รีเซต

เช็คด่วน 27 ก.ย. ศบค.ใหญ่ ถกมาตรการสำคัญ คลายล็อก 10 กิจการ-ลดเวลากักตัว

เช็คด่วน 27 ก.ย. ศบค.ใหญ่ ถกมาตรการสำคัญ คลายล็อก 10 กิจการ-ลดเวลากักตัว
ข่าวสด
24 กันยายน 2564 ( 10:33 )
28
เช็คด่วน 27 ก.ย. ศบค.ใหญ่ ถกมาตรการสำคัญ คลายล็อก 10 กิจการ-ลดเวลากักตัว

27 ก.ย.นี้รู้เรื่อง! "ประยุทธ์" เตรียมนั่งหัวโต๊ะ ศบค.ชุดใหญ่ ถกขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 เดือน ขยับเวลาเคอร์ฟิวไปเป็น 4 ทุ่มถึงตี 4 จ่อผ่อนคลายกิจการ กิจกรรม 10 ประเภท เล่นดนตรีในร้านได้ นวด - สปา - ฟิตเนส - โรงหนังเตรียมเฮ ลดเวลากักตัวเข้าประเทศเหลือ 7 วัน สำหรับคนฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็ม

 

 

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เตรียมเสนอแนวทางผ่อนคลายมาตรการกิจการ กิจกรรมต่างๆ ต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. จะเป็นประธานการประชุม ในวันที่ 27 ก.ย.นี้ โดยจะเสนอให้พิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 2 เดือน หรือถึงวันที่ 30 พ.ย. และจะเสนอให้เลื่อนการเปิดพื้นที่ Sandbox ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้เตรียมจะให้ 5 จังหวัดเป็นพื้นที่นำร่อง จากเดิมที่วางแผนไว้ว่าจะเปิดในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ขยับไปเป็นวันที่ 1 พ.ย.

 

 

นอกจากนี้ จะเสนอให้ผ่อนคลายกิจการ กิจกรรมที่ถูกสั่งปิดเพิ่มขึ้น 10 ประเภท ได้แก่ 1.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และวัยก่อนเรียน 2.ห้องสมุดสาธารณะ ห้องสมุดเอกชน ห้องสมุดชุมชน 3.พิพิธภัณฑ์ แหล่งประวัติศาสตร์ โบราณสถาน 4.ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม หอศิลป์ 5.กีฬาในร่ม ในห้องที่มีระบบปรับอากาศ ฟิตเนส 6.ร้านทำเล็บ 7.ร้านสัก 8. ร้านนวด สปา เพื่อสุขภาพ 9.ธุรกิจโรงภาพยนตร์ ฉายภาพยนตร์ และ 10.การเล่นดนตรีในร้านอาหาร โดยผู้ประกอบการต้องมีการตรวจสอบและปรับปรุงระบบหมุนเวียนอากาศ และจัดสถานที่ให้เป็นไปตามมาตรการ COVID-Free Setting ก่อนเปิดบริการ

 

 

ในส่วนศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า สถานที่กลุ่มกีฬากลางแจ้ง ที่ร่มโล่งมีอากาศถ่ายเทสะดวก การซ้อมของนักกีฬาทีมชาติไทยทุกประเภท และร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด ตลาดนัด ให้เฉพาะที่จำหน่ายเครื่องอุปโภคบริโภค และขยายเวลาเปิดให้บริการไม่เกินเวลา 21.00 น. จากเดิมที่เปิดบริการได้ถึง 20.00 น.

 

 

ขณะเดียวกัน จะเสนอให้พิจารณาให้ปรับเวลาออกนอกเคหะสถานหรือเคอร์ฟิว จากเดิม 21.00 น. ถึง 04.00 น.ของรุ่งขึ้น ขยับเป็นเวลา 22.00 น.ถึง เวลา 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น และจะเสนอปรับลดระยะเวลาในการกักตัวในสถานที่กักกันของรัฐ โดยให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยในทุกช่องทางที่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์มาแล้วอย่างน้อย 14 วัน ให้กักตัวอย่างน้อย 7 วัน และต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 0-1 ครั้งสอง วันที่ 6-7 ส่วนผู้ที่เดินทางเข้าประเทศซึ่งโดยสารมาทางเครื่องบิน และไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ให้กักตัวอย่างน้อย 10 วัน และต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 0-1 ครั้งสอง วันที่ 8-9 ขณะที่ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทางช่องทางบก และไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ให้กักตัวอย่างน้อย 14 วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 0-1 ครั้งสองวันที่ 12-13 ทั้งนี้ จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค.

 

 

สำหรับการเข้าพักที่โรงแรมกักตัวทางเลือกหรือ Alternative Quarantine (AQ) อนุญาตให้ทำกิจกรรมออกกำลังกายกลางแจ้ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน สั่งซื้อสินค้าและอาหารจากภายนอก และประชุมสำหรับนักธุรกิจระยะสั้นได้ ส่วนสถานกักกันของรัฐ หรือ State Quarantine (SQ) และ การกักกันผู้เดินทางในสถานที่เอกเทศ ซึ่งดำเนินการโดยองค์กร หรือหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนหรือ Organizational Quarantine (OQ) อนุญาตให้ทำกิจกรรมออกกำลังกายกลางแจ้ง สั่งซื้อสินค้าและอาหารจากภายนอกได้

 

 

ที่ประชุม ศปก.ศบค.ยังจะเสนอให้พิจารณาแนวทางการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 น้อยมาก หรือ พื้นที่สีฟ้า โดยกำหนดรูปแบบการท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับลักษณะและความพร้อมของพื้นที่สีฟ้า คือการจัดพื้นที่ที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทั้งจังหวัด รวมถึงการจัดพื้นที่ที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทั้ง อำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้าน ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของพื้นที่ นอกจากนี้ ยังต้องดูเรื่องการจัดพื้นที่ที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ เฉพาะสถานที่ เฉพาะพื้นที่หรือระหว่างสถานที่ ระหว่างสถานที่หรือระหว่างพื้นที่ โดยระบบการเดินจะต้องเป็นแบบ Bubble and Seal ที่เรียกว่า Sealed Route

 

 

ทั้งนี้ ที่ประชุม ศปก.ศบค.เห็นว่า การพิจารณาผ่อนคลายกิจการ กิจกรรมครั้งนี้ จะต้องตอบโจทย์เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่กับการควบคุมโรคอย่างเหมาะสม โดยต้องมีแผนเตรียมการและทรัพยากรรองรับสถานการณ์ ทางด้านการจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ป้องกันการแพร่ระบาดรวมทั้งสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว และประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง