รีเซต

เครือซีพีจับมือกับชุมชน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ชูโครงการ “ป่าปลอดเผา” สร้างชุมชนต้นแบบป้องกันไฟป่า ลดฝุ่น PM2.5 แนวเขตชายแดนไทย-พม่า

เครือซีพีจับมือกับชุมชน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ชูโครงการ “ป่าปลอดเผา” สร้างชุมชนต้นแบบป้องกันไฟป่า ลดฝุ่น PM2.5 แนวเขตชายแดนไทย-พม่า
TNN ช่อง16
3 พฤษภาคม 2567 ( 19:03 )
13

ชุมชน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ จับมือ เครือซีพี ชูโมเดลโครงการ “ป่าปลอดเผา” สร้างชุมชนต้นแบบป้องกันไฟป่า ลดฝุ่น PM2.5 แนวเขตชายแดนไทย-พม่า

เมื่อเร็วๆนี้ กลุ่มป่าชุมชน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ดำเนินโครงการ “ป่าปลอดเผา” (Zero Forest Burning) ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน มุ่งช่วยกันลดเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่ก่อให้เกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าชุมชน อันเป็นสาเหตุการเกิดหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือ โดยชุมชนเก็บใบไม้แห้งออกจากพื้นที่ป่าชุมชน 6 แห่ง มีเป้าหมาย 1,000 ตัน เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิง โดยการนำใบไม้แห้งจากป่าชุมชนมาใช้ประโยชน์ แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชน และนำรายได้กลับมาบริหารจัดการกองทุนป่าชุมชนให้ยั่งยืน โดยมี 6 ชุมชน ใน 2 ตำบล ได้แก่ ต.แสนไห และ ต.เมืองแหง ใน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่

นางเฉลิมชัย โปธา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านป่าไผ่ หมู่ 3 ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เล่าว่า หมู่บ้านเราดูแลป่าชุมชนกว่า 400 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมา หมู่บ้านก็ร่วมกันช่วยเก็บใบไม้มามุงหลังคาบ้าน แต่ต้องเป็นใบไม้บางชนิดที่คัดแล้วว่าสมบูรณ์ จึงมีจำนวนน้อย ในป่าชุมชนมีใบไม้สะสมมาก ก็จะเป็นปัญหาไฟป่าอยู่ตลอด ยิ่งมีใบไม้มาก ไฟป่าก็ยิ่งรุนแรงมาก เพราะก่อนหน้านี้ก็ไม่รู้จะนำใบไม้แห้งไปใช้ประโยชน์อะไร พอมีโครงการ “ป่าปลอดเผา” ก็ทำให้คนในชุมชนให้ความสนใจและมีส่วนร่วมเก็บใบไม้ ลดเชื้อเพลิงได้ แล้วการนำใบไม้ไปทำปุ๋ย ชาวบ้านก็ให้ความสนใจมาก เพราะหมู่บ้านเรากำลังจะทำกลุ่มเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว ต้องทำเป็นวงจรแบบนี้ถึงจะไปได้ ตอนนี้เฉพาะบ้านเดียว เก็บใบไม้แห้งได้กว่า 3,000 กิโลกรัม

นายฐิติกร ใจดี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านมหาธาตุ หมู่ 4 เล่าว่า ชุมชนเราพยายามผลักดันที่จะปลูกฝังให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของทรัพยากร ไม่เผาป่า โดยที่ผ่านมาชาวบ้านจึงช่วยกันลาดตระเวนเฝ้าระวังไฟป่า ทำแนวกันไฟ ทำฝายชะลอน้ำตามลำห้วย เรานำใบตองมาทำเป็นจานข้าว และใบไม้อีกส่วนหนึ่งนำมาทำหลังคาบ้าน แต่ก็ยังไม่ได้ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน การทำโครงการ “ป่าปลอดเผา” โดยให้คนในชุมชนร่วมเก็บใบไม้แห้งในป่าชุมชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่ไม่มีสัญชาติ ที่ไม่มีงาน ไม่มีรายได้ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการฯ เมื่อนำใบไม้ไปทำปุ๋ย ก็ยังเพิ่มรายได้ ช่วยลดต้นทุนทางการเกษตร โดยจะนำไปขายในสวนสมุนไพร ชาวบ้านก็จะได้ลดการใช้สารเคมีในพื้นที่ด้วย

“…แต่ความท้าทายที่จะทำให้คนในชุมชนเห็นว่า… “ถ้าไม่เผาป่า ไม่มีไฟป่า จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง” อาจจะมีเห็ดนานาพันธุ์เกิดขึ้นใหม่ จากเดิมมีอยู่ไม่กี่ชนิด หรือมีทรัพยากรอื่นๆเกิดขึ้นภายในป่าชุมชน ใช้เป็นอาหารและใช้ประโยชน์อื่นๆได้ นอกจากนี้ “ป่าชุมชน” ถือว่ามีความสำคัญต่อชาวบ้าน เพราะสามารถนำมาสร้างที่อยู่อาศัย เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นต้นน้ำที่ช่วยให้มีความชุ่มชื้นอีกด้วย ในระยะยาวคิดว่า โครงการนี้ จะทำให้ชาวบ้านมีจิตสำนึกและหวงแหนทรัพยากร รักในป่าชุมชนของตนเองได้…”

เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นภาคเอกชนที่เข้ามาสนับสนุนการลดปัญหาหมอกควันไฟป่า และฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ สนับสนุนโครงการ “ป่าปลอดเผา” โดยนายนนท์ นาคะเสถียร ผู้จัดการทั่วไปด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เผยว่า การนำใบไม้แห้งในป่าชุมชนที่ชาวบ้านร่วมกันเก็บมาผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ และ ความร่วมมือ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้  มีการตั้งจุดรับใบไม้จำนวน 6 จุด จาก 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านสามปู บ้านมหาธาตุ บ้านปางป๋อ บ้านแม่หาด บ้านป่าไผ่ และบ้านห้วยหก ในปี 2567 นี้ มีเป้าหมายใบไม้แห้ง จำนวน 1,000 ตัน โครงการดังกล่าวฯ จึงเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดเชื้อเพลิงธรรมชาติในพื้นที่ป่าชุมชน อ.เวียงแหง กว่า 7,660 ไร่ ลดการเผาใบไม้เพื่อหาของป่า ตลอดจนปลูกจิตสำนึกให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ไปควบคู่กับสร้างรายได้ให้ชุมชนไปพร้อมกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง