รีเซต

ลุ้น! ฝนสุดท้าย เติมน้ำเขื่อนหลัก รอดวิกฤตแล้ง

ลุ้น! ฝนสุดท้าย เติมน้ำเขื่อนหลัก รอดวิกฤตแล้ง
TNN ช่อง16
3 ตุลาคม 2566 ( 17:00 )
74
ลุ้น! ฝนสุดท้าย เติมน้ำเขื่อนหลัก รอดวิกฤตแล้ง

“เป็นสัญญาณดี สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนัก ไปเติมน้ำต้นทุนในเขื่อนหลักหลายแห่งถึง 80%  แต่ยังต้องลุ้น จะมีฝนและมีพายุเข้าไทย ก่อนลมหนาวจะแผ่ลงมาปลาย ต.ค.นี้ หรือไม่”


กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ประเทศไทยจะหมดฤดูฝน และเข้าฤดูหนาวอย่างเป็นทางการประมาณปลายเดือนตุลาคมนี้ ทำให้ปริมาณฝนในพื้นที่ตอนบนของประเทศนลดลง และมวลอากาศเย็นจากจีนจะแผ่ลงมาแทน แต่ในพื้นที่ตอนล่างของประเทศบริเวณภาคใต้ จะยังมีฝนตก ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นฤดูฝนของภาคใต้ โดยจะมีฝนตกชุกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – เดือนธันวาคม และคาดการณ์ว่าในช่วงดังกล่าว จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวเข้าใกล้ หรือ เคลื่อนผ่านอ่าวไทยและภาคใต้



โดยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตอนบนของประเทศมีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักบางแห่ง ทั้งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคาดการณ์จะมีฝนต่อเนื่องตลอดสัปดาห์นี้ จากข้อมูลของ นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช. ) เปิดเผยในรายการ TNN ข่าวเที่ยง ระบุว่าช่วงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ จากอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำและร่องมรสุมที่พาดผ่าน รวมถึงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งส่งผลดีและเป็นสัญญาณดีไปเติมน้ำในเขื่อนหลักได้มากถึง 80 %



จากฝนที่ตกหนัก ทำให้เกิดฝนสะสมและมีน้ำหลาก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับผลกระทบในลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ไล่ตั้งแต่เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีปริมาณน้ำเกินความจุ 104% ทำให้ต้องมีการระบายน้ำออก ส่งผลกระทบในพื้นที่ท้ายเขื่อนโดยเฉพาะจุดบรรจบกับแม่น้ำชี ที่น้ำเอ่อล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ในพื้นที่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี

และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด คือ จังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากเป็นพื้นที่ปลายน้ำ ที่ต้องรับน้ำ ทั้งจากแม่น้ำชี และ แม่น้ำมูล ที่ไหลมารวมกันที่อำเภอวารินชำราบ ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำเริ่มทรงตัว แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังฝนที่จะตกเพิ่มในสัปดาห์นี้



ส่วนพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง ต้องเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งจากแม่น้ำยม แม่น้ำวัง  และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 3 – 7 ตุลาคม 2566 โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นลักษณะน้ำหลาก เนื่องจากฝนตกหนักและตกสะสม ทำให้น้ำล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ โดย 6 จังหวัดภาคเหนือ ที่จะได้รับผลกระทบตลอดสัปดาห์นี้ ได้แก่ 

-เชียงใหม่ (อ.จอมทอง อ.แม่แจ่ม อ.อมก๋อย อ.แม่วางแม่แตง อ.ฝาง อ.ดอยเต่า อ.ฮอด อ.ดอยสะเก็ด อ.กัลยาณิวัฒนา)

-ตาก (อ.เมือง อ.ท่าสองยาง อ.สามเงา อ.บ้านตาก อ.แม่ระมาด อ.วังเจ้า อ.อุ้มผาง อ.แม่สอด อ.พบพระ)

-กำแพงเพชร (อ.คลองลาน อ.ปางศิลาทอง )

-ลำพูน ( อ.ลี้ อ.ทุ่งหัวช้าง )

-แพร่ (อ.วังชิ้น อ.ลอง )

-ลำปาง (อ.เถิน อ.แม่ทะ อ.เสริมงาม อ.เกาะคา )



ส่วนพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง บริเวณพื้นที่ลุ่มตามริมแม่น้ำ

แม่น้ำวัง จังหวัดตาก (อ.สามเงา อ.บ้านตาก )

แม่น้ำยม จังหวัดสุโขทัย (อ.สวรรคโลก อ.ศรีนคร อ.ศรีสำโรง อ.ศรีสัชนาลัย อ.ทุ่งเสลี่ยม)

แม่น้ำเจ้าพระยา หรือ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 

-คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง

-ต.หัวเวียง อ.เสนา ,ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

ให้เตรียมรับมือจากระดับน้ำที่จะเพิ่มขึ้น 1 เมตรถึง 1 เมตร 50


ทั้งนี้ สทนช. ยังได้ประเมินร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดการณ์ว่าจะยังมีฝนตกหนักถึงหนักมาก จากอิทธิพลของร่องมรสุม และหย่อมความกดอากาศต่ำ นอกจากนี้อาจจะได้รับอิทธิพลจากพายุไต้ฝุ่นโคอินุ ที่จะช่วยดึงมรสุมให้แรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มและตกหนักบางแห่ง คาดการณ์ฝนจะไปตกในพื้นที่เดิม ซึ่งอาจซ้ำเติมพื้นที่น้ำท่วม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงพยายามบริหารจัดการน้ำ จัดจราจรน้ำเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุดและรองรับฝนที่จะตกเพิ่ม



ขณะที่ข้อมูลของ กรมชลประทานเปิดเผยภาพรวมปริมาณน้ำในเขื่อนจากฝนที่ตกหนักพื้นที่ตอนบนของประเทศช่วงที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ วันที่ 2  ต.ค. 2566 ) พบว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์มากกว่าร้อยละ 80 ขึ้นไปของความจุมีทั้งหมด 9 แห่ง ได้แก่   อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชน กิ่วลม แม่มอก ห้วยหลวง น้ำอูน น้ำพุง ลำปาว สิรินธร และอ่างเก็บน้ำเขื่อนขุนด่านปราการชล ส่วนภาพรวมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศที่มี 470 แห่ง แม้ปริมาณจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังถือว่าน้อยกว่าปีที่ผ่านมาโดยมีน้ำใช้การปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 54 



อย่างไรก็ตาม ยังต้องลุ้นฝนตลอดสัปดาห์นี้ ว่าจะมีฝนไปเติมน้ำต้นทุนในเขื่อนทั่วประเทศเพิ่มอีกหรือไม่ เพื่อช่วยยื้อสถานการณ์ภัยแล้วออกไปได้อีก ก่อนที่ปลายเดือน ต.ค.นี้จะเข้าฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจต้องเตรียมรับกับภัยแล้งตั้งแต่ปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปี 2567 


…………………………………………………..


เรียบเรียงโดย

มัชรี ศรีหาวงศ์


ข้อมูลจาก

นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผอ.ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช. )

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)

กรมชลประทาน

กรมอุตุนิยมวิทยา

กราฟิก TNN16

………………………………………………………..


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง