รีเซต

รัฐบาล เตรียมยื่นอุทธรณ์คดี "ยิ่งลักษณ์" ภายใน 30 วัน

รัฐบาล เตรียมยื่นอุทธรณ์คดี "ยิ่งลักษณ์" ภายใน 30 วัน
TNN ช่อง16
2 เมษายน 2564 ( 18:47 )
117
รัฐบาล เตรียมยื่นอุทธรณ์คดี "ยิ่งลักษณ์" ภายใน 30 วัน

วันนี้ (2 เม.ย. 64) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรณีที่ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าเสียหายคดีทุจริตโครงการจำนำข้าว 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ยึดอายัดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แล้วบางส่วน และอยู่ระหว่างดำเนินการยึดต่อ แต่เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งออกมาเช่นนี้ กระบวนการทุกอย่างก็ต้องหยุดไว้ก่อน


จากนี้รัฐบาลจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ศาลจะมีคำสั่งเช่นเดียวกับกรณีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการคลังรับทราบแล้ว

"เป็นเรื่องธรรมดา ชนะบ้าง แพ้บ้าง ไม่ได้มีปัญหาอะไร ไม่ได้ติดใจอะไร ก็อย่าไปพูดแล้วกันว่าฝ่ายใดชนะ และบอกว่าศาลตัดสินยุติธรรม แต่พอแพ้บอกว่าศาลตัดสินไม่ยุติธรรม ลำเอียงสองมาตรฐาน ปล่อยให้คดีเดินไปให้ถึงที่สุด ซึ่งทรัพย์สินที่ยึดมาแล้วมีแค่หลักสิบไม่ถึงร้อยล้าน นับภาษาอะไรกับ 3.5 หมื่นล้าน" นายวิษณุ กล่าว


นายวิษณุ กล่าวอีกว่า คดียังไม่ถึงที่สุด กระบวนการขายทอดตลาดก็หยุดไว้ก่อน ไม่เช่นนั้นหากคืนไปแล้วชนะจะเอาทรัพย์สินกลับมาอีก จะทำแบบนั้นไม่ได้ ต้องรอผลคดีให้สิ้นสุดก่อน อย่างบ้านของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ซอยโยธินพัฒนาก็อายัดไว้ แต่ไม่ได้ทำอะไร ส่วนผลของคำพิพากษาศาลปกครองจะส่งผลต่อคดีอาญาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินลงโทษจำคุกไปแล้วหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ และเป็นเรื่องแปลกที่คำสั่งศาลปกครองแย้งกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของคดีที่พิพากษาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความผิด มีการละเว้นทำให้เกิดความเสียหาย และต่อมา ป.ป.ช.มีหนังสือแจ้งมายังรัฐบาลให้ยึด อายัดทรัพย์ และเมื่อรัฐบาลได้ยึดทรัพย์ ผู้เสียหายก็ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

ในส่วนของรัฐบาลก็ถือเป็นเรื่องน่าวิตกที่แพ้คดีในชั้นศาลปกครองกลาง แต่คดียังไม่ถึงที่สุดและเรื่องนี้ไม่สามารถนำมากล่าวอ้างได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีความผิด เพราะคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่ตัดสินไปแล้วว่ามีความผิดยังคงอยู่

          

ข่าวที่เกี่ยวข้อง