รีเซต

แก้ ‘ค่าไฟแพง’ ระยะยาว รื้อโครงสร้างต้นทุนก๊าซธรรมชาติ

แก้ ‘ค่าไฟแพง’ ระยะยาว รื้อโครงสร้างต้นทุนก๊าซธรรมชาติ
TNN ช่อง16
7 ตุลาคม 2566 ( 21:00 )
167
แก้ ‘ค่าไฟแพง’ ระยะยาว รื้อโครงสร้างต้นทุนก๊าซธรรมชาติ

จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่ประกาศปรับลดค่าไฟฟ้า จาก 4.10 บาทต่อหน่วย เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ในรอบบิลเดือนกันยายน - ธันวาคม 2566 เพื่อแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน นั้น


วันที่ 6 ตุลาคม 2566 สภาผู้บริโภคจัดเวทีแลกเปลี่ยนพูดคุย ในหัวข้อ “ค่าไฟต้องแฟร์ = เป็นธรรมยั่งยืน” ผ่านทางรายการ เราไม่ได้บริโภคหญ้าเป็นอาหาร เผยแพร่ทางเพจและยูทูบสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อหาแนวทางทำให้ค่าไฟฟ้าเป็นธรรมอย่างยั่งยืน


นางสาวรสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค กล่าวว่า มาตรการลดค่าไฟฟ้าของรัฐบาลเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว และไม่สามารถทำได้ในระยะยาว เนื่องจากการลดค่าไฟฟ้าดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลง 2 ประการ ดังนี้ 1. ขอยืดการจ่ายหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และให้กฟผ.แบกหนี้เอาไว้ก่อน 2. ขอให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่เก็บราคาค่าก๊าซธรรมชาติแบบเต็มจำนวน ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะถูกเรียกเก็บจากประชาชนในภายหลัง เมื่อมาตรการนี้สิ้นสุดลง ค่าไฟฟ้าก็จะกลับมาแพงเช่นเดิม



อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะฯ สภาผู้บริโภค จึงมีข้อเสนอถึงรัฐบาลเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าในระยะยาว 3 ข้อ ดังนี้


1. นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ควรเร่งแก้ไขโครงสร้างต้นทุนต้นทุนเชื้อเพลิง โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติให้เป็นราคาพูลก๊าซ (ราคาเฉลี่ยก๊าซจากอ่าวไทย + ก๊าซจากเมียนมา + ก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจีนําเข้าที่อิงราคาตลาดโลก) เนื่องจากก๊าซเป็นเชื้อเพลิงหลักของการผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้ การปรับลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟฟ้าได้ปีละ 4 หมื่นล้านบาท

2. ขอให้รัฐบาลยกเลิกการทำสัญญากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 20 - 25 ปีโดยเฉพาะการทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณไฟฟ้าล้นเกินเพราะผลิตไฟฟ้าได้ถึง 5 หมื่นเมกะวัตต์แต่ใช้ไฟฟ้าจริงเพียงแค่ 3 หมื่นเมกะวัตต์เท่านั้น 

3. รัฐบาลควรจะสนับสนุนให้ประชาชนใช้พลังงานสะอาดโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน


สำหรับประเด็นการแก้ไขโครงสร้างต้นทุนเชื้อเพลิง นางสาวรสนาอธิบายว่า ปัจจุบันผู้ผลิตไฟฟ้าต้องใช้ต้นทุนก๊าซที่มีราคาแพงกว่าในการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นําเข้าที่อิงราคาตลาดโลก ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องใช้ไฟฟ้าในราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น ขณะที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ได้ใช้ก๊าซธรรมชาติที่คิดต้นทุนจากแหล่งก๊าซที่มีราคาถูกกว่า ได้แก่ ก๊าซอ่าวไทย และก๊าซจากเมียนมาร์ ดังนั้น หากรัฐบาลปรับโครงสร้างให้เป็นราคาพูลก๊าซ กล่าวคือ กลุ่มปิโตรเคมีและผู้ผลิตไฟฟ้าได้ใช้ก๊าซในราคาที่เท่ากัน จะทำให้ประเทศมีงบประมาณไปลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟฟ้าได้ปีละ 4 หมื่นล้านบาท หรือสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ 20 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เกิดราคาค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมและยั่งยืน 



ส่วนเรื่องยกเลิกการทำสัญญากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่นั้น นางสาวรสนาให้ข้อมูลว่า การทำสัญญากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในระยะยาวจะทำให้โรงไฟฟ้าเหล่านี้เป็น “โรงไฟฟ้าขยะ” ในอนาคต เนื่องจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดพบว่าภายในไม่เกิน 10 ปี หรือประมาณปี 2573 จะสามารถซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ต้นทุนค่าไฟจะเหลือหน่วยละ 1 บาท ขณะที่โรงไฟฟ้าที่รัฐบาลทำสัญญาซื้อราคาอยู่ที่ 3 - 9 บาทต่อหน่วย ดังนั้นการทำสัญญาซื้อไฟฟ้าระยะยาวครั้งละ 25 ปีจะทำให้กลายเป็นภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนในอนาคต


“การลดค่าไฟฟ้าเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นมาก ๆ ที่นักการเมืองอยากให้ประชาชนดีใจ แต่ราคาค่าไฟฟ้าจะไม่ถูกตลอดไป เพราะไม่มีการแก้ไขในเชิงโครงสร้าง เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลจริงใจ ต้องแก้ไขในเชิงโครงสร้างที่เป็นราคาเชื้อเพลิงเพื่อให้ค่าไฟฟ้าราคาถูกแบบยั่งยืนได้” นางสาวรสนา กล่าว

เช่นเดียวกับ นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ระบุว่า มาตรการลดค่าไฟฟ้าของรัฐบาลเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นที่ต้องการแสดงให้ประชาชนเห็นว่าได้ทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ทันที แต่ไม่มีมาตรการแก้ไขในระยะยาว ทั้งนี้ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลได้นำข้อเสนอการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าในระยะยาวไปเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยเสนอให้ปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยการถัวเฉลี่ยต้นทุนของแหล่งก๊าซราคาถูกที่ปัจจุบันให้กับกลุ่มธุรกิจ ใช้รวมกับแหล่งก๊าซที่ราคาแพง เพื่อให้ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลง 


นอกจากนี้เสนอให้แก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อลดค่าความพร้อมจ่ายจากปัญหาสำรองไฟฟ้าเกินความจำเป็น ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีปริมาณไฟฟ้าสำรองมากถึงร้อยละ 50 และมีโรงไฟฟ้าหลายโรงที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแต่รัฐต้องจ่ายเงินซื้อไฟฟ้าตามสัญญา ดังนั้นรัฐควรจะเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญาและลดค่าใช้จ่ายในส่วนดังกล่าวลง


รวมทั้งให้มีการทบทวนการเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ออกไปก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการเซ็นสัญญาไฟฟ้าจากต่างประเทศ เช่นกรณีสัญญาซื้อไฟฟ้าเขื่อนปากแบงจากประเทศลาว ที่ก่อให้เกิดข้อกังขาจากภาคประชาชนถึงความจำเป็นของการสร้างเขื่อนดังกล่าว ซึ่งจะมีสัญญาผูกขาดระยะยาวเกือบ 30 ปี อาจเป็นภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนในอนาคต


ด้านนายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวในทำนองเดียวกันว่า มาตรการลดค่าไฟฟ้าถือเป็นมาตรการระยะสั้นหากไม่มีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างค่าไฟฟ้าจะมีราคาแพงเช่นเดิม อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาสภาอุตสาหกรรมได้เรียกร้องให้ลดค่าไฟฟ้า และปรับโครงสร้างต้นทุนค่าไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าก๊าซธรรมชาติที่กลุ่มอุตสาหกรรมซื้อก๊าซในราคาที่แพงกว่ากลุ่มปิโตรเคมี จึงอยากเห็นโครงสร้างพลังงานเป็นธรรมไม่ผลักภาระให้กับผู้บริโภค 


นอกจากนี้อยากเห็นความตั้งใจของรัฐบาลในการปรับโครงสร้างพลังงาน โดยเปิดเสรีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มผู้นำเข้าเพื่อให้มีโอกาสนำเข้าก๊าซราคาถูก และอยากเห็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ แผนพีดีพี ให้เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ แก้ปัญหาโลกร้อนและราคาค่าไฟฟ้าของผู้บริโภคอย่างยั่งยืน 


ทั้งนี้ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า เนื่องจากปัญหาเรื่องพลังงานถือเป็นปัญหาสำคัญ ดังนั้น มูลนิธิคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ที่มีภาคเอกชนเช่น สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม จึงได้ตั้งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนด้านพลังงานขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งคณะกรรมการจะประกอบด้วยภาคเอกชนด้านพลังงาน และเห็นว่าควรจะมีสภาผู้บริโภคเป็นที่ปรึกษาเพื่อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาของผู้บริโภคในด้านพลังงานด้วย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง