รีเซต

จับตา! โควิด "XBB.1.16" มาพร้อมอาการใหม่ ไม่เคยพบในโอมิครอนสายพันธุ์อื่น

จับตา! โควิด "XBB.1.16" มาพร้อมอาการใหม่ ไม่เคยพบในโอมิครอนสายพันธุ์อื่น
TNN ช่อง16
17 เมษายน 2566 ( 09:32 )
175

โอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม "XBB.1.16" ล่าสุดไทยพบแล้ว 8 ราย มาพร้อมอาการใหม่ เยื่อบุตาอักเสบ


ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ โอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม "XBB.1.16" โดยระบุว่า ระวัง! ล่าสุดพบการการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม "XBB.1.16" ในประเทศไทยแล้ว 8 ราย
ปรับปรุง 16/4/2566 เวลา 9:29


ทีมวิจัยของ ดร. ราช ราชนรายานันท์ (Raj Rajnarayanan)จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐอาร์คันซอ สหรัฐอเมริกา ได้ดึงข้อมูลรหัสพันธุกรรมจากฐานข้อมูลโควิดโลก “จีเสส (GISAID)” มาวิเคราะห์พบผู้ติดเชื้อ XBB.1.16* ในประเทศไทย 6 ราย


ล่าสุดทีมของศูนย์จีโนมฯ รพ. รามาธิบดี ได้ใช้ตำแหน่งการกลายพันธุ์จำเพาะของโอมิครอน XBB.1.16* คือ S:E180V, S:K478R, S:S486P, ORF9b:I5T, ORF9b:N55S, ORF1a:L3829F, ORF1b:D1746Y สืบค้นและดึงข้อมูลรหัสพันธุกรรมจากฐานข้อมูลโควิดโลก “จีเสส” ที่ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 15.5 ล้านราย มาวิเคราะห์พบผู้ติดเชื้อ XBB.1.16* ในประเทศไทย ณ. วันที่ 16/4/2566 พบมีผู้ติดเชื้อ XBB.1.16* ทั้งสิ้นจำนวน 8 ราย 


โดยหนึ่งในแปดรายเป็น XBB.1.16 กลายพันธุ์รุ่นลูกคือ XBB.1.16.1 (เป็นตัวอย่างที่ส่งเข้ามาตรวจที่ห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา รพ. รามาธิบดี) โดยสังเกตจากการกลายพันธุ์หนึ่งตำแหน่งที่ต่างไปคือ ““T547I” ส่วนอีกสองรายล่าสุดที่เพิ่มขึ้น (จากที่ทีมวิจัยของ ดร. ราช ราชนรายานันท์ พบ 6 ราย) เป็นการถอดรหัสพันธุกรรมและอัปโหลดแชร์ในฐานข้อมูลโควิดโลก จีเสส โดย รพ. เอกชนไทย


โอมิครอนลูกผสม XBB.1.16.1 อาจกล่าวได้ว่าเป็นรุ่นลูกของ XBB.1.16 มีการกลายพันธุ์ต่างจาก XBB.1.16 ตรงส่วนหนามของไวรัสที่ใช้ยึดเกาะกับเซลล์หนึ่งตำแหน่งคือ "T547I"


ในขณะเดียวกัน นพ.วิพิน ม.วาชิษฐา (Dr. Vipin M. Vashishtha) กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันจากประเทศอินเดีย และเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้สังเกตเห็น อาการจากการติดเชื้อโอมิครอนลูกผสม XBB.1.16 ที่แพร่ระบาดระลอกใหม่ในอินเดียในกลุ่มเด็กทารกและเด็กเล็ก พบว่าจะมีอาการไข้สูง อาการหวัด และอาการไอ จากนั้นพบอาการเด่นคือมีเยื่อบุตาอักเสบ มีอาการคันตา ขี้ตาเหนียว ทำให้ลืมเปลือกตาไม่ขึ้น แต่ไม่ได้เป็นหนอง (เพราะติดเชื้อไวรัสไม่ได้ติดเชื้อแบคทีเรีย) (ซึ่งไม่เคยพบอาการลักษณะนี้ในโอมิครอนสายพันธุ์อื่น


ซึ่งผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งคาดว่าอาจเป็นเพราะการกลายพันธุ์ส่วนหนามที่ช่วยให้ XBB.1.16 สามารถจับกับเซลล์เยื้อบุตาได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่น จนเกิดการติดเชื้อที่เยื่อบุตาร่วมด้วย


ตระหนักเพื่อเท่าทันไวรัสแต่ไม่จำเป็นต้องตระหนก!
แม้จะมีผู้ติดเชื้อโอมิครอน XBB.1.16 เพิ่มขึ้นทั่วโลกแต่จำนวนผู้ที่ต้องเข้ารักษาตัวใน รพ. ทั่วโลกก็มิได้เพิ่มขึ้นตามจนเกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขในแต่ละประเทศจะรองรับได้ อันหมายถึงภูมิคุ้มกันในประชากรโลกทั้งที่ได้รับจากวัคซีนและที่ได้รับจากการติดเชื้อตามธรรมชาติยังสามารถปกป้องเราได้


ทางศูนย์จีโนมฯ เมื่อ "ถอดรหัสพันธุกรรมโควิดทั้งจีโนม" หรือ "วิเคราะห์ข้อมูลจากจีเสส (GISAID)" พบประเด็นสำคัญของโควิด-19 จะประสานงานกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องตลอดเวลาทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรจิตอาสา กรณีโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม "XBB.1.16" ที่พบในประเทศไทย 8 ราย ได้ประสานกับกรมควบคุมโรคเพื่อประโยชน์แห่งการสืบสวนโรคเป็นที่เรียบร้อย


หากดูภาพรวมการระบาดในช่วง 30 วันของโอมิครอนในประเทศไทยโดย Outbreak.info ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลกพบว่า สายพันธุ์หล้กในไทยเป็น
XBB.1.5 ประมาณ 47% รองลงมาคือ
XBB.1.9.1 ประมาณ 27%
XBB.1.16 ประมาณ 13%
XBB.1.5.7 ประมาณ 7% และ
XBB.1.16.1 ประมาณ 7%


หลังสงกรานต์ หลายฝ่ายเกรงกันว่าจะเกิดการระบาดของโควิดติดตามมา อาจพิจารณาดูแลป้องกันคุณพ่อคุณแม่หรือญาติผู้ใหญ๋ที่มีอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง โดยพาท่านไปฉีดวัคซีนโควิด-19 รุ่นใหม่ "ไบวาเลนท์" ชนิดผสมกันระหว่างสายพันธุ์อู่ฮั่นและโอมิครอน เป็นเข็มกระตุ้นโดยไม่มีค่าใช้จ่าย





ที่มา Center for Medical Genomics

ภาพจาก รอยเตอร์






ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง