รีเซต

หมอธีระวัฒน์ เสนอ 4 ข้อ สร้าง ICU เพิ่ม ใช้ชุดตรวจเชื้อรู้ผลไวทุกครัวเรือน

หมอธีระวัฒน์ เสนอ 4 ข้อ สร้าง ICU เพิ่ม ใช้ชุดตรวจเชื้อรู้ผลไวทุกครัวเรือน
ข่าวสด
28 มิถุนายน 2564 ( 07:31 )
81
หมอธีระวัฒน์ เสนอ 4 ข้อ สร้าง ICU เพิ่ม ใช้ชุดตรวจเชื้อรู้ผลไวทุกครัวเรือน

 

"หมอธีระวัฒน์" เสนอ 4 ข้อแก้ปัญหาติดโควิดกระจายวงกว้าง ลงสู่ชุมชน ต้องสร้างไอซียูเพิ่ม ใช้ชุดตรวจไวมาใช้กับคนทุกครัวเรือน

 

 

วันที่ 27 มิ.ย. ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้เชื้อโควิดได้แพร่กระจายในระดับชุมชนทั่วไป ตามครอบครัว ตามบ้านเรือน เห็นได้จากใน รพ.ต่างๆ แม้กระทั่ง รพ.เอกชน คนเข้ามาขอตรวจเชื้อจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงาน ครอบครัว สิ่งสำคัญต้องมีการตรวจเชื้อทุกคน แต่การตรวจเองที่ตรวจตามแล็บเอกชน เมื่อรู้ผลก็จะหา รพ.ไม่ได้อีก เมื่อพบว่าผลบวกก็จะกักตัวที่บ้าน จนเริ่มมีอาการก็จะหาที่เข้า รพ. และพอไม่มีที่ เพราะเตียงเต็ม คนไข้ก็อาการหนัก อย่างที่เห็นกัน

 

 

 

 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ทางออกเรื่องนี้ มีข้อเสนอว่า 1.เพื่อรับมือในการช่วยชีวิตคนไข้ ต้องมีห้องไอซียู ที่สามารถรองรับคนไข้ที่หายใจเองไม่ได้ ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ จึงต้องปรับสมรรถนะ รพ.สนามให้รับคนไข้วิกฤตได้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ สร้างไอซียูภายใน 7 วันถือว่าเหมาะสม แต่ต้องขยายเพิ่มขึ้น ต้องมีเครื่องช่วยหายใจแบบสอดท่อได้ ถ้าแบบที่พ่นออกซิเจนเข้าไปในปริมาณสูง จะช่วยคนไข้ได้ในระดับหนึ่ง แต่คนไข้ที่อาการหนักกว่านั้นจะไม่ได้ จึงต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งหมด โดยปริมาณต้องดูตามตัวเลขสถานการณ์จริงทั่วประเทศไทย

 

 

 

2.ตัวเลขผู้ป่วยหนักที่ต้องเข้าไอซียูเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนติดเชื้อมากขึ้น เนื่องจากกระบวนการติดเชื้อไม่ได้อยู่ในกลุ่มแรงงาน แต่อยู่ที่คนทั่วไปแล้ว เพราะขณะนี้แม้กระทั่ง รพ.เอกชน ยังเจอปัญหานี้เช่นกัน มีคนมาตรวจเชื้อเพิ่มขึ้น ขณะที่การตรวจหาเชื้อในสถานพยาบาลมีข้อจำกัด ไม่ได้รับเปิดกว้าง

 

 

 

3.การหยุดยั้งแพร่กระจายเชื้อในชุมชน บ้านเรือน ต้องคัดกรองทุก 7 วัน หากไม่ทำเช่นนั้น เมื่อไรก็ตามที่มีการจำกัดพื้นที่ หรือหากมีการล็อกดาวน์จริงก็เหมือนกับการเอาคนติดเชื้อไปอยู่กับคนไม่ติดเชื้อ

 

 

 

4.สธ.ควรนำเข้าสู่การพิจารณาในการใช้ชุดตรวจที่มีความไว 100% มาใช้กับประชาชนทุกครัวเรือน แต่ต้องมีข้อควรระวังว่า อาจได้ค่าบวกมากเกินจริง แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะขอให้กักตัวไว้ก่อน และให้มีการตรวจเชื้อ RT-PCR เพื่อยืนยัน จริงๆ เรื่องนี้ได้เคยเสนอที่ประชุม สธ.ตั้งแต่เดือน มี.ค. แล้ว

 

 

 

“สรุปคือ เมื่อเชื้อกระจายมากขึ้น การตรวจเชื้อจึงจำเป็น แต่การจะตรวจด้วยวิธี RT-PCR ในทุกคนอาจต้องใช้เวลา ดังนั้น สธ. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาชุดตรวจที่มีความไว 100% หรือบวกเพิ่มได้ แต่มีเงื่อนไขตามที่กล่าวมา โดยนำมาตรวจในชุมชนก่อน และค่อยตรวจยืนยันอีกครั้งด้วยวิธี RT-PCR” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง