น้ำท่วม : ชายผู้ออกแบบเมืองในจีนให้เป็น “ฟองน้ำยักษ์” รับมือน้ำท่วม
อวี๋ ข่งเจียน ยังจำเหตุการณ์ตอนที่เขาเกือบจมน้ำที่บ้านเกิดของเขาได้ดี
ตอนนั้นเขาอายุ 10 ขวบ หลังจากฝนตกหนักและน้ำทะลักจากแม่น้ำเข้ามาในที่นาที่หมู่บ้านเขา อยู่ดี ๆ แผ่นดินก็ทรุดลง ร่างเขาถูกพัดไปกับกระแสน้ำท่วม
ยังดีที่ต้นหลิวและต้นกกที่ปลูกริมน้ำช่วยชะลอความเร็วของกระแสน้ำไว้ได้
เขาบอกกับบีบีซีว่า ถ้าตลิ่งริมแม่น้ำถูกทำให้ราบเรียบด้วยคอนกรีตเหมือนปัจจุบัน เขาคงจมน้ำตายไปแล้ว
ประสบการณ์ครั้งนั้นส่งผลต่อตัวเขาอย่างมากและก็นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายเมืองของจีนด้วย
อวี๋ ข่งเจียน กลายมาเป็นนักออกแบบชุมชนเมืองคนสำคัญของจีน และเป็นคณบดีคณะสถาปัตยกรรมอันโด่งดังของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เขาเป็นนักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังแนวคิดการจัดการน้ำท่วมที่นำไปใช้ในหลายสิบเมืองของจีน
เขาเชื่อว่าการเปลี่ยนเมืองให้กลายเป็น "เมืองฟองน้ำ" จะช่วยให้สามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงที่มีความเชื่อมโยงกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
"อย่าสู้กับน้ำ"
ความคิดหลักของ ศ.อวี๋ คือให้เราโอบรับน้ำแทนที่จะไปรู้สึกเกรงกลัวมัน
วิธีการจัดการน้ำแบบปกติประกอบไปด้วยการสร้างท่อหรือที่ระบายเพื่อถ่ายน้ำออกไปให้เร็วที่สุด หรือไม่ก็เสริมความแข็งแกร่งของริมฝั่งแม่น้ำด้วยคอนกรีตเพื่อให้น้ำไม่ทะลักออกมา
แต่เมืองฟองน้ำเป็นการใช้วิธีตรงกันข้ามโดยใช้แบ่งกระบวนการออกเป็นสามขั้นตอนด้วยกัน
หนึ่ง สร้างบ่อน้ำหลายจุดเพื่อให้บริเวณต้นน้ำเหมือนมีฟองน้ำที่คอยดูดซับน้ำเอาไว้
สอง แทนที่จะระบายน้ำเป็นเส้นตรงให้เร็วที่สุด ให้สร้างคลองหรือแม่น้ำระบายน้ำที่คดเคี้ยว และปลูกพืชริมชายฝั่งเพื่อช่วยลดความเร็วของกระแสน้ำ เหมือนกับตอนที่เขารอดชีวิตมาได้เมื่อตอนเด็ก
ขั้นตอนนี้ยังทำให้เกิดผลพลอยได้คือทำให้เกิดพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ และที่อยู่อาศัยของสัตว์เพิ่มขึ้น
สาม พาน้ำไปปล่อยที่ปลายทางซึ่งอาจจะเป็นแม่น้ำ ทะเลสาบ หรือทะเล โดย ศ.อวี๋แนะนำให้กันพื้นที่ลุ่มเหล่านี้ไว้สำหรับรองรับน้ำ ไม่ควรสร้างสิ่งก่อสร้างบริเวณดังกล่าว เพราะว่า "คุณไม่สามารถสู้กับน้ำได้ คุณต้องปล่อยมันไป"
ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเพื่อความยั่งยืน ดร.นีร์มาล คิชนานี จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ บอกว่า แม้มีการนำวิธีคิดที่คล้ายกันไปปรับใช้กับที่อื่น แต่เมืองฟองน้ำโดดเด่นตรงที่การให้กระบวนการตามธรรมชาติเป็นตัวแก้ปัญหาในเมืองนั้น ๆ
ศ.อวี๋ ได้แรงบันดาลใจหลายอย่างจากเทคนิคการทำไร่แบบโบราณ อาทิ การกักเก็บน้ำฝนในบ่อน้ำ ที่บ้านเกิดของเขาที่มณฑลเจ้อเจียงซึ่งอยู่ริมชายฝั่งทางตะวันออกของจีน ไอเดียเหล่านี้ทำให้บริษัทภูมิสถาปัตย์ Turenscape ของ ศ.อวี๋ ชนะมาหลายรางวัลแล้ว
"ไม่มีใครจมน้ำ แม้จะในหน้ามรสุม เราใช้ชีวิตอยู่กับน้ำ เราปรับตัวเข้ากับน้ำเวลาเกิดน้ำท่วม" ศ.อวี๋ เล่า
เขาเดินทางออกจากบ้านเกิดไปกรุงปักกิ่งตอนอายุ 17 ปี และเข้าเรียนด้านภูมิสถาปัตย์ในเวลาต่อมา ก่อนที่จะไปเรียนด้านการออกแบบที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด
เมื่อเขาเดินทางกลับบ้านเกิดในปี 1997 จีนกำลังอยู่ในยุคที่ผู้คนเร่งสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ กันอย่างบ้าคลั่ง เขาเริ่มพยายามชักนำให้คนกลับมาใช้ปรัชญาออกแบบที่อิงแนวคิดดั้งเดิมของจีน เพราะไม่ชอบสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ที่ "ทึมเทาและไร้ชีวิตชีวา"
ศ.อวี๋ บอกว่า เทคนิคด้านการออกแบบเมืองที่พัฒนาก้าวหน้าในประเทศยุโรปไม่สามารถปรับมาใช้กับเมืองในภูมิภาคนี้ที่ต้องเจอกับภูมิอากาศแบบมรสุม
นอกจากเขาจะวิพากษ์วิจารณ์ "เขื่อนสามผา" (ซานเสียต้าป้า - Three Gorges Dam) ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของจีนแล้ว การที่เขาเรียนจบและได้รับเสียงชื่นชมจากประเทศตะวันตกทำให้เขาโดนกล่าวหาว่าเป็นคนไม่รักชาติ เป็น "สายลับของชาติตะวันตก"
"ผมไม่ใช่ชาวตะวันตก ผมเป็นนักอนุรักษนิยมแบบจีน" ศ.อวี๋ กล่าวพร้อมกับหัวเราะออกมา เขาบอกว่าชาวจีนมีประสบกาณ์ด้านนี้มาเป็นพัน ๆ ปี และพวกเขาต้องแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการแบบจีน
แต่แล้วเขาก็เอาชนะใจทางการได้สำเร็จ ในปี 2015 หลังจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ออกมาให้การสนับสนุนแนวคิดนี้ รัฐบาลจีนประกาศริเริ่มโครงการมูลค่าหลายล้านหยวนที่ตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 จะทำให้ 80% ของพื้นที่เทศบาลในจีนมีองค์ประกอบของเมืองฟองน้ำ และนำน้ำฝนกลับมาใช้ให้ได้ 70%
แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่าเมืองฟองน้ำอาจรับมือได้แค่พายุฝนที่ไม่รุนแรงมากเท่านั้น ขณะที่สภาพอากาศทั่วโลกกำลังรุนแรงขึ้นอย่างสุดขั้ว
เฟธ ชาง ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำท่วมจากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม หนิงโป ในจีน บอกว่า ต้องใช้โครงสร้างอย่างท่อและถังเก็บน้ำในการช่วยระบายน้ำควบคู่ไปด้วย
นอกจากนี้ เขาบอกว่าในเมืองที่มีผู้คนแออัดและที่ดินมีราคาสูง การจะหาพื้นที่ในการทำตามแนวคิดเมืองฟองน้ำก็อาจไม่ใช่เรื่องง่าย
แม้จีนจะลงเงินไปหลายล้านหยวน แต่ก็ยังเจอกับวิกฤตน้ำท่วมหนักอยู่
สหประชาชาติประเมินว่า น้ำท่วมหลายระลอกในช่วงฤดูร้อนที่แล้ว ทำให้ผู้คนในจีนเสียชีวิตไปเกือบ 400 ราย ส่งผลกระทบต่อคน 14.3 ล้านคน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 2.18 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่ ศ.อวี๋ ยืนยันว่าภูมิปัญญาแบบจีนไม่ผิดและใช้ได้ผลแน่นอน เขายกตัวอย่างเหตุน้ำท่วมหนักที่เมืองเจิ้งโจวในมณฑลเหอหนานเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาว่าเป็นเพราะบ่อน้ำในเมืองถูกถมไปและที่ต้นน้ำก็ไม่มีช่องทางให้ระบายน้ำมากพอเมื่อฝนเริ่มตก
นอกจากนี้ เขาบอกว่าช่องทางระบายน้ำจากแม่น้ำที่เป็นคอนกรีตทำให้น้ำไหลเร็ว และเมืองก็ดันไปสร้างสถานที่สำคัญ ๆ อย่างโรงพยาบาลบริเวณที่ลุ่มน้ำด้วย
ศ.อวี๋ เสริมว่า นอกจากจีนแล้ว ประเทศที่เสี่ยงน้ำท่วมอย่างบังกลาเทศ มาเลยเซีย อินโดนีเซีย ก็สามารถนำแนวคิดนี้ไปใช้ได้ และประเทศอย่างสิงคโปร์ สหรัฐฯ และรัสเซีย ก็ได้เริ่มโครงการที่มีแนวคิดคล้ายกันแล้ว
เขาบอกว่า หากทำตามแนวคิดนี้อย่างถูกต้อง เมืองต่าง ๆ จะใช้ทุนในการสร้างเพียง 1 ใน 4 ของเงินที่ใช้ลงไปกับวิธีรับมือน้ำท่วมที่ทำกันอยู่ เขายกตัวอย่างว่า การปลูกสิ่งก่อสร้างบนที่สูงและกันพื้นที่ลุ่มน้ำไว้ให้น้ำท่วม ใช้ต้นทุนต่ำกว่าการไปสร้างระบบท่อและถังกักเก็บน้ำเสียอีก
ศ.อวี๋ บอกว่า บริษัทของเขากำลังตั้งเป้าแก้ไขโครงสร้างในการจัดการกับน้ำท่วมของเมืองต่าง ๆ ที่ลงเงินกันไปหลายล้าน ทั้งที่จริง ๆ แล้วสามารถประหยัดงบประมาณก้อนโตนั้นได้หากออกแบบให้เมืองเป็นเมืองฟองน้ำตั้งแต่แรก
เขาบอกว่าการใช้โครงสร้างคอนกรีตจัดการกับปัญหาน้ำท่วมเป็นเหมือนการ "กินยาพิษเพื่อดับกระหายน้ำ ...เราต้องเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตขอเราเพื่อปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศ หากพวกเขาไม่ทำตามวิธีของผม พวกเขาจะต้องล้มเหลว"