเป็นจำนวนมากได้ เพราะฉะนั้นเมื่อคุณก้าวเข้ามาสู่โลกแห่งการลงทุน คุณจะต้องขยันติดตามและรู้ทันกลโกงต่างๆ อย่างใกล้ชิดด้วย เนื่องจากในปัจจุบันเรื่องของ ‘การลงทุน’ เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพและทุกฐานะด้วย จึงส่งผลให้ถูกชักชวนได้ง่าย โดยมีผลตอบแทนสูงที่ล่อตาล่อใจให้คล้อยตามง่ายขึ้นด้วยหรือบางคนก็แห่เข้ามาตามกระแสคนหมู่มาก
@ ลงทุนต่างประเทศอย่างไร ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ พอร์ตปลอดภัย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า มีคนจำนวนมากให้ความสนใจและอยากจะออกไปลงทุนในต่างประเทศกันมากขึ้น ซึ่งการออกไปลงทุนต่างประเทศ ช่องทางหลักๆ จะต้องเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมสูง อีกวิธี คือการลงทุนผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ
ซึ่งระยะหลังแห่กันเปิดขึ้นมามากมาย จนบางครั้งก็ไม่รู้ที่มาที่ไปของแพลตฟอร์มนั้นๆ ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้คุณสูญเสียเงินทองได้ เพราะมิจฉาชีพแฝงตัวให้บริการบนแพลตฟอร์มจำนวนมาก และไม่มีใครรู้ว่าเจ้าของแพลตฟอร์มนั้นเป็นใครกันแน่
รู้เพียงว่ามีแพคเกจบริการเสนอค่าธรรมเนียมถูกและการันตีผลตอบแทนให้ เหยื่อก็จะติดเบ็ดง่ายๆ ซึ่งจะเลือกกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นลูกคุณหนูที่ชอบอะไรมาง่ายๆ หรือผู้สูงวัยที่ไม่ทันเทคโนโลยี หรืออาจจะเป็นคนทั่วไปที่ไม่ค่อยรู้เรื่องการลงทุนมากนัก แต่อยากนำเงินออกไปลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนดีๆ บ้าง ก็จะทำให้ถูกหลอกจนกลายเป็นข่าวร้อนรายวัน
ผมแนะนำว่า หากคุณรู้ว่าตัวเองไม่ถนัดหรือเชี่ยวชาญการลงทุน แต่อยากบริหารเงินลงทุนให้เติบโต ก็สามารถเลือกลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนดีกว่าครับ เพราะมีผู้จัดการกองทุนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่ติดตามและตรวจสอบข้อมูลการลงทุนตลอดเวลา และมีทีมงานดูแลทั้งการบริหารเงินและบริการข้อมูลคำแนะนำการลงทุนต่างๆให้คุณอย่างมืออาชีพ ปัจจุบันมีบริษัทบริหารกองทุนส่วนบุคคลให้เลือกลงทุนจำนวนไม่น้อย ซึ่งแต่ละบริษัทจะมีจุดเด่นแตกต่างกันไป
หากเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจจากก.ล.ต.ในการให้บริการกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งปัจจุบันมีสินทรัพย์ให้เลือกลงทุนตรงใจรับผลตอบแทนเต็มอิ่มเมื่อลงทุนระยะยาว ที่สำคัญค่าธรรมเนียมการบริการอยู่ในราคาที่ถูก เนื่องจากมีการบริหารกองทุนผ่านระบบ AI จึงทำให้มีต้นทุนที่ถูก แถมยังมีดูแลบริหารปรับพอร์ตลงทุนให้อัตโนมัติทุก 3 เดือนด้วย ช่วยให้พอร์ตลงทุนคุณเติบโตได้ในระยะยาว
แต่สิ่งสำคัญอย่าลืมนะครับ ว่า ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ โปรดเช็คให้แน่ใจว่า มาจากเพจ Official ของจริง Jitta Wealth หรือไม่ โดยคุณสามารถสังเกตได้จาก
1. ยอดไลก์เพจ ถ้าเป็นเพจปลอมจะมียอดไลก์น้อยกว่าเพจจริง และมียอดไลก์หลักพันหลักหมื่นขึ้นไป
2. URL เพจจริงจะเป็นชื่อที่สะกดถูกต้องเป็น ภาษาอังกฤษที่มีความหมายชัดเจน ไม่มีตัวเลขปะปนผสมอยู่
3. ภาษาที่เพจปลอมใช้ มักเป็นภาษาที่อ่านแล้วรู้สึกไม่ลื่นไหลหรือมีการพิมพ์ผิด
4. การการันตีผลตอบแทน นอกจากจะทำไม่ได้จริงแล้ว ยังผิดกฎหมายด้วยครับ เพราะฉะนั้นถ้าเห็นการันตีผลตอบแทนหรือปันผลต่อวันหรือต่อเดือนหรือต่อปี XX บาท หรือ XX% แบบนี้ อยากให้สงสัยไว้ก่อนว่า ‘ปลอม’ จัดเป็นมิจฉาชีพได้แน่นอน
5. โอนเงินเข้าบัญชีที่เป็นชื่อบุคคล ไม่ใช่ชื่อบริษัท
6. Jitta Wealth ไม่มีโค้ช ไม่มีตัวแทนไม่มีการสอนเทรดนะครับ
7. Line ของ Jitta Wealth มีบัญชีเดียวเท่านั้นคือ @JittaWealth ไม่มีการติดต่อผ่านคนกลางนะครับ สังเกตุให้ดี ผมไม่อยากให้ทุกคนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ
เพราะฉะนั้น ขอให้นักลงทุนทุกท่านตั้งสติก่อนลงทุน อย่าให้ความโลภบังตา ควรตรวจสอบให้ละเอียดทุกครั้ง และอย่าหลงเชื่อผลตอบแทนที่ได้มาง่ายและสูงเกินจริงนะครับ
สุดท้าย ผมขอบอกว่า คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยพลาดกับมิจฉาชีพที่โทรมาจากข้างนอก แต่มักจะพลาดกับคนรู้จักที่เข้ามาแนะนำ อย่าลืมนะครับคนพวกนี้ได้ค่านายหน้าหากเราหลงเป็นเหยื่อก็เข้าทางมิจฉาชีพแน่นอน
สำหรับผมการลงทุนไม่ใช่เรื่องโชคชะตา แต่เป็นเรื่องของหลักการที่ถูกต้องครับ ทางที่ดีที่สุดคุณควรศึกษาการลงทุนด้วยตัวเองให้เข้าใจ การลงทุนที่พวกเขามาเชื้อเชิญให้ลงทุนนั้นมีหลักการที่น่าเชื่อถือหรือไม่ อย่างน้อยก็พื้นฐานการลงทุน เพื่อให้มีวิจารณญาณก่อนตัดสินใจลงทุน แล้วค่อยๆ พัฒนาตัวเอง ศึกษาหลักการลงทุนที่ถูกต้อง เพื่อให้เงินงอกเงยในระยะยาวครับ
เพราะเมื่อความเสียหายเกิดขึ้น ไม่มีคนชวนคนไหนมารับผิดชอบการสูญเสียให้เราได้ คนเจ็บก็คือตัวคุณเองนั่นแหละครับ ดังนั้นแล้ว ‘ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน’ นะครับ
ที่มา ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์
ภาพประกอบ Jitta Wealth