รีเซต

"หมอเฉลิมชัย" เผย "โอไมครอน" อาจทำให้โควิด-19 ยุติการระบาดต่อมนุษยชาติ

"หมอเฉลิมชัย" เผย "โอไมครอน" อาจทำให้โควิด-19 ยุติการระบาดต่อมนุษยชาติ
TNN ช่อง16
5 ธันวาคม 2564 ( 12:08 )
96
"หมอเฉลิมชัย" เผย "โอไมครอน" อาจทำให้โควิด-19 ยุติการระบาดต่อมนุษยชาติ

วันนี้ (5 ธ.ค.64) นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่าน blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ "โอไมครอน" (Omicron) อาจทำให้โรคโควิด-19 ยุติการระบาดต่อมนุษยชาติได้ ในมุมมองที่ดีที่สุด

โดย นพ.เฉลิมชัย อธิบายว่า เนื่องจากไวรัสโคโรนาลำดับที่ 7 ที่ก่อโรคโควิด-19 เป็นไวรัสสารพันธุกรรมเดี่ยวที่เรียกว่าอาร์เอ็นเอ (RNA) จึงมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมา กลายพันธุ์ไปแล้ว กว่า 1,000 สายพันธุ์หลักและสายพันธุ์ย่อย

แต่มีสายพันธุ์ที่คนรู้จักอยู่ประมาณ 10 สายพันธุ์ เพราะจะต้องมีลักษณะที่ทั้งแพร่ระบาดรวดเร็วกว้างขวาง และสร้างการเจ็บป่วยที่มีอาการมาก หรือดื้อต่อวัคซีน แต่จะมีไวรัสจำนวนมาก ที่แพร่ระบาดไม่รวดเร็วกว้างขวาง ก็จะไม่ได้รับความสนใจจากมนุษย์

ขณะเดียวกันไวรัสที่ก่ออาการรุนแรง แต่ไม่ได้แพร่ระบาดรวดเร็วกว้างขวาง ก็จะไม่มีความสำคัญกับมนุษยชาติเช่นกัน

การพิจารณาลักษณะเด่นของไวรัสสามประการ จะทำให้สามารถคาดการณ์การกลายพันธุ์ของไวรัสได้ว่า จะมีผลกระทบกับมนุษยชาติอย่างไรบ้าง

1) ความสามารถในการแพร่ระบาด (Transmissibility) ว่ารวดเร็ว กว้างขวางมากเพียงใด

2) การก่อโรคที่สร้างอาการรุนแรงในมนุษย์ (Severity of Disease)

3) การดื้อต่อวัคซีน (Effectiveness of Vaccine)


ในฉากทัศน์ (Scenario)ที่ดีที่สุดสำหรับมนุษยชาติ ก็คือ ไวรัสจะต้องมีการแพร่ที่รวดเร็วกว้างขวางมากในประเด็นที่หนึ่ง ต้องรวดเร็วกว้างขวางมากเพียงพอที่จะครอบคลุมทุกสายพันธุ์ จนเหลือเป็นสายพันธุ์เดียว และต้องโชคดี ไวรัสไม่ก่อให้เกิดอาการเลย เป็นการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ

ส่วนประเด็นดื้อแต่วัคซีนหรือไม่ ก็จะไม่มีความสำคัญหรือจำเป็น ถ้าไวรัสโอไมครอนมีประเด็นที่หนึ่งคือแพร่ระบาดกว้างขวางครอบคลุมทั้งโลก และมีประเด็นที่สองคือไม่รุนแรงไม่มีอาการ ประเด็นที่สามเรื่องดื้อแต่วัคซีนก็จะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

เมื่อไวรัสโอไมครอนระบาดจนแซงเดลต้าสำเร็จแล้ว แต่ตัวเองไม่มีความรุนแรงไม่ก่อให้เกิดอาการ โควิด-19 ก็จะยุติลงโดยสมบูรณ์ ส่วนถ้าเป็นกรณีอื่น ก็จะมีความรุนแรงผลกระทบต่อมนุษยชาติแตกต่างกันออกไป

แม้ไวรัสโอไมครอนจะไม่เป็นไปในทางดีที่สุด แต่ในอนาคตก็อาจจะมีไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง ที่มีลักษณะดังกล่าว โควิด-19 ก็จะยุติลงได้ โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องวัคซีนหรือภูมิคุ้มกันหมู่แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม การเร่งวิจัยพัฒนาวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หรือการที่มีการติดเชื้อมากพอจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ก็ยังเป็นอีกหนึ่งฉากทัศน์ที่จะทำให้โรคระบาดโควิด-19 ยุติลงได้เช่นกัน

ต้องลุ้นและติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดกันต่อไปว่า โควิด-19 จะยุติลงด้วยฉากทัศน์แบบใด ระหว่าง "ไวรัสกลายพันธุ์แพ้ภัยตนเองจนไม่ก่อโรค" หรือ "มนุษยชาติวิจัยพัฒนาวัคซีนจนป้องกันได้สำเร็จ" หรือ "ไวรัสระบาดมาก จนมนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันหมู่สำเร็จ" เป็นการมองด้วยความรู้ทางวิชาการ


ข้อมูลจาก ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย

ภาพจาก AFP 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง