รีเซต

เจอทุกจังหวัด! โอมิครอนครองไทย 86% พบ 8 ราย ติดโควิดซ้ำเป็นสายพันธุ์โอมิครอน

เจอทุกจังหวัด! โอมิครอนครองไทย 86% พบ 8 ราย ติดโควิดซ้ำเป็นสายพันธุ์โอมิครอน
TNN ช่อง16
21 มกราคม 2565 ( 12:12 )
72
เจอทุกจังหวัด! โอมิครอนครองไทย 86% พบ 8 ราย ติดโควิดซ้ำเป็นสายพันธุ์โอมิครอน

วันนี้ (21 ม.ค.65) ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุ ถึงความคืบหน้าการติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ว่า  ภาพรวมทั้งประเทศ พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนครบ 77 จังหวัดแล้ว ทำให้ยอดสะสมผู้ติดเชื้อโอมิครอน 10,721 ราย โดยจังหวัด 5 อันดับแรก คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต ร้อยเอ็ด และสมุทรปราการ 

ทั้งนี้ แนวโน้มการพบสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศเข้าไทยเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 100% ส่วนกลุ่มผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ในประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่การสุ่มตัวอย่าง 11-17 มกราคม ร้อยละ 86.8 เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ส่วนสายพันธุ์เดลต้า อยู่ที่ร้อยละ 13.2 


นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการคัดเลือกตัวอย่างหาสายพันธุ์เน้นกลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศ รวมถึงต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง 140 ตัวอย่างต่อ 1 แห่ง เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมครึ่งหนึ่งทุกสัปดาห์ รวมถึงสุ่มตัวอย่างเพื่อสะท้อนภาพรวมของประเทศในคลัสเตอร์ระบาดเป็นกลุ่มก้อน กลุ่มที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต กลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 

ผลการศึกษากลุ่มที่ได้รับวัคซีนโควิดครบถ้วน 2 เข็ม พบว่ายังคงเป็นสายพันธุ์เดลต้า กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ บางส่วนร้อยละ 25 ยังคงเป็นสายพันธุ์เดลต้า ทั้งนี้ พบว่า ผู้ติดเชื้อโควิดซ้ำ 8 ราย เป็นสายพันธุ์โอมิครอน 100% หมายความว่า "ภูมิที่มีต่อเชื้อเดิมกันโอมิครอนไม่ได้"

หากดูในเชิงพื้นที่เขตสุขภาพต่างๆ หลายเขต พบ สายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 ถึง ร้อยละ 80 แต่มีบางเขตสุขภาพที่พบสายพันธุ์โอมิครอน เพิ่มสูงถึงร้อยละ 90 เช่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 



สรุป การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพบในกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด 100% และการติดเชื้อในประเทศพบเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ร้อยละ 84 กลุ่มที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตยังพบสัดส่วนของสายพันธุ์เดลต้าสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มทั่วไป

กลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบและกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังพบการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าอยู่บ้าง ส่วนกลุ่มที่ติดเชื้อซ้ำทุกรายเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 

"คาดว่า ปลายเดือนมกราคมนี้ การแพร่ระบาดในประเทศไทยจะเป็นสายพันธุ์โอมิครอนเกือบทั้งหมด สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างประเทศ ต่อไปหากพบติดเชื้อโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องตรวจหาสายพันธุ์แล้วให้สันนิษฐานว่าเป็นโอมิครอน" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุ


นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า สำหรับการเฝ้าระวังติดตามสายพันธุ์ในประเทศไทยยังคงทำต่อไป แต่อาจจะลดลง ขณะที่การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวยังคงต้องทำต่อไป เพื่อดูการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิค 19 ในอนาคต ย้ำชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยตัวเองยังคงไม่สามารถตรวจหาสายพันธุ์ได้ 

ทั้งนี้ หากคุมการติดเชื้อให้ไม่เกิน 10,000 คนต่อวัน อัตราการเสียชีวิตเจ็บป่วยรุนแรงก็จะลดลง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง กลุ่มผู้สูงอายุ ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิดเข็มใดเลย รวมถึงยังไม่รับวัคซีนเข็ม 3 ด้วย

อย่างไรก็ตาม หากอนาคตไม่มีสายพันธุ์ใหม่ หรือ การกลายพันธุ์ที่รุนแรง  โอมิครอน อาจจะเป็นตัวปิดเกมก็เป็นไป ได้เหมือนที่หลายฝ่ายคาดการณ์ 

ด้าน ดร.นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ระบุว่า ประชาชนทั่วไปไม่จำเป็นต้องรู้ว่าตัวเองติดโควิดสายพันธุ์อะไร แต่หากพบว่าเป็นการติดเชื้อโควิด-19 ก็เข้าสู่กระบวนการรักษาตามระบบต่อไป.


ข้อมูลและภาพจาก ทีมข่าว TNN ช่อง 16 , AFP , Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง