รีเซต

พบพืชทรหด ! อาจมีชีวิตรอดได้บนดาวอังคาร อีกก้าวสำคัญในการตั้งอาณานิคมต่างดาว ?

พบพืชทรหด ! อาจมีชีวิตรอดได้บนดาวอังคาร อีกก้าวสำคัญในการตั้งอาณานิคมต่างดาว ?
TNN ช่อง16
4 กรกฎาคม 2567 ( 10:13 )
86

หากใครที่เคยดูภาพยนตร์ The Martian ก็คงจะจำได้ว่าตัวละครเอกปลูกมันฝรั่งบนดาวอังคาร แต่ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์จากประเทศจีน เพิ่งค้นพบว่าพืชที่อาจอยู่รอดได้บนดาวยักษ์แดงนี้ เป็นมอสส์ในทะเลทรายชนิดหนึ่งชื่อว่าซินทรีเซีย คานิเนอร์วิส (Syntrichia Caninervis) และมันอาจมีบทบาทสำคัญในการสร้างชีวิตบนดาวอังคารได้



Syntrichia Caninervis เป็นมอสส์ที่สามารถพบได้บนหลายภูมิภาคทั่วโลก รวมถึงทวีปแอนตาร์กติกา และทะเลทรายโมฮาวี โดยพบว่ามอสส์ชนิดนี้สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมแบบสุดโต่งได้ ซึ่งคล้ายคลึงกับสภาพแวดล้อมบนดาวอังคาร เช่น ความแห้งแล้ง การแผ่รังสีในระดับสูง และความเย็นจัด เป็นต้น


นักวิจัยพบว่า ไม่เพียงแต่มอสส์สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ แต่มันยังสามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็วรวดเร็วได้ด้วย โดยนักวิจัยได้ทำให้มอสส์ตกอยู่ในสภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง และเมื่อกลับมาให้น้ำ พืชก็สามารถกลับมามีชีวิตได้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่วินาที 


นอกจากนี้นักวิจัยยังได้ทดลองนำมอสส์ไปไว้ในสภาพแวดล้อมแบบเย็นจัด คือมีอุณหภูมิ -80 องศาเป็นเวลา 5 ปี และอีกกลุ่มหนึ่งถูกนำไปแช่ในไนโตรเจนเหลวที่มีอุณหภูมิ -196 องศา เป็นเวลา 30 วัน หรือแม้กระทั่งสัมผัสกับรังสีแกมมา 500 Gy (Gray หรือหน่วยวัดปริมาณรังสีที่ถูกดูดกลืน ทั้งนี้ 1 - 2 Gy อาจทำให้มนุษย์ป่วยได้ และหากเกิน 10 Gy อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้) แต่ก็ยังพบว่ามอสส์สามารถงอกใหม่ได้อย่างปกติ


จากนั้นนักวิจัยได้สร้างสภาพแวดล้อมจำลอง ที่มีความคล้ายคลึงกับสภาพแวดล้อมของดาวอังคาร ทั้งอุณหภูมิ ก๊าซ และรังสี UV ซึ่งมอสส์ก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้ 


ทีมงานวิจัยบอกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ศึกษาเกี่ยวกับการอยู่รอดของพืชทั้งต้นในสภาพแวดล้อมแบบสุดโต่ง ทั้งยังมุ่งเป้าการศึกษาไปที่การปลูกพืชในสภาพแวดล้อมปกติของดาวเคราะห์ มากกว่าที่จะปลูกในเรือนกระจก ทีมงานเผยว่าข้อมูลเชิงลึกที่ได้นี้จะถือเป็นการวางรากฐานสำคัญในการไปตั้งอาณานิคมบนต่างดาว โดยการนำพืชไปปลูกเพื่อปรับสภาพแวดล้อมบนต่างดาว


ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ 

ศาสตราจารย์สจวร์ต แมคแดเนียล (Stuart McDaniel) ผู้เชี่ยวชาญด้านมอสส์จากมหาวิทยาลัยฟลอริดา แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้ เผยว่าแนวความคิดนี้ดี ถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างอาณานิคมต่างดาวในระยะยาว เพราะพืชจะช่วยเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำให้เป็นออกซิเจน ซึ่งเอื้อต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์


ในขณะที่ ดร. อกาตา ซูปันสกา (Agata Zupanska) จากองค์กรที่มีภารกิจเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในจักรวาลอย่าง SETI Institute เห็นตรงกันว่ามอสส์อาจจะสามารถช่วยเพิ่มคุณค่าและเปลี่ยนดินให้พืชอื่น ๆ เติบโตได้


แต่อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ก็อาจยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง โดย แมคแดเนียล กล่าวว่า “การทดลองนี้ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ แต่ผลลัพธ์ไม่ได้แสดงว่ามอสส์ Syntrichia Caninervis สามารถเป็นแหล่งออกซิเจนในสภาวะแวดล้อมของดาวอังคาร ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปรากฏว่ามอสส์สามารถแพร่พันธุ์เองได้หรือไม่ในบริบทของดาวอังคาร”


ด้านซูปันสกาก็เผยว่า “ในความคิดของฉัน เราใกล้จะสามารถปลูกพืชเพื่อสร้างเรือนกระจกนอกโลกได้แล้ว และมอสส์ Syntrichia Caninervis ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนนี้ แต่หากจะบอกมันเป็นสายพันธุ์ที่จะบุกเบิกพื้นที่บนดาวอังคารก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการพูดเกินจริง”


แน่นอนว่า ในอนาคตก็อาจจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้น และเหมือนเป็นการจุดประกายความหวังในการตั้งอาณานิยมต่างดาวให้มนุษยชาติ


งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร The Innovation ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม 2024




ที่มาข้อมูล TheguardianCell, Iflscience

ที่มารูปภาพ Wikipedia

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง