“ตำนานบ๊ะจ่าง” เกิดจาก “ฟาสต์ฟู๊ดชาวนา” ก่อนเป็นขนมไหว้ในจีน
ช่วงนี้กำลังเข้าสู่เทศกาลไหว้บะจ่าง หรือ ตว้านอู่ ตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติ ทำให้ “ขนมบ๊ะจ่าง” ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเพียงนำส่วนผสมที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นไข่แดง เห็ดหอม เผือกกวน แปะก๊วย กุนเชียง เนื้อหมู และกุ้งแห้ง มายำ ๆ รวมกับข้าวเหนียวและห่อด้วยใบไผ่ให้เป็นสามเหลี่ยมจะขายดิบขายดีขนาดนี้
แน่นอนว่าขนมบ๊ะจ่างมีตำนานที่เล่าขานกันมาช้านาน และมีผู้หยิบยกไปนำเสนอมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่น่าประหลาดใจ นั่นคือ ตามประวัติศาสตร์แล้วขนมบ๊ะจ่างนี้เป็น “ฟาสต์ฟู๊ดสำหรับชาวนา” เลยก็ว่าได้
บ๊ะจ่างสันนิษฐานว่าปรากฏครั้งแรกในช่วง 278 ปีก่อนคริสตกาล ในดินแดนที่เรียกในปัจจุบันว่าจีน ซึ่งเป็นอาหารที่ชาวนามักพกไปรับประทานในยามที่ต้องไปดำนาเสมอ เนื่องมาจากการดำนานั้น มักใช้เวลายาวนาน ต้องทำตลอดทั้งวัน และไม่ได้แล้วเสร็จในวันเดียว และอาจจะต้องมีการ “ลงแขก” อีกด้วย
การจะมานั่งล้อมวงกินข้าวแบบครบมื้อ อาจจะไม่สะดวกกับการแข่งกับเวลาเท่าไรนัก ดังนั้น การที่พวกเขาห่อข้าวที่ผสมกับวัตถุดิบและเครื่องเคียงหลากหลายรวมเป็นเนื้อเดียว อาจจะประหยัดเวลา และประหยัดพื้นที่ในการขนของจากบ้านมานาอย่างมาก
การจะทำให้บ๊ะจ่างรวมส่วนผสมเป็นเนื้อเดียวได้แบบไม่หลุดออกจากกันนั้น นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า พวกเขาใช้ “เขาสัตว์แบบขูดให้กลาง” ของวัว โดยการยัด ๆ เข้าไปให้สุดปลายเขา เมื่อแกะออกมาจะได้เป็นลักษณะ “สามเหลี่ยม” แบบที่คุ้นตากัน และค่อยนำใบไผ่มาห่ออีกทีหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อโต้แย้งออกมาว่า ชาวนาของจีนสมัยก่อนอาจจะไม่ได้ “กินหลากหลาย” พวกเขากินเพียงข้าวเหนียวเฉย ๆ หรืออาจจะมีเนื้อสัตว์บ้างชิ้นสองชิ้น ไม่ได้ครบเครื่องแบบบ๊ะจ่างแต่อย่างใด
แหล่งอ้างอิง