รีเซต

ปัญหา “หนี้นอกระบบ” “กับดัก”ของความยากจน?

ปัญหา “หนี้นอกระบบ” “กับดัก”ของความยากจน?
TNN ช่อง16
3 ธันวาคม 2566 ( 11:30 )
62
ปัญหา “หนี้นอกระบบ” “กับดัก”ของความยากจน?

“คิกออฟ” อย่างเป็นทางการไปแล้ว กับมาตรการแก้หนี้ของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง “เศรษฐา ทวีสิน” ยกให้เป็นวาระแห่งชาติที่จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเริ่มจาก “หนี้นอกระบบ” ที่ได้แถลงถึงมาตรการและแนวทางการช่วยเหลือ ไปเมื่อ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และเปิดให้ประชาชนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบ ลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม เป็นต้นไป



และในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ ก็จะมีการแถลงแนวทางในการแก้ไขปัญหา “หนี้ในระบบ” รวมถึงหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หนี้ครู หนี้ตำรวจ และหนี้ SME ก่อนจะเริ่มแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนในวันที่ 1 มกราคมปี 2567 และมีแผนระยะยาวเพื่อให้การแก้หนี้ เป็นไปอย่างยั่งยืน


ทั้งนี้ มีการประเมินคาดว่า “หนี้นอกระบบ” ของไทยอาจมีไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท เลยทีเดียว  



จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นภาพสะท้อนของปมปัญหาที่ซับซ้อนทางด้านสังคม คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของภาคครัวเรือน เพราะโดยทั่วไป ลูกหนี้ที่มีการกู้ยืมจากแหล่งเงินนอกระบบนั้น มักจะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ร้อยละ15 ที่กฎหมายกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และอาจต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงจาก

การทวงหนี้ของเจ้าหนี้ ดังนั้น หากมองจากมุมของลูกหนี้แล้ว การกู้ยืมนอกระบบน่าจะเป็นทางเลือกสุดท้ายในการหมุนสภาพคล่อง หลังจากที่ลูกหนี้ได้พยายามใช้วิธีอื่นๆ มาแล้ว



ดังนั้น เป้าหมายสำคัญของการแก้ปัญหา “หนี้นอกระบบ” ก็คือ การทำให้หนี้นอกระบบกลับเข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่งเมื่อสามารถช่วยประชาชนให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้นผลที่ชัดเจนที่สุดที่ลูกหนี้จะได้รับ คือ ภาระดอกเบี้ยที่ลดลงซึ่งก็จะทำให้ครัวเรือน สามารถปลดภาระหนี้ก้อนนั้นได้เร็วขึ้น


ข้อมูลดังกล่าว สอดคล้องกับ รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้เปิดเผยกับสถานีข่าว TNN ช่อง 16 ว่า ปัญหาหนี้นอกระบบ เริ่มเห็นมาตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 ระบาด มีการปิดประเทศ นักท่องเที่ยวลดลง ประชาชนเริ่มมีรายได้น้อยลง



และเมื่อสถานการเริ่มฟื้นตัว แต่การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ยังไม่สามารถตอบสนองต่อประชาชนได้ จึงทำให้ประชาชน และผู้ประกอบการรายย่อยบางส่วน ต้องไปหาแหล่งเงินทุนนอกระบบ ที่ต้องเสียดอกเบี้ยแพง และเมื่อไม่สามารถหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยที่แสนแพง และเงินต้นที่กู้มาได้ ก็กลายเป็นปัญหา ที่ไม่สามารถหาทางออกได้ 


นอกจากนี้ รศ.ดร.ธนวรรธน์ ยังมองว่า ปัญหาหนี้นอกระบบ ถือเป็น“กับดัก”ของความยากจน ซึ่งหากรัฐบาลทำได้ ก็จะทำให้ประชาชน และภาคธุรกิจรายย่อย สามารถเดินหน้าต่อไปได้



ขณะที่ข้อมูลจากกองกิจการอำนวยความยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เผยสถิติจำนวนประชาชน ที่เข้ามาร้องเรียนยังศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชน ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม พบว่า มีผู้ร้องขอความช่วยเหลือปัญหาหนี้นอกระบบ ตั้งแต่ปี 2553-2567 ถึง 16,354 ราย มีมูลค่าหนี้สูงถึงกว่า 10,000 ล้านบาท


สำหรับเงินกู้นอกระบบ ที่ร้องเรียนเข้ามา แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 

1.หนี้นอกระบบรูปแบบที่ไม่มีสัญญา หรือ ที่รู้จักกันในชื่อแก๊งหมวกกันน็อค

2. หนี้นอกระบบรูปแบบมีสัญญากู้ยืม คือ กลุ่มนายทุน หรือ คนรู้จัก ที่ทำสัญญาแบบเอาเปรียบ 

และ 3. รูปแบบเงินกู้ออนไลน์ เป็นการกู้ยืมจากแอปพลิเคชั่น ซึ่งรูปแบบที่ 3 นี้ เป็นรูปแบบที่เพิ่มเติมขึ้นมาหลังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19



ปัญหาหนี้สิน ที่รัฐบาลยกเป็นวาระแห่งชาติ จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด คงต้องติดตาม เพราะปัญหานี้ไม่ง่าย เนื่องจากที่

รู้ๆกัน แหล่งเงินกู้นอกระบบส่วนใหญ่ เป็นผู้มีอิทธิพล และเกี่ยวข้องกับคนหลายกลุ่ม 


มาถึงนาทีนี้ คงต้องให้กำลังใจรัฐบาล เพราะหากทำสำเร็จ นอกจากจะช่วยเหลือประชาชน ให้หลุดพ้นจาก “กับดักความยากจน” แล้ว ยังจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย



มนตรี ขัดเรือง : เรียบเรียง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง