8 สายการบินไทย โคม่า สั่งแจงแผนฟื้นธุรกิจ แก้ไม่ได้ ห้ามขายตั๋ว-งดเพิ่มเส้นทางบิน
ศักดิ์สยาม เผย 8 สายการบินไทย โคม่า สั่งแจงแผนฟื้นธุรกิจ มี.ค.นี้ หากแก้ปัญหาไม่ได้ เตรียมสั่งห้ามขายตั๋ว-งดเพิ่มเส้นทางบิน
วันที่ 12 มี.ค.64 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคาม เปิดเผยถึงผลประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือนวานนี้(11มี.ค.)ว่าที่ประชุมยังมีมติรับทราบผลการประกอบกิจการประจำปี 2562 และการจัดกลุ่มระดับสุขภาพทางการเงินขอสายการบินเชิงพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย
โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ (1) ระดับอันตราย จำนวน 8 บริษัท (2) ระดับเฝ้าระวัง จำนวน 3 บริษัท และ (3) ระดับปลอดภัย (ไม่มี)
“กบร. มีมติให้ กพท. เชิญ 8 สายการบินที่อยู่ในกลุ่มระดับอันตราย เข้ามาชี้แจงแผนฟื้นฟูธุรกิจ ภายในเดือน มี.ค. นาคม เพื่อประเมินสถานะทางการเงินว่าจะสามารถอยู่รอดได้หรือไม่ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า หากสายการบินแก้ปัญหาไม่ได้ กพท. จะ ไม่จัดสรรเส้นทางบินเพิ่มเติม ไม่ให้เพิ่มเครื่องบิน และจำกัดเวลาในการจำหน่ายบัตรโดยสารล่วงหน้า เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้โดยสารในอนาคต “
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ส่วนสายการบินกลุ่มเฝ้าระวัง กรณีที่อยู่ในระดับเฝ้าระวัง กพท. จะสั่งให้ผู้ ส่งข้อมูลการคาดการณ์สถานะทางการเงินในช่วง 12 เดือนข้างหน้า พร้อมข้อสมมติในการคาดการณ์ และ กพท. ดำเนินการตรวจสอบความสมเหตุสมผลของข้อสมมติที่สำคัญกับแหล่งข้อมูลจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก
นอกจากนั้น ให้ กพท. ศึกษาและทบทวนแบบจำลองการจัดกลุ่มตามระดับสุขภาพทางการเงินของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนเพื่อให้มีแบบจำลองที่เหมาะสมที่สุดกับบริบทของประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ กพท. ประสานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อจัดให้มีการฉีดวัคซีน COVID-19 แก่บุคลากรทางการบิน ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานที่ต้องสัมผัสและใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางทางอากาศเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเปิดทำการบินระหว่างประเทศและเพื่อให้ประเทศไทยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจผ่านระบบการขนส่งทางอากาศได้
สำหรับ 8 สายการบิน ที่ถูกจัดกลุ่มในอยู่ระดับอันตราย ประกอบด้วย สายการบินไทย ,สายการบินไทยสมายล์ , สายการบินนกแอร์ ,สายการบินแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ,สายการบินเวียดเจ็ท ,สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ , สายการบิน เอเชีย แอทแลนติกแอร์ไลน์ และซิตี้ แอร์เวย์