รีเซต

เปิดรายละเอียดภาษีรถยนต์ใหม่ทุกประเภท ครบจบในที่เดียว หนุนรถอีวีเต็มสูบ!!

เปิดรายละเอียดภาษีรถยนต์ใหม่ทุกประเภท ครบจบในที่เดียว หนุนรถอีวีเต็มสูบ!!
มติชน
23 กุมภาพันธ์ 2565 ( 14:56 )
265

หลังจากที่ผลการประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบพิจารณามาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) และในการประชุมครม. เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 กระทรวงการคลัง โดย กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิต ได้เสนอให้พิจารณามาตรการภาษีศุลกากรและภาษีสรรพสามิต และเพื่อเป็นการส่งเสริมนโยบายอีวีเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งตอบสนองนโยบายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการใช้รถสันดาปภายใน หรือรถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง

 

กรมสรรพสามิตได้เสนอปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จากโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ปัจจุบัน แบ่งประเภทตามน้ำมันเชื้อเพลิง คือ แก๊สโซฮอล์ E10 (แก๊สโซฮอล์ 95 และ แก๊สโซฮอล์ 91) E20 E85 น้ำมันดีเซล B20 และก๊าซ NGV โดยการสนับสนุนภาษี สำหรับน้ำมัน E85 จะสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ส่วนการแบ่งประเภทรถยนต์อีโค่ (Eco car) เฟส 1 จะสิ้นสุดวันที่ 31ธันวาคม 2566 ส่วนเฟส 2 จะสิ้นสุด เดือนธันวาคม 2568

 

ในขณะที่ โครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่จะมีการปรับลดเกณฑ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพื่อส่งเสริมให้รถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน รถยนต์กระบะ และรถจักรยานยนต์ มีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และประหยัดพลังงานเพิ่มมากขึ้น โดยยกเลิกการแบ่งรถยนต์ตามโครงสร้างเดิม ทั้งการแบ่งตามน้ำมันเชื้อเพลิง และแบ่งตามประเภทรถอีโค่ คาร์ ยกเว้น รถที่ใช้น้ำมันดีเซล B20 จะยังแยกออกมา โดยกำหนดอัตราภาษีที่จูงใจ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ใช้ต่อไป

 

การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (HEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) ให้มีความแตกต่างกัน เนื่องจากปัจจุบันไม่มีการแยกประเภที่ชัดเจน โดยจัดรวมกันอยู่ภายใต้รถอีโค่ คาร์ และเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้นของ PHEV และการพัฒนาไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ซึ่งมีการพิจารณาถึงสมรรถนะของเทคโนโลยี PHEV ในเรื่องระยะทางการวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Range : ER) โดยสามารถวิ่งได้ไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และขนาดถังบรรจุน้ำมัน เพื่อลดการใช้พลังงานจากน้ำมัน

 

โดยจะทยอยปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภทสันดาปภายใน , HEV และ PHEV ให้เหมาะสม โดยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได 3 ช่วง ได้แก่ ปี 2569 , 2571 และ 2573 ตามลำดับ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท BEV จากอัตรา 8% เหลืออัตรา 2% เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และสร้างแรงจูงใจในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ

 

การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของรถยนต์กระบะ และอนุพันธ์ของรถยนต์กระบะ (Product Champion) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตต่อไป โดยคำนึงถึงการลดการปล่อย CO2 และสนับสนุนพลังงานเชื้อเพลิงทดแทน ไบโอดีเซล (Biodiesel) และส่งเสริมให้เกิดการใช้และผลิตรถยนต์กระบะไฟฟ้า (BEV) ในประเทศโดยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต 0% เป็นการชั่วคราวจนถึงปี 2568 นอกจากนี้ยังยกเลิกการกำหนดมาตรฐาน PM 0.005 ที่ใช้ในอัตราภาษีรถกระบะเดิม เนื่องจากมีมาตรฐาน Euro 5 หรือมาตรฐานควบคุมการปล่อยมลภาวะของรถยนต์ใหม่ที่ถูกกำหนดขึ้นมาในประเทศกลุ่มยุโรป (Euro emissions standards)ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2567 แล้ว

 

ในขณะเดียวกัน ในการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ทุกประเภทต่อไปนี้ จะสนับสนุนมาตรฐานด้านความปลอดภัย โดยให้มีการติดตั้งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ หรือ Advanced Driver – Assistance Systems (ADAS) มาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ต้องมีการติดตั้งระบบ ADAS อย่างน้อย 2 ระบบจาก 6 ระบบ ยกเว้น BEV ต้องมีอย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ และรถยนต์กระบะ ต้องมีการติดตั้งระบบ ADAS อย่างน้อย 1 ระบบจาก 6 ระบบ ยกเว้น BEV ต้องมีอย่างน้อย 2 จาก 6 ระบบ

 

ทั้งนี้ระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ หรือ Advanced Driver – Assistance Systems (ADAS) 6 ระบบ ได้แก่
1. ระบบเบรกฉุกเฉินขั้นสูง Advanced emergency braking system (AEB)
2. ระบบเตือนการชนด้านหน้าของรถ Forward vehicle collision warning systems (FCW)
3. ระบบการดูแลภายในช่องจราจร Lane keeping assistance systems (LKAS)
4. ระบบเตือนการออกหรือเปลี่ยนช่องจราจร Lane departure warning system (LDW)
5. การตรวจจับจุดบอด Blind Spot Detection (BSD) และ
6. ระบบการควบคุมความเร็วของยานยนต์ Adaptive cruise control (ACC)

 

นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตได้มีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ เพื่อส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและสร้างแรงจูงใจในการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยการทยอยปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ประเภทพลังงานเชื้อเพลิงให้เหมาะสมแบบขั้นบันได 2 ช่วง ได้แก่ ปี 2569 และ 2573 ตามลำดับ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิอัตราภาษีสรรพสามิต 1% จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด ดังนี้

 

1. ต้องใช้แบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออนที่มีแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ 48 โวลต์ขึ้นไป
2. ต้องมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป หรือวิ่งได้ระยะทางตั้งแต่ 75 กิโลเมตรขึ้นไปต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง โดยผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน World Motorcycle Test Cycle (WMTC)
3. ต้องใช้ยางล้อที่ผ่านการทดสอบตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ยางล้อแบบสูบลมสำหรับรถจักรยานยนต์และโมเปด มาตรฐานเลขที่ มอก. 2720-2560 หรือที่สูงกว่า หรือ UN Regulation No.75 หรือที่สูงกว่า
4. ต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมยานยนต์ประเภท L: คุณลักษณะเฉพาะสำหรับระบบส่งกำลังด้วยไฟฟ้า มาตรฐานเลขที่ มอก. 2952-2561 หรือ UN Regulation No.136 หรือที่สูงกว่า หรือเอกสารรับรองการผ่านมาตรฐานนี้ตามประกาศกรมการขนส่งทาง

 

ด้านกรมศุลกากรได้ดำเนิน มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และเพื่อส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ได้แก่ ส่วนที่ 1 การเสนอร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป (CBU) ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับการนำเข้ารถยนต์ประเภท รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) สำเร็จรูปทั้งคัน ดังนี้

 

กรณี ราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท
-การนำเข้าทั่วไปลดอัตราอากรจากเดิม 80% เหลือ 40%
-ใช้สิทธิตามความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) หากอัตราอากรไม่เกิน 40% ให้ได้รับการยกเว้นอากร
-ใช้สิทธิ FTA หากอัตราอากรเกิน 40% ให้ลดอัตราอากรอีก 40%

 

กรณีราคาขายปลีกแนะนำมากกว่า 2 – 7 ล้านบาท
-การนำเข้าทั่วไปลดอัตราอากรจากเดิม 80% เหลือ 60%
-ใช้สิทธิ FTA หากอัตราอากรไม่เกิน 20% ให้ได้รับการยกเว้นอากร
-ใช้สิทธิ FTA หากอัตราอากรเกิน 20% ให้ลดอัตราอากรอีก 20%

 

ส่วนที่ 2 การดำเนินการศึกษาและพิจารณามาตรการส่งเสริมการผลิตหรือประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาร่างประกาศกระทรวงการคลัง อันมีสาระสำคัญ ดังนี้

 

1.การยกเว้นอากรชิ้นส่วนและส่วนประกอบของยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ แบตเตอรี่, มอเตอร์ขับเคลื่อน (Traction Motor), คอมเพรสเซอร์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่, ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS), ระบบควบคุมการขับขี่ (DCU), ระบบประจุไฟฟ้า (On-Board Charger), พีซียู อินเวอร์เตอร์ (PCU inverter), อุปกรณ์แปลงสัญญาณ (DC/DC Converter) และ เกียร์ทดรอบ (Reduction Gear) รวมทั้งส่วนประกอบของชิ้นส่วนดังกล่าว

 

2. การผลิตหรือประกอบยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี ให้มีการนับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่จากต่างประเทศเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศสำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่มในประเทศได้ไม่เกิน 15% ของราคายานยนต์ไฟฟ้า (BEV)

 

ทั้งนี้ กรมศุลกากร ได้ร่างประกาศการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าตามที่ครม.อนุมัติเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างตรวจความถูกต้อง และส่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง