รีเซต

"ยิ่งใช้ยิ่งได้-คนละครึ่งเฟส3" สรุปทุกมาตรการเยียวยาโควิด กระตุ้นเศรษฐกิจรอบล่าสุด

"ยิ่งใช้ยิ่งได้-คนละครึ่งเฟส3" สรุปทุกมาตรการเยียวยาโควิด กระตุ้นเศรษฐกิจรอบล่าสุด
TNN ช่อง16
7 พฤษภาคม 2564 ( 10:52 )
148
"ยิ่งใช้ยิ่งได้-คนละครึ่งเฟส3" สรุปทุกมาตรการเยียวยาโควิด กระตุ้นเศรษฐกิจรอบล่าสุด

ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเสร็จสิ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha" สรุปถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งสรุปได้เป็นมาตรการที่ได้นำเสนอต่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ดังนี้

มาตรการระยะที่ 1 ประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก ที่สามารถดำเนินการได้ทันที ได้แก่ 

1. มาตรการด้านการเงิน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 มาตรการ คือ

- มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ และเกษตรกร โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายละ 10,000 บาท ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติ ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 ปี ปลอดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก

- มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) โดยให้ขยายระยะเวลาพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ ออกไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อลดภาระ และสามารถนำเงินที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นเสริมสภาพคล่อง ซึ่งจะจากผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อดูแลลูกหนี้ได้อย่างเหมาะสม

2. มาตรการด้านการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย โดยภาครัฐจะลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า และน้ำประปาของประชาชน และกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศ ในช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2564 เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและกิจการที่ถูกปิด 

3. มาตรการต่อเนื่องด้านการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ประกอบด้วย 2 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 85,500 ล้านบาท ได้แก่

- การเพิ่มวงเงินโครงการเราชนะ อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดเวลาการใช้จ่ายในเดือนมิถุนายน 2564 วงเงินรวมประมาณ 67,000 ล้านบาท

- การเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนโครงการ ม.33 เรารักกัน อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดเวลาการใช้จ่ายในเดือนมิถุนายน 2564 วงเงินรวมประมาณ 18,500 ล้านบาท

มาตรการระยะที่ 2 ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2564 ที่ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก กรอบวงเงินประมาณ 140,000 ล้านบาท ได้แก่

1. มาตรการลดภาระค่าครองชีพ ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่

- โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน 

- โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน 

2. มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน "กลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้สูง" ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่

- โครงการ "คนละครึ่ง" ระยะที่ 3

มาตรการนี้ สำหรับผู้ร่วมโครงการรายเดิม จะมีการสอบถามผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตังว่า ต้องการเข้าร่วมโครงการนี้ต่อหรือไม่ โดยให้กดยอมรับให้แอปพลิเคชั่นดังกล่าว ถ้าต้องการเข้าร่วม ระบบก็จะทำการเติมเงินเข้าเป๋าตังให้เหมือนเดิม กรณีรายใหม่ที่ต้องการเข้าร่วม จะต้องทำการลงทะเบียนใหม่ ทั้งนี้ มาตรการนี้ รัฐบาลจะใส่เงินให้ทั้งหมด 3 พันบาทต่อคน

สำหรับโครงการคนละครึ่งเฟส 3 นี้ จะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดจำนวน 31 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้ที่เคยได้สิทธิ์ ในโครงการคนละครึ่งเฟส 1 และ เฟส 2 แล้ว จำนวน 15 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่

ส่วนผู้ที่ยังไม่เคยรับสิทธิ์โครงการคนละครึ่งนั้นกระทรวงการคลังจะเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มอีก 16 ล้านสิทธิ์ซึ่งวันที่จะเปิดให้ลงทะเบียนจะมีความชัดเจนเร็วๆนี้ สำหรับรูปแบบการใช้จ่ายจะเป็นแบบโคเพย์ (Co-pay) โดยรัฐบาลจะโอนเงินเข้าแอปพลิเคชั่น "เป๋าตัง" ให้วันละ 150 บาททุกวันจนครบ 3 พันบาท

- โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้”

โครงการนี้จะเป็นโครงการใหม่ โดยภาครัฐจะสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ให้แก่ผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เมื่อชำระเงินผ่าน g-Wallet บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กับผู้ประกอบการร้านค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อสูงให้นำเงินออกมาใช้จ่ายและสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

โดยมาตรการในระยะที่ 2 ทั้ง 4 โครงการข้างต้นจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายกว่า 51 ล้านคน และคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 473,000 ล้านบาท ซึ่งมาตรการในระยะที่ 2 นี้ ครม.ได้รับทราบในหลักการ และหน่วยงานที่รับผิดชอบจะเร่งดำเนินการเพื่อขออนุมัติจาก ครม.ต่อไป


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง